คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,361 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8696/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการครอบครองทรัพย์สินหลังเลิกสัญญาเช่า: กำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายที่จำเลยยังคงครอบครองรถแท็กซี่ของโจทก์ ทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้จะเรียกวันละ 400 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับค่าเช่า แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระ กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8458/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, การระงับหนี้ด้วยการชำระหนี้, และการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ตกลง
เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2525 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนในวันที่ 30 ธันวาคม 2525 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 ดังนั้นแม้อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ตามข้ออ้างของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีก่อนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ถึงวันฟ้องคดีก่อน ไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องกรณีนี้มีอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนก็ยังไม่ขาดอายุความและอายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอันถือได้ว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง อายุความจึงครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีก่อน แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 ให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องคดีใหม่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540 นับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีใหม่เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด" ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง สาระสำคัญว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความ ดังนั้นการที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยและโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ตามสัญญาอัตราร้อยละ 18 ต่อปี คดีนี้จึงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ได้ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: สถานที่ทำสัญญาและรับบัตรเครดิตเป็นสถานที่เกิดเหตุ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าสถานที่ที่จำเลยยื่นใบสมัครหรือทำสัญญาและสถานที่รับบัตรเครดิตจากโจทก์อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเลยจะสามารถนำบัตรเครดิตไปใช้ได้ตามสัญญานั้น กระทำที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ ถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงชอบที่จะเสนอคำฟ้องของโจทก์ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8330/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ไม่ได้กำหนด
การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์นั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มิได้มีบทบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8071/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การคำนวณดอกเบี้ยค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาและกฎหมาย
อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร การเวนคืนที่ดินเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินจึงเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของจำเลย การกระทำของอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้แทนและตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ราคาที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนมีราคาในท้องตลาดตารางวาละ 120,000 บาท โดยโจทก์เทียบเคียงกับราคาที่ดินที่ซื้อขายเพื่อสร้างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ติดถนนเพชรเกษม ห่างจากที่ดินของโจทก์ 300 ถึง 400 เมตร และที่ดินที่ขายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ประมาณ 1,200 เมตร แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าว เป็นการซื้อขายที่ฝ่ายผู้ซื้อต้องการได้ที่ดินไปเพื่อใช้เป็นที่ทำการและเป็นการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นการซื้อขายที่มีวัตถุประสงค์พิเศษแตกต่างจากการซื้อขายของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ขายสามารถเรียกราคาได้สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดได้ จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบโดยตรงเพื่อกำหนดเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ได้
ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามโฉนดเลขที่ 25506 เนื้อที่ 19.30 ตารางวา นั้น เดิมที่ดินแปลงนี้อยู่ติดถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว หลังถูกเวนคืนอาคารพาณิชย์ของโจทก์ 2 ห้องที่ปลูกบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งโจทก์ทำการค้าโดยเปิดร้านอาหารนั้นยังใช้ประโยชน์ได้ ก่อนหน้าที่ดินของโจทก์แปลงนี้จะถูกเวนคืนลูกค้าของโจทก์ก็ต้องจอดรถที่หน้าร้านบนถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว การที่ที่ดินของโจทก์แปลงนี้ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1.70 ตารางวา และต้องมาอยู่ใกล้มุมสี่แยกซึ่งจำเลยมีข้อกำหนดไม่ยอมเปิดทางเพื่อเข้าออกสู่ทางหลวงก็ตาม แต่หลังจากมีการขยายทางหลวงตามแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืน ลูกค้าของโจทก์สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านของโจทก์ได้เช่นเดิม ประโยชน์จากการใช้ที่ดินแปลงนี้มิได้ลดลงไปจากเดิม แต่จากสภาพทำเลใหม่ที่มีการปรับปรุงทางแยกให้กว้างขึ้นทำให้ทัศนียภาพบริเวณดังกล่าวดีขึ้นกว่าเดิมและอาคารพาณิชย์ของโจทก์กลับดูเด่นเป็นสง่าเพราะด้านซ้ายมือเป็นหน้าต่างหรือใส่กระจกเพื่อรับแสงสว่างและอากาศบริสุทธิ์ได้ซึ่งต่างจากสภาพอาคารเดิมก่อนถูกเวนคืนที่ผนังอาคารด้านซ้ายมือเป็นผนังคอนกรีตทึบอยู่ติดอาคารพาณิชย์ของผู้อื่นตลอดแนวที่ดินของโจทก์แปลงนี้ที่เหลือจากการเวนคืนมิได้มีราคาลดลง ส่วนเรื่องเงินค่าทดแทนสำหรับอาคารส่วนที่เหลือซึ่งโจทก์อ้างว่ามีราคาลดลงนั้น อาคารของโจทก์ส่วนที่เหลือยังใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม อาคารส่วนที่เหลือของโจทก์จึงไม่ได้มีราคาลดลง การที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือให้โจทก์นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว
โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสินว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นแต่จะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราตามคำขอของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์โดยจะต้องนำสืบในเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในยอดเงินค่าตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 11 กำหนดให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 10 จึงไม่มีวันต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 วันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ย่อมเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดให้ไปรับเงินค่าทดแทน ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.14 อันเป็นวันที่จำเลยต้องนำเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ไปวางตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนมาตรา 26 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7658/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อเบิกจ่ายเงินให้ผู้อื่นโดยไม่ตรวจสอบบัตรประจำตัว ถือเป็นการผิดสัญญา
ตามข้อตกลงในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ระหว่างโจทก์กับธนาคารจำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ถอนเงินแต่เพียงผู้เดียว เมื่อจำเลยเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นไปย่อมเป็นการผิดจากข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยถือเอาสมุดคู่ฝากและใบถอนเงินประกอบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานให้บุคคลที่มาถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ไปย่อมไม่เป็นการใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอสมกับฐานะของผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งลายมือชื่อของผู้ถอนเงินในใบถอนเงินนั้นไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7611/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าขาดประโยชน์จากสัญญาเช่าซื้อ: ไม่ใช่อายุความค่าเช่าซื้อ แต่เป็น 10 ปี
โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อ ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อมีอายุความ 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7217/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาตอกเสาเข็ม: ระยะเวลาคืนเงินประกันเมื่อจำเลยไม่ตรวจสอบความเสียหาย
การเปิดหน้าดินเพื่อตรวจสอบความเสียหายของเสาเข็มและการก่อสร้างอาคารเป็นขั้นตอนของงานที่จะต้องดำเนินการต่อหลังจากมีการตอกเสาเข็มเสร็จ ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายว่าจะต้องดำเนินการเมื่อใด ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร มิฉะนั้นโจทก์จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการภายในระยะอันพอสมควรเพื่อเปิดหน้าดินและตรวจสอบความเสียหายนั้น จึงต้องถือว่าเสาเข็มที่โจทก์ตอกเสร็จแล้วไม่เกิดความเสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 377: การชำระราคาที่ดินเป็นงวดไม่ใช่เงินมัดจำ สิทธิริบเบี้ยปรับ
คำว่า "มัดจำ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดในสัญญาประนีประนอมยอมความ: ทายาท vs. ความรับผิดส่วนตัว
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันของคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ต้องเป็นการประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีหรือที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ฟ้อง สำหรับคดีนี้มีประเด็นแห่งคดีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. จะต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 แต่งตั้งทนายความและในใบแต่งระบุให้ทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ ก็หมายถึงมอบอำนาจให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะเป็นทายาทของ ท. ตามคำฟ้องเท่านั้น แม้ทนายความจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์มีข้อความว่า เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดในฐานะส่วนตัว และในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. ผู้ตาย และทำยอมกันนั้นก็หมายความว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น ที่ยอมรับผิดทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะของทายาทของ ท. สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ย่อมมีเจตนายอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทของ ท. มิใช่รับผิดเป็นการส่วนตัว สัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้รับผิดเป็นการส่วนตัว คำพิพากษาตามยอมคงมีผลสมบูรณ์บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้รับผิดในฐานะทายาทของ ท. เท่านั้น
of 337