คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สร้างสรรค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6528/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานรวบรวมต้องเกิดจากความรู้ความสามารถหรือความวิริยะอุตสาหะ ไม่ใช่การลอกเลียน
ผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์จากการนำลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกันต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความวิริยะอุตสาหะในระดับหนึ่งโดยมิใช่เป็นการลอกเลียนงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จัดทำเอกสารเพื่อประกอบการเสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยลอกเลียนมาจากแคตตาล็อกของบริษัท พ. ทั้งหมด เพียงจัดเรียงองค์ประกอบให้สวยงามขึ้นเท่านั้นโจทก์มิได้ใช้ความริเริ่มของตนเองเพียงพอจนเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดงานรวบรวมขึ้นจึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ ดังนั้น แม้จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำแคตตาล็อกมาจัดทำเป็นส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการเสนอราคาของจำเลยต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกัน โดยที่บริษัท พ. ไม่ได้อนุญาตให้กระทำได้เพราะจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท พ. ซึ่งหากเป็นการไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท พ. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์หนังสือเรียน: การปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อยไม่ถือเป็นการสร้างสรรค์งานใหม่ นายจ้างไม่มีสิทธิเผยแพร่
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่งหมายความว่า งานใดเข้าลักษณะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หรือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และยังได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ ก็คงให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนมาตรา 78 วรรคสองหมายความว่า งานใดที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวแต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ก็ให้งานนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537แต่ทั้งนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับไม่ใช่นับแต่วันที่งานนั้นได้สร้างขึ้น
การพิจารณาว่าหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยวางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่โจทก์นำตัวเลขรูปภาพสัญลักษณ์ โจทก์ปัญหาและเครื่องหมายต่าง ๆ กันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าว หาใช่เป็นเพียงความคิด ขั้นตอนกรรมวิธี ระบบวิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วจึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้สัญญาจะระบุชื่อสัญญาว่า "หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์"แต่มีข้อความในรายละเอียดกำหนดจำนวนตำราคณิตคิดเลขเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ กำหนดเดือนและปีที่เริ่มจำหน่าย และการคิดเงินค่าลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้ลงนามในฐานะผู้ขายและจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่มและกำหนดจำนวนพิมพ์ของหนังสือแต่ละเล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ตามมาตรา 13(4) และ 14แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์และแนบสำเนาสัญญามาท้ายฟ้องซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็เป็นเพียงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ โจทก์มีเจตนาที่แท้จริงเพียงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
แม้หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์จะมีการปรับปรุงใหม่โดยโจทก์และนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่และจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือฉบับเดิมนั่นเอง หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ปรับปรุงใหม่ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์ออกจำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4486/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับปรุงแผนที่ทางหลวงไม่ถือเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์
แผนที่ทางหลวงเป็นเอกสารราชการของกรมทางหลวง โจทก์ได้ขออนุมัติกรมทางหลวงเพื่อจัดพิมพ์ โดยโจทก์ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้สวยงามเพื่อความเหมาะสมในการใช้ แต่โจทก์มิได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอันเป็นสาระสำคัญจากแผนที่เดิมแต่อย่างใด สำหรับสัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบเข็มทิศและเส้นมาตราส่วน ตลอดจนแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยก็เป็นสัญลักษณ์สากลและใช้กันทั่วไปในแผนที่ต่าง ๆ ซึ่งบุคคลทั่วไปก็ย่อมมีสิทธิใช้ได้ งานที่โจทก์ทำจึงเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วและใช้กันทั่วไป โจทก์ไม่ใช่ผู้คิดค้นหรือสร้างสรรค์ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในสัญลักษณ์ แผนภูมิระยะทาง รูปเข็มทิศและมาตราส่วนในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทย การที่โจทก์เพียงแต่ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาแบ่งส่วนใหม่รวมเป็นรูปเล่มและให้สีเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ทางหลวงของกรมทางหลวงในสาระสำคัญถึงขนาดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อันจะพอถือได้ว่าเป็นการดัดแปลง โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในรูปแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 9ประกอบมาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานศิลปะประยุกต์: การออกแบบปากกาเป็นงานสร้างสรรค์คุ้มครองได้ตามกฎหมายลิขสิทธิ์
แบบปากกาเป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าวซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมมาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าว งานสร้างสรรค์แบบปากกาจึงเป็นงานศิลปะประยุกต์ อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4(7) ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ งานออกแบบปากกาค.และ ล. ซึ่งรวมงานสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกา แบบแม่พิมพ์ หุ่นจำลองและแม่พิมพ์ปากกาเป็นศิลปกรรมประเภทงานศิลปประยุกต์ซึ่งเกิดจากการนำเอางานจิตรกรรมและประติมากรรมมารวมกันโดยย.ป.ข. กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และอ. ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาค. และล. ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 เมื่อบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้ แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้ที่มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาค.และล ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7,8 และ 15 ย่อมได้ รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2533 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มิใช่การลอกเลียนแบบจากธรรมชาติหรือผู้อื่น
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นและมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ผู้สร้างสรรค์" ไว้ว่าหมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง จากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเองมิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริง จากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานของผู้อื่นทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย
งานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดจากการถอดรูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตยสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เองโจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยความคิดริเริ่ม มิใช่การลอกเลียนแบบจากธรรมชาติหรือผู้อื่น
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นและมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ผู้สร้างสรรค์" ไว้ว่าหมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง จากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเองมิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริง จากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานของผู้อื่นทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย งานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดจากการถอดรูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตยสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เองโจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688-1689/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่สมบูรณ์ ขาดรายละเอียดวันเวลาสร้างสรรค์และโฆษณาผลงาน
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยทำซ้ำงานศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับขายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) (2) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบของความผิดในส่วนของการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานที่กฎหมายรับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งต้องบรรยายให้ปรากฏด้วยว่างานนั้นได้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อใดและหรือมีการโฆษณางานนั้นครั้งแรกเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุงานดังกล่าวยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 แต่ในส่วนนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ข้อมูลแผนที่ดิจิทัลโดยได้รับโอนมาจากบริษัท จ. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 และข้อมูลแผนที่ดิจิทัลเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม โดยไม่ได้บรรยายฟ้องหรือได้ความจากเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า บริษัท จ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์และโอนสิทธิ์ให้โจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นเมื่อใดและหรือได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรกเมื่อใด จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นดังกล่าว อันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ
การขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องปรากฏว่าฟ้องเดิมเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่แรก โจทก์จึงจะขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบของความผิดอันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงไม่อาจขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15717/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระบุข้อมูลผู้สร้างสรรค์และวันสร้างสรรค์/โฆษณา เพื่อให้ศาลพิจารณาอายุลิขสิทธิ์ได้
ความผิดฐานทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า และฐานให้เช่า เสนอให้เช่า งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31, 69 และ 70 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดในส่วนของการกระทำคือ มีการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า และการให้เช่า เสนอให้เช่า เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และได้กระทำแก่งานนั้นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ ต้องเป็นงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น ได้มาโดยการสร้างสรรค์งานเองตามมาตรา 6 หรือได้มาโดยการรับโอนลิขสิทธิ์ตามมาตรา 17 ทั้งยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการได้มาที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 8 นอกจากนี้ งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ฉะนั้นหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ที่จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวจึงเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ก็ย่อมต้องรู้ว่าผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่หรืองานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย และมาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าผู้สร้างสรรค์... ถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนั้นการบรรยายในคำฟ้องว่างานที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่หรือถึงแก่ความตายเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด จึงเป็นส่วนสาระสำคัญ มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อย และไม่อาจจะนำเอาข้อสันนิษฐานต่าง ๆ หรืออนุมานเอาเอง เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายเมื่อใด หรือบรรยายให้ปรากฏถึงวันเวลาที่ได้มีการโฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรกไว้อย่างชัดแจ้ง จึงย่อมเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด อันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18803-18804/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ้างอิงถึงผลงานผู้อื่นเพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีการศึกษาและนำแนวคิดมาสร้างสรรค์
เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี" ไม่ถึงกับแสดงว่ามีการดัดแปลงมาจากนิยายผีของ ห. การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์จากนิยายผีของ ห. นั้น การได้แรงบันดาลใจนั้นอาจเป็นเพียงความคิดเท่านั้น ซึ่งลำพังแนวความคิดไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองต้องมีการนำความคิดมาแสดงออกเป็นงานแล้ว เมื่อมีแต่บางส่วนที่มีแนวความคิดคล้ายกันหรือใช้แนวความคิดของ ห. ที่ได้เป็นแรงบันดาลใจ ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงงานวรรณกรรมนิยายผีที่ ห. เป็นผู้สร้างสรรค์มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "เปนชู้กับผี"
ภาพผีไต่ลงจากเสาห้อยหัวลงปรากฏว่าเคยมีคนใช้แนวคิดลักษณะเช่นนี้มาแล้ว จึงมีลักษณะเป็นแนวคิดจินตนาการลักษณะอาการของผีให้น่ากลัว หาใช่ว่าบุคคลใดใช้แนวความคิดวาดภาพเช่นนี้แล้วจะหวงกันให้ผู้อื่นไม่มีสิทธิใช้แนวคิดนี้ไปสร้างงานของตนได้
แม้การโฆษณาอาจทำให้เข้าใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากงานวรรณกรรมของ ห. แต่โฆษณามีรายละเอียดต่อมาอีกมาก เมื่ออ่านโดยรวมแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นการยกย่องผลงานของ ห. และจำเลยที่ 1 ได้แรงบันดาลใจจากผลงานดังกล่าว นอกจากนี้ ในฉากจบยังมีข้อความว่า "ความดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ขออุทิศแด่ ห. บรมครูศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจ" ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 เกรงว่าคนจะเข้าใจผิด ก็ได้รีบเชิญสื่อมวลชนมารับทราบว่าภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ได้สร้างจากนิยายผีของ ห. แสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ต้องการยกย่องและแสดงถึงการสร้างภาพยนตร์โดยได้แรงบันดาลใจจากงานของ ห. จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้โจทก์ร่วมและโจทก์ที่ 2 ต้องเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9801/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์: การสร้างสรรค์ การทดรองจ่าย และขอบเขตกรรมสิทธิ์
น. เป็นผู้คิดค้นรูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทสปอร์ตเรียลลิตี้ "THE WINNER" ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์จัดประกวดและคัดเลือกนักฟุตบอลให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อทำการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ แม้รูปแบบรายการโทรทัศน์ดังกล่าวที่ น. คิดขึ้นในขณะนำมาเสนอกับจำเลยจะยังไม่มีการแสดงออกทางความคิดจนเกิดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทโจทก์โดยมี น. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ โจทก์และจำเลยตกลงร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวและได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน โดยจำเลยตกลงที่จะชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการได้สิทธิผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์อนุญาตให้สิทธิจำเลยผลิตรายการตามรูปแบบรายการดังกล่าวและนำไปออกอากาศจึงมีผลผูกพันและสามารถบังคับได้ตามกฎหมายระหว่างโจทก์และจำเลย
โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ชื่อ "THE WINNER" ก่อนที่โจทก์จะได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวซึ่งขณะนั้นไม่มีงานลิขสิทธิ์เกิดขึ้น การแจ้งดังกล่าวจึงไม่ทำให้โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เพราะการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นจะต้องมีการสร้างสรรค์งานและเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย
โจทก์เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ "THE WINNER" ตอนที่ 1 ถึง 3 ก่อนที่จำเลยจะนำมาตัดต่อเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เป็นตอนที่ 1 ถึง 3 โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)
จำเลยได้มีการประชุมร่วมกับโจทก์และตกลงให้จำเลยตัดต่อเทปต้นฉบับเพื่อออกอากาศใหม่ ถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยทำการตัดต่อเทปตอนที่ 1 ถึง 3 ใหม่ตามการแสดงออกทางความคิดของจำเลยเพื่อออกอากาศ เป็นการที่โจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงงานโสตทัศน์วัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงมีลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปโทรทัศน์รายการโทรทัศน์ที่ดัดแปลงแล้วนำออกอากาศในตอนที่ 1 ถึง 3 ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 11 จำเลยนำเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึง 3 ที่จำเลยได้ออกอากาศมาตัดต่อใหม่เป็นเทปรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตอนที่ 4 ถึง 6 เป็นการที่จำเลยดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ตอนที่ 4 ถึงที่ 6 ดังกล่าว
เทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 เป็นเทปรายการโทรทัศน์ที่จำเลยสร้างสรรค์ขึ้นภายหลังที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลง โดยโจทก์ให้สิทธิจำเลยในการผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ "THE WINNER" ที่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในรูปแบบรายการดังกล่าว โดยไม่ปรากฎข้อตกลงอื่นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ผลิต จำเลยซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 ดังกล่าวจึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)
of 2