คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สถานประกอบการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4369/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และควบคุมกิจการเทปฯ โดยผู้ดูแลร้านไม่ใช่ผู้จัดการสถานประกอบการ
บทบัญญัติมาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติเป็นความผิดโดยเฉพาะสำหรับเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ เป็นเพียงผู้ดูแลคอมพิวเตอร์และดูแลร้านที่เกิดเหตุโดยร้านที่เกิดเหตุมีนาย ส. เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ใบอนุญาตขาดอายุแล้ว แสดงให้เห็นว่า ร้านที่เกิดเหตุมีผู้อื่นดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อยู่แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแยกยื่นภาษีของสำนักงานสาขา และการหักภาษีซื้อข้ามสถานประกอบการ
โจทก์มีสำนักงานสาขาแยกต่างหากจากสำนักงานใหญ่ ถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการหลายแห่ง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีของสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขารวมกันโดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.รัษฎากร มาตรา 83 วรรคสี่ เมื่อโจทก์ได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) เฉพาะของสำนักงานใหญ่ แบบแสดงรายการภาษีที่ยื่นจึงเป็นแบบแสดงรายการภาษีเฉพาะของสำนักงานใหญ่ การที่โจทก์นำภาษีซื้อของสำนักงานสาขามาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานใหญ่โดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงไม่ชอบ
แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า การที่อธิบดีกรมสรรพากรไม่อนุมัติให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันไม่ชอบ แต่โจทก์ก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติดังกล่าว คำสั่งไม่อนุมัติดังกล่าวจะชอบหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นในคดีนี้ แม้ศาลภาษีอากรกลางจะรับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามมาตรา 88 (2) แห่ง ป.รัษฎากร ประเมินภาษีโจทก์ ดังนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88 (1) แห่งป.รัษฎากรหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นในคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครดิตภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าคงเหลือ สถานประกอบการหลายแห่ง การยื่นคำขอรวม
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 14 และมาตรา 77 ซึ่งหากผู้ต้องเสียภาษีไม่ยื่นเสียภาษีหรือเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินเมื่อ ตรวจสอบพบแล้วจะทำการประเมินภาษีแล้วแจ้งจำนวนภาษีที่จะต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18เมื่อรับแจ้งแล้วผู้ต้องเสียภาษียังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และต่อศาลต่อไปตามลำดับได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ก่อนทำการประเมินและแจ้งไปยังผู้ต้องเสียภาษี ยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ต้องเสียภาษีเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอนเมื่อยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอน ผู้ต้องเสียภาษีจึงยังไม่อาจที่จะตกลงสละสิทธิหรือประนีประนอมยอมความในหนี้ภาษีนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ได้ ฉะนั้นข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงที่โจทก์ได้ทำไว้ก่อนมีการประเมินภาษีดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับในข้อนี้ ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวยอมรับการอุทธรณ์รวมทั้งวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ ซึ่งหากจำเลยที่ 1เห็นว่าบันทึกข้อตกลงของโจทก์เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรระงับและโจทก์มีความผูกพันต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อต่อสู้และตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งการประเมินภาษีไปยังโจทก์ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับอุทธรณ์การประเมินและวินิจฉัยอุทธรณ์ให้อีก กรณียังฟังไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลง ของโจทก์เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้การเรียกร้องหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องจากโจทก์ระงับ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(20) และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534มาตรา 18 วรรคหนึ่งและวรรคสี่นั้น แม้สถานที่เก็บสินค้าจะถือว่าเป็นสถานที่ประกอบกิจการซึ่งในกรณีปกติจะต้องยื่นคำขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือเป็นรายสถานประกอบการก็ดี แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันแล้ว ในการขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นคำขอเครดิตรวมกัน คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันแล้ว และโจทก์ก็ได้ยื่นคำขอเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือที่สำนักงานใหญ่ที่สาขาและที่เก็บสินค้ารวมกันแล้ว นอกจากนี้ยังปรากฏว่าอธิบดีของจำเลยที่ 1 เห็นชอบในกรณีนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าเลขที่ 9/2 หมู่ที่ 6 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางโฉลงอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเลขที่ 19-23 ซอยพิชิตถนนมหาไชยแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้วย ในบัญชีระบุพยานโจทก์อ้างระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแสดงแบบรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2535ลงวันที่ 6 มกราคม 2535 และระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 22 กันยายน 2536 เป็นพยานแต่ศาลภาษีอากรกลางมิได้นำเอกสารดังกล่าวมาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีจากการแยกสัญญาซื้อขายและจ้างทำของ สัญญาต่างประเทศ สถานประกอบการถาวร
แม้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับโจทก์จะได้ลงนามในสัญญาซึ่งทำไว้แต่เพียงฉบับเดียว และในสัญญาจะระบุจำนวนเงินที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องชำระแก่โจทก์ไว้เพียงจำนวนเดียว ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจ้างโจทก์ทำของ คือก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์โดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระไม่ เพราะนิติกรรมสองฝ่ายหรือสัญญานั้นเกิดขึ้นได้จากการกระทำด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาด้วยคำเสนอ อีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาด้วยคำสนองรับที่ถูกต้องตรงกัน ดังนั้น หากคู่สัญญาแสดงเจตนาทำเอกเทศสัญญาสองลักษณะต่างกัน แม้จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ย่อมกระทำได้ ไม่มีกฎหมายห้าม คดีนี้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจตนาทำสัญญากับโจทก์ 2 ลักษณะเอกเทศสัญญา คือ สัญญาซื้อขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ กับสัญญาจ้างทำของ ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์ ดังที่มีข้อความระบุไว้ใน ManagementProposal Section 1 Contract 2 Agreement for Sale,Installationand Construction (สัญญาซื้อขาย ติดตั้ง และก่อสร้าง) ตามเอกสารหมาย จ.6หน้า 120 ว่า " บันทึกและตกลงข้อเสนอของเบลส์ (โจทก์) ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าการจัดหาเครื่องมือและวัตถุดิบและการบริการติดตั้งจะเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากกันในสัญญาระหว่าง TOT (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) กับเบลส์ นอกจากนี้ใน Record of Negotiation นั้น Summary of Cost ตามเอกสารหมายจ.2 หน้า 209 ยังได้แบ่งมูลค่าของสัญญาออกเป็น Main Stems และ OptionalStems โดยแยกรายละเอียดลงไว้เป็นแต่ละรายการด้วยว่าค่าอะไร จำนวนเท่าใดต้องจ่ายด้วยเงินตราสกุลใดไว้ด้วย เอกสารหมาย จ.2 และ จ.6 นี้ เป็นเอกสารที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ข้อ โอ และข้อ ไอ ซึ่งข้อ 1 ของสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ระบุว่า เป็นเอกสารประกอบสัญญาที่ก่อให้เกิดและเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ฉะนั้นจึงต้องตีความเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาจากถ้อยคำสำนวนที่ได้เขียนลงไว้ในเอกสารประกอบสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ให้เป็นผลบังคับได้ว่าโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเจตนาทำสัญญาซื้อขาย คือขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ กับสัญญาจ้างทำของ คือก่อสร้าง ติดตั้งเครือข่ายชุมทางโทรศัพท์ แยกต่างหากจากกันเป็น 2 ลักษณะเอกเทศสัญญา และแยกราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายออกต่างหากจากสินจ้าง หาใช่คู่สัญญาเจตนาทำสัญญาจ้างทำของโดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระไม่
ขณะโจทก์ทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้นโจทก์ยังไม่มีสถานธุรกิจประจำซึ่งโจทก์ใช้ประกอบธุรกิจการขายตั้งอยู่ในประเทศไทยจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยในขณะทำสัญญาขายเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าสัญญาจ้างทำของ คือก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุมทางโทรศัพท์ เป็นโครงการที่โจทก์ต้องเข้ามาดำเนินการมีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน จึงถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5.2 (ซ) แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนนั้น ความตกลงในข้อดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า กรณีที่โจทก์ไม่มีสถานประกอบการถาวรตามความตกลงข้อ 5.1 แต่มีสถานที่ตั้งโครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบดำรงอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 6 เดือน ก็ให้ถือว่าโจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยสำหรับธุรกิจตามสัญญาจ้างทำของนั้นเท่านั้น หาได้มีความหมายว่า สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยดังกล่าวเป็นสถานประกอบการถาวรของโจทก์สำหรับธุรกิจตามสัญญาซื้อขาย เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ไปด้วยไม่ ฉะนั้นกำไรจากธุรกิจการขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ผู้ขายอยู่ต่างประเทศซื้อขายกันในราคา ซี.ไอ.เอฟ. ผู้ซื้อส่งเงินไปชำระแก่ผู้ขาย ณต่างประเทศและรับผิดชำระอากรขาเข้าเอง อันเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาจ้างทำของ จึงถือไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย โจทก์เป็นวิสาหกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเบลเยี่ยมจึงอยู่ภายใต้อำนาจการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายของประเทศเบลเยี่ยม ตามบังคับข้อ 7.1 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยม เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3 เมื่อปรากฏว่า รายรับจำนวน 41,026,412.58 บาท ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาเป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ในอัตราร้อยละ 5ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) นั้น โจทก์อ้างว่าเป็นรายรับค่าขายเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ จำนวน 32,473,226.58 บาท ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งไปชำระแก่โจทก์ที่สำนักงานใหญ่ประเทศเบลเยี่ยมโดยตรง ส่วนอีกจำนวน 8,553,186 บาท นั้น โจทก์อ้างว่าเป็นค่าก่อสร้าง ค่าขนส่งและค่าอากรขาเข้า แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่เชื่อข้ออ้างของโจทก์เฉพาะเงินจำนวนหลัง เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ ดังนี้จึงฟังได้ว่าเงินรายรับจำนวน32,473,226.58 บาท เป็นรายรับตามสัญญาซื้อขาย เจ้าพนักงานประเมินจึงนำมารวมเป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ไม่ได้ เพราะไม่ใช่กำไรจากกิจการที่โจทก์ได้รับผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เจ้าพนักงานประเมินคงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของเงินจำนวน 8,553,186 บาท อันเป็นเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทำของซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีค่าขนส่งและค่าอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยเท่านั้น คำนวณแล้วเป็นค่าภาษีจำนวน 427,659.30 บาท เมื่อหักค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 410,264.17 บาทออกให้แล้ว โจทก์คงต้องรับผิดในค่าภาษีรายการนี้เพียงจำนวน 17,395.13 บาทส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และปี 2527 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากยอดรายรับ จำนวน 149,023,234.30 บาทและ 272,231,011.52 บาท นั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่ามีรายรับของสัญญาซื้อขายรวมอยู่ด้วย จึงต้องฟังว่าเป็นรายรับของสัญญาจ้างทำของซึ่งโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 ตามป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) จึงชอบแล้ว
ภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 นั้น เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินจากฐานเงินได้ 41,026,412.58 บาท ซึ่งรวมเอารายรับตามสัญญาซื้อขายจำนวน32,473,226.58 บาท ที่ได้รับยกเว้นภาษีเข้าไปด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ต้องประเมินจากยอดรายรับตามสัญญาจ้างทำของจำนวน 8,553,186 บาท เท่านั้นคำนวณแล้วเป็นค่าภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 เพียงจำนวน 106,908.16 บาท ส่วนภาษีเงินได้ที่โจทก์จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และปี 2527นั้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่า ยอดรายรับในปีดังกล่าวมีรายรับตามสัญญาซื้อขายรวมอยู่ด้วย การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว
การที่ลูกจ้างของโจทก์ที่เป็นชาวเบลเยี่ยมเข้ามาทำงานในประเทศไทยถูกสำนักงานใหญ่หักภาษีเงินได้ไว้เพื่อเสียภาษีตามกฎหมายประเทศเบลเยี่ยมแล้ว ยังถูกสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยหักภาษีเงินได้ไว้ณ ที่จ่าย และนำส่งแก่เจ้าพนักงานของจำเลยอีก สถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงให้ลูกจ้างยืมเงินตามจำนวนดังกล่าวไปชำระก่อนแล้วจึงนำไปหักกลบกับเงินที่สำนักงานใหญ่ได้หักไว้เป็นค่าภาษีตามกฎหมายประเทศเบลเยี่ยมกรณีจึงหาใช่โจทก์ออกเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ลูกจ้างไม่
โจทก์ประกอบการค้ารับจ้างทำของโดยมีรายรับในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 สำหรับเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2525 จำนวนเพียง8,553,186 บาท แต่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าไว้ จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับค่าภาษีการค้า 2 เท่า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (2) กับค่าปรับภาษีบำรุงเทศบาลด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9772/2539 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแยกยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มรายสถานประกอบการ และการประเมินภาษีเมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83 วรรคสี่, 87 และ 86 วรรคหนึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้แยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งยังต้องการที่จะควบคุมและตรวจสอบได้โดยสะดวก จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานภาษีขายรายงานภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบเฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้า เป็นรายสถานประกอบการ โดยต้องลงรายการในรายงานภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้มาหรือจำหน่ายออกไปซึ่งสินค้า เมื่อสถานประกอบการอยู่ต่างกัน ใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าจึงต้องแยกออกเป็นรายสถานประกอบการฉะนั้น ใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าย่อมจะต้องแยกเป็นของแต่ละสถานประกอบการเช่นเดียวกัน จะนำมาปะปนกันเพื่อใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหาได้ไม่ เพราะจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อของแต่ละสถานประกอบการในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป
สถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 63, 66, 70, 73, 76, 80, 84, 86 ประกอบบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 64, 67, 71, 74, 77, 81, 83, 87โดยใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มระบุที่อยู่ของสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้นใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/10 (1) ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 62,65, 69, 72, 75, 79, 82 และ 85 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษี อันเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการแห่งใหญ่ของโจทก์ ตามที่ป.รัษฎากร มาตรา 86/14 และมาตรา 77/1 (18) (ก) บัญญัติไว้แม้สถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่และสถานประกอบการสาขาของโจทก์จะเป็นสถานประกอบการของนิติบุคคลเดียวกัน แต่เมื่อมีการจดทะเบียนเป็นหลายสถานประกอบการแล้ว ย่อมแยกการซื้อการขาย การนำเข้า การส่งออกการให้บริการ ออกเป็นของแต่ละสถานประกอบการได้ โจทก์จึงต้องนำไปคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ตั้งอยู่ กับต้องนำไปลงรายการในรายงานภาษีซื้อของสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 87 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม บัญญัติไว้ฉะนั้น โจทก์จึงนำใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 62, 65, 69,72, 75, 79, 82 และ 85 ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีอันเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสาขาของโจทก์ไม่ได้ เพราะเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไว้แล้วเมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบจึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีของสถานประกอบการสาขาโดยแสดงจำนวนภาษีไม่ถูกต้องมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อของสถานประกอบการสาขาในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88 (2) มาตรา 89 (3)และมาตรา 89/1
การที่โจทก์นำใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์มาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสาขาของโจทก์นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายผิดไปว่าสามารถนำใบกำกับภาษีอันเป็นภาษีซื้อของโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเดียวกันไปใช้ในการคำนวณภาษีด้วยการหักจากภาษีขายได้ จึงได้ปฏิบัติการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมีข้อผิดพลาดดังกล่าว โจทก์หาได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือทำให้จำเลยได้รับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์น้อยไปจากวิธีการที่โจทก์จะปฏิบัติโดยถูกต้องทั้งสองสถานประกอบการแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงมีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับแก่โจทก์
การที่โจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากรมาตรา 89/1 นั้น เนื่องจากโจทก์ไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วน 7 มาตรา 83 วรรคสอง จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับโดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีจนถึงวันชำระภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่มนี้แม้จะเป็นภาษีอากรประเมิน แต่ ป.รัษฎากร มาตรา89/1 ก็มิได้บัญญัติให้งดหรือลดลงได้ ดังเช่นที่ ป.รัษฎากร มาตรา 89วรรคท้าย บัญญัติให้อำนาจในการงดหรือลดเบี้ยปรับลงได้ไว้ ศาลจึงไม่มีอำนาจงดหรือลดเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดจำหน่ายสินค้าต่างประเทศ: การไม่มีสถานประกอบการถาวรและฐานะตัวแทนทางภาษี
โจทก์กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ไม่ใช่สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยของบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าดังกล่าวได้รับประโยชน์จากอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าจึงไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 76 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ไม่มีหน้าที่เป็นตัวแทนในการชำระภาษีเงินได้ดังกล่าวด้วย ดังนี้ คำฟ้องนี้เป็นคำฟ้องที่ได้ความชัดแจ้งแล้ว ส่วนอนุสัญญาดังกล่าวจะทำกันเมื่อใด รัฐบาลทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกันเมื่อใด และอนุสัญญาดังกล่าวมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่จะนำสืบกันในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์เป็นผู้จัดจำหน่ายของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ รวม 9 บริษัท การจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้ง 9 บริษัทนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีขายให้แก่หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น โจทก์ต้องทำสัญญาซื้อขายกับลูกค้าในประเทศไทย แล้วโจทก์จึงทำใบสั่งซื้อสินค้าไปยังบริษัทผู้ขายในต่างประเทศโดยโจทก์เป็นผู้กำหนดราคาขายสินค้าให้แก่ลูกค้าเอง โจทก์มีอิสระในการขาย ถ้าสินค้าที่ขายชำรุดบกพร่อง โจทก์ก็ต้องรับผิดต่อลูกค้าตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำไว้กับลูกค้า ผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับอยู่ในรูปของกำไร ไม่ใช่ค่าบำเหน็จจากการเป็นตัวแทนหรือนายหน้า แม้ลูกค้าจะเป็นผู้ดำเนินการชำระเงินให้แก่บริษัทผู้ขายต่างประเทศก็เป็นความประสงค์ของลูกค้าเองเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ลูกค้าตกลงไว้กับสถาบันการเงินผู้ให้กู้หรือตามบัตรส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกเว้นอากรขาเข้า ไม่ถือว่าโจทก์มีฐานะเป็นตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศ นิติบุคคลต่างประเทศดังกล่าวจึงไม่ได้ชื่อว่าประกอบกิจการในประเทศไทย โจทก์ได้กระทำไปในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ซื้อมาขายไป ไม่เข้าลักษณะเป็นกิจการตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศตาม ป.รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214-2218/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เวลาพักในสถานประกอบการ: การยินยอมให้กลับบ้านก่อนเลิกงานถือเป็นเวลาพักได้ หากรวมเวลาพักแล้วครบ 1 ชั่วโมง
ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับลูกจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 ตกลงให้เลิกงานเวลา 17.50 นาฬิกา ฉะนั้นเวลา 17.30-17.50 นาฬิกาจึงเป็นเวลาทำงานอยู่ จำเลยให้ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานในเวลาดังกล่าวและยินยอมให้กลับบ้านไปก่อนตั้งแต่เวลา 17.30 นาฬิกา ถือได้ว่าช่วงเวลา 17.30-17.50 นาฬิกา จำนวน 20 นาที เป็นเวลาที่จำเลยจัดให้พักแล้ว เมื่อรวมกับเวลาพักตั้งแต่เวลา 12.00-12.40 นาฬิกาอีก 40 นาที เป็นหนึ่งชั่วโมง จึงชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ1 ชั่วโมงแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 634/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองและการเป็นผู้เสียหายในคดีบุกรุก: กรณีมอบหมายดูแลสถานประกอบการ
พ่อตาผู้เสียหายมอบให้ผู้เสียหายกับภริยาเป็นผู้ดูแลร้านอาหารที่เกิดเหตุโดยผู้เสียหายพักอาศัยอยู่ที่ร้านด้วย จึงมีสิทธิครอบครองและเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายในความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในสถานประกอบการที่ไม่แสวงหากำไรและการรับข้อเท็จจริงของคู่ความ
ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า กิจการจำเลยเป็นการจ้างแรงงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ ศาลแรงงานกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกัน การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 กิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ การจ้างงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อออกจากงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตคำสั่งห้ามเผยแพร่เอกสาร/นัดชุมนุมในสถานประกอบการ และระยะเวลาการฟ้องร้องฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน
นายจ้างออกคำสั่งห้ามลูกจ้างชุมนุมและเผยแพร่เอกสารในบริเวณที่ทำการของนายจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน เมื่อปรากฏจากคำปรารภของคำสั่งนั้นว่าการเผยแพร่เอกสารหรือการนัดชุมนุมของพนักงานลูกจ้างได้เคยกระทำมาก่อนแล้ว ซึ่งเอกสารที่เผยแพร่หรือการนัดชุมนุมที่เคยมีบางครั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่พนักงานและก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการของนายจ้าง ดังนี้เห็นได้ว่า นายจ้างประสงค์จะห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำการดังกล่าวอีกต่อไป หากกระทำจะถือเป็นความผิดทุกครั้ง จึงเป็นคำสั่งที่มีผลต่อเนื่องตลอดเวลา ตราบใดที่นายจ้างยังห้ามอยู่ สหภาพแรงงาน ฯ ของลูกจ้างย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหาว่านายจ้างฝ่าฝืนกฎหมายต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้อยู่ตราบนั้น การนับเวลาหกสิบวันตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 124 จะเริ่มนับแต่วันที่ออกคำสั่งเป็นวันเริ่มต้นเพียงวันเดียวเป็นยุติไม่ได้
สหภาพแรงงานก่อตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน การเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิขั้นมูลฐาน แต่การที่สหภาพแรงงานจะกระทำกิจกรรมสองประการนั้นในสถานที่ประกอบกิจการหรือบริเวณสถานประกอบกิจการของนายจ้างควรจะมีข้อกำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าควรเผยแพร่ในเรื่องใด ลักษณะใด เมื่อไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ การที่นายจ้างผู้เป็นเจ้าของอาคารสถานที่ประกอบกิจการออกคำสั่งให้ส่งข้อความในเอกสารหรือแจ้งเรื่องลักษณะให้นายจ้างพิจารณาอนุญาตก่อนจึงเป็นวิธีการที่ดี เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงาน ฯ โจทก์กับนายจ้างให้ดียิ่งขึ้น คำสั่งของนายจ้างจึงเป็นคำสั่งที่ชอบ ไม่เป็นการขัดขวางการดำเนินการของโจทก์ ไม่เป็นการเข้าไปแทรกในกิจการของโจทก์ เพราะถ้าโจทก์กระทำในที่อื่นนอกสถานที่บริเวณของนายจ้างย่อมทำได้ การออกคำสั่งของนายจ้างจึงหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามความหมายในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(4) (5) ไม่
of 2