คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาอนุญาต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้เครื่องหมายการค้า/บริการที่ไม่ทำตามแบบไม่เป็นโมฆะ หากเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิหลายประการในระบบที่ซับซ้อน
ตามมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติให้สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน อันเป็นแบบแห่งนิติกรรม เมื่อไม่ทำตามแบบย่อมตกเป็นโมฆะ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การไว้ก็มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้
โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า "คาลเท็กซ์" และ "สตาร์มาร์ท" และได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ด้วย โจทก์เช่าที่ดินจากบุคคลภายนอกแล้วก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน แล้วได้ทำสัญญาการให้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าวระบุถึงข้อตกลงการให้สิทธิว่า โจทก์ให้สิทธิชนิดไม่ผูกขาดแก่จำเลยที่ 1 ที่จะดำเนินการในสถานีบริการน้ำมัน เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของโจทก์ โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าไปในที่ดินและใช้สถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งเครื่องมือภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญานี้ และตามสัญญาข้อ 5 ระบุถึงค่าธรรมเนียมในการดำเนินการที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตอบแทนแก่โจทก์ จากข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์เพียงตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าคำว่า "คาลเท็กซ์" ของโจทก์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 ต้องซื้อจากโจทก์มาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันตามข้อสัญญาเป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้า "คาลเท็กซ์" ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยโจทก์เองแล้วนำมาจำหน่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไปเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาเอง แล้วจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 นั้นโดยโจทก์อนุญาตอันจะถือเป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่อย่างใด สัญญาการให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมัน จึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แม้จะไม่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการให้บริการร้านค้าเพื่อให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้าภายใต้เครื่องหมายบริการคำว่า "สตาร์มาร์ท" ของโจทก์ ซึ่งหากสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ทำตามแบบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง แต่ตามสัญญาดังกล่าวระบุข้อตกลงในการให้สิทธิโดยโจทก์เป็นเจ้าของระบบ "สตาร์มาร์ท" ซึ่งประกอบด้วย เครื่องหมายบริการ ชื่อทางการค้า สัญลักษณ์ การใช้สีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เครื่องมือ คู่มือการประกอบธุรกิจ โดยโจทก์ได้พัฒนาระบบดังกล่าวรวมถึงการกำหนดรูปแบบการจัดวาง การจำหน่ายสินค้า การขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ การส่งเสริมการขายและการโฆษณา การบริหารจัดการ และการฝึกอบรมพนักงานของผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ และโจทก์ตกลงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการร้านสตาร์มาร์ทในสถานีบริการน้ำมันของโจทก์โดยใช้ระบบของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์ สัญญานี้จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ให้สิทธิในระบบสตาร์มาร์ทแก่จำเลยที่ 1 หลายประเภท เพื่อให้ประโยชน์ตอบแทนต่อการที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์ โดยเครื่องหมายคำว่า "สตาร์มาร์ท" เป็นเพียงสิทธิส่วนหนึ่งในสิทธิหลายประการในระบบสตาร์มาร์ทที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ประการอื่นนั้น คู่สัญญาได้แสดงเจตนาระบุชัดไว้แล้ว แสดงถึงพฤติการณ์ที่แยกได้ต่างหากจากสิทธิในการใช้เครื่องหมายบริการ ข้อตกลงส่วนอื่นจึงใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 173
คำว่า "สตาร์มาร์ท" นอกจากเป็นเครื่องหมายบริการของโจทก์แล้ว ยังเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ โดยในส่วนของข้อตกลงเกี่ยวกับชื่อทางการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้โดยโจทก์นั้น ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบแห่งนิติกรรม สัญญาที่เป็นการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย "สตาร์มาร์ท" จึงสมบูรณ์ ในส่วนของการอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้สิทธิช่วงเครื่องหมายการค้าโมฆะ ศาลฎีกาพิพากษากลับ ยกฟ้อง คดีเกินกรอบคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าสิทธิและส่วนต่างของค่าธรรมเนียมจากยอดขายและค่าสิทธิขั้นต่ำตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMA ซึ่งเป็นโมฆะ คดีย่อมไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าใช้สิทธิแก่โจทก์ตามควรในฐานลาภมิควรได้นั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือ นอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า: โมฆะจาก พรบ.เครื่องหมายการค้า, ลาภมิควรได้, ศาลพิพากษาเกินคำฟ้อง
การที่โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ต่อศาลเพียง 2 ฉบับโดยฉบับแรกรับรองตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ฉบับที่สองรับรองตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 แม้ว่าโจทก์จะมิได้แสดงหลักฐานการต่ออายุการจดทะเบียนดังกล่าวในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม2541 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2542 แต่จากหนังสือรับรองฉบับที่สองมีข้อความว่า โจทก์ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 และได้รับอนุญาตให้ต่ออายุไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 นั้น ย่อมหมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 โจทก์ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมาอย่างต่อเนื่องจนถึงฉบับหลังสุด ซึ่งจำเลยเองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์มิได้ต่ออายุการจดทะเบียนบริษัทโจทก์แต่อย่างใด จึงรับฟังได้ว่าช่วงเวลาที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องหรือในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคล คำฟ้องของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมาย
การทำหนังสือมอบอำนาจไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำ ณ สถานที่อันเป็นภูมิลำเนาของผู้มอบอำนาจ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47วรรคสาม กำหนดเพียงว่า หากหนังสือมอบอำนาจทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยามต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน เมื่อหนังสือมอบอำนาจคดีนี้ได้ทำขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีสถานกงสุลของประเทศไทยตั้งอยู่ โดยหนังสือมอบอำนาจมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์มีเจ้าพนักงานรับรองหนังสือสัญญาของฮ่องกงลงลายมือชื่อเป็นพยาน และมีกงสุลไทยประจำฮ่องกงลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าพนักงานรับรองหนังสือสัญญาดังกล่าว ทั้งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ หรือขณะลงลายมือชื่อมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้ว กรณีจึงรับฟังได้ว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงและมีผลบังคับตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าสิทธิและส่วนต่างของค่าธรรมเนียมจากยอดขายและค่าสิทธิขั้นต่ำตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในเครื่องหมายการค้าPUMA คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าใช้สิทธิแก่โจทก์ตามควรในฐานลาภมิควรได้นั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้สิทธิช่วงเครื่องหมายการค้า: ศาลฎีกาพิพากษาเกินคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสิทธิและส่วนต่างของค่าธรรมเนียมจากยอดขาย และค่าสิทธิขั้นต่ำตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในเครื่องหมายการค้าคำว่า PUMA คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าใช้สิทธิแก่โจทก์ตามควรในฐานลาภมิควรได้ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 606/2506

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตใบอนุญาตและการกระทำผิดสัญญาอนุญาต: การแปรรูปไม้หมอนรถไฟ
จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้แต่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเพิ่มเติมประกอบใบอนุญาต แม้ข้อกำหนดระบุไว้ว่าผู้รับอนุญาตจะตั้งโรงงานแปรรูปไม้ด้วยเครื่องจักรเพื่อประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปจำหน่ายแต่จำเลยแปรรูปไม้หมอนรถไฟโดยรับจ้างตบแต่งด้วยการใช้เครื่องจักรถากไม้หมอนให้ได้ขนาดเรียบร้อยการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 48 หากแต่เป็นการกระทำผิดต่อข้อกำหนดซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตนี้ได้ ไม่ใช่กรณีที่จะฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 546/2490

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเงินประกันตามสัญญาอนุญาตจำหน่ายฝิ่น เมื่อมีเหตุผิดสัญญาเกิดขึ้น ผู้รับอนุญาตต้องพิสูจน์
ตามสัญญาอนุญาตให้จำหน่ายฝิ่น ยอมให้ข้าหลวงประจำจังหวัดซึ่งเป็นคู่สัญญาริบเงินประกันได้ในเมื่อผู้รับอนุญาตผิดสัญญา และผู้อนุญาตต่อสู้ว่าสั่งริบเงินนั้นแล้วอ้างสำเนาคำสั่งริบมาท้ายคำให้การด้วย ซึ่งฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้รับสำเนานี้แล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์เถียงว่ายังไม่ได้สั่งริบ ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10657/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ ค่าเสียหาย และการหักกลบลบหนี้
การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับจะระบุชื่อว่า "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และ ตามข้อ 1 ของสัญญาฉบับที่ 1 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้... 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)... 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T."... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet Smart English"...ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาฉบับที่ 2 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว... 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T"... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet"... ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า..." ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์" แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ ย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ในข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า "เครื่องหมายการค้า" เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ในสัญญาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้
แม้จะมีการทำซ้ำแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 1" จำนวน 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 50 หน้า และแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 2" จำนวน 4 หน้า จากทั้งหมด 50 หน้า ให้แก่นักเรียนจำนวนประมาณ 20 ถึง 30 คน แต่ในส่วนที่ทำซ้ำดังกล่าวเป็นโจทย์ฝึกทักษะด้วยระบบลูกคิดโดยในแต่ละหน้าประกอบด้วยโจทย์หลายข้อ ซึ่งโจทย์แต่ละข้อผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ในข้อนั้น ๆ ดังนี้ ในทุก ๆ หน้า จึงเป็นส่วนสาระสำคัญของแบบเรียนดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 6.1 และข้อ 8.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระบุว่า ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และข้อ 6.3 และข้อ 8.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้ กับทั้งข้อ 6.18 และข้อ 8.16 ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น แสดงว่าจำเลยจะต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้โดยต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทำซ้ำตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยอ้างว่าทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกทักษะจึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตตามสัญญา โดยจำเลยประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อหากำไร แม้จะเป็นการทำซ้ำโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอน แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (6) นอกจากนี้โจทก์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนให้แก่นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์แม้เพียงบางส่วนโดยมิได้ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยไม่จำต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์ ย่อมเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนของโจทก์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
เมื่อเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย กับสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 แล้วมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ที่มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้กับคู่สัญญาทุกราย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคสาม (3) ที่บัญญัติว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่า ที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขนาดว่าหากมีข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงที่เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาในข้อ 6 และข้อ 8 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิให้จำเลยผู้รับอนุญาตกระทำสิ่งใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ผู้อนุญาต ให้จำเลยผู้รับอนุญาตตกแต่งสถานประกอบการ ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามแบบของโจทก์ผู้อนุญาต และให้จำเลยผู้รับอนุญาตกำหนดจำนวนนักเรียนและวันเปิดปิดโรงเรียนตามนโยบายของโจทก์ผู้อนุญาต จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาให้โจทก์ผู้อนุญาตสามารถควบคุมรูปแบบของกิจการและคุณภาพของการเรียนการสอนตามหนังสือตำราเรียนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนของจำเลยให้เป็นไปในรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาได้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ย่อมใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาได้
การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ มาใช้บังคับกับการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังนั้น การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น"
เมื่อโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมีมูลหนี้อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่ต้องชำระให้แก่กันและกันเป็นเงินอย่างเดียวกันและหนี้เงินที่โจทก์และจำเลยต้องชำระให้แก่กันและกันนั้นถึงกำหนดชำระแล้วด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ดังนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 725,148 บาท มาหักกลบลบกันกับหนี้เงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 307,274 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 417,874 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาอนุญาตใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า ผลของคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการและอำนาจหน้าที่นายทะเบียน
เดิมจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74 วรรคสอง แล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่ แต่เนื้อหาของคำอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมรายละเอียดของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และข้อเท็จจริงอื่นซึ่งได้มีการกล่าวอ้างมาแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น ซึ่งอุทธรณ์ฉบับเดิมก็ได้มีการกล่าวไว้แล้วเพียงแต่ไม่มีการยกข้อความซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้หรือข้อความในสัญญาขึ้นกล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์ เพียงแต่อ้างว่ามีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหน้าใดของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรืออยู่ในสัญญาข้อใดตามเอกสารที่แนบท้ายมาเท่านั้น อุทธรณ์ฉบับใหม่จึงไม่ใช่การเพิ่มเติมเนื้อหาสาระสำคัญหรือข้อเท็จจริงเข้ามาใหม่ต่างจากอุทธรณ์ฉบับเดิม แต่เป็นการเพิ่มรายละเอียดในอุทธรณ์ฉบับเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงชอบที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะรับอุทธรณ์ฉบับใหม่ของจำเลยที่ 1 ไว้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเดิมของจำเลยที่ 1 ได้
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้รับอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิยื่นคำชี้แจงหรือคำคัดค้าน คงมีแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กฎหมายบัญญัติว่า เมื่อได้รับคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาต ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณีทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงภายในกำหนดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 74 วรรคสอง ที่ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตทราบเพื่อยื่นคำคัดค้าน จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบหรือผิดกฎหมาย
เมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้นำข้อเท็จจริงในคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์มาพิจารณาด้วย ทั้งไม่มีบทบัญญัติตามระเบียบข้อบังคับหรือตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องวินิจฉัยตามคำโต้แย้งคัดค้านอุทธรณ์ทุกประเด็น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์เฉพาะประเด็นสำคัญ ถือว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแสดงให้เห็นว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 1 สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาตแล้ว ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิโดยชอบในการบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากมีการนำไปจดทะเบียนและยังไม่ได้รับการเพิกถอนจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า อนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบที่จะวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเลิกกันแล้ว เนื่องจากจะกระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแสดงได้ว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 72

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12452/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของการตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิฯ การใช้สิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้น
แม้ในการตกลงกันตามบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และ ว. กับ อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมด้วยกับข้อตกลงในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวและลงลายมือชื่อไว้ด้วย และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความระบุว่า เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับในคำฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการแทนและมีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยไม่มีตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ประทับไว้ดังเช่นในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ - ฮาวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการทำบันทึกข้อตกลงของจำเลยที่ 2 ในภายหลัง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น บันทึกข้อตกลงจึงไม่มีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ร่วมตกลงด้วย แต่ผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตามในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น
แม้ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมตกลงและลงชื่อในบันทึกข้อตกลงก็ตาม แต่การที่ผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จะทำข้อตกลงให้มีผลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เพียงใด หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นนั้นมีสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้หรือไม่ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173 และ 1176 กำหนดให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเพียงการเรียกประชุมและเข้าร่วมประชุมใหญ่กับลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นอำนาจในการเข้าครอบงำการบริหารจัดการบริษัท แต่หามีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการในบริษัทโดยตรงไม่
บันทึกข้อตกลงข้อ 9 มีข้อตกลงในการเลิกบันทึกข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิจัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกบันทึกข้อตกลงโดยบอกกล่าวให้คู่สัญญาอีกฝ่ายที่ผิดสัญญารับทราบเป็นหนังสือ และหากภายใน 10 วัน หลังจากที่ได้รับคำบอกกล่าว คู่สัญญาดังกล่าวยังคงเพิกเฉยให้ถือว่า บันทึกข้อตกลงเป็นอันเลิกกันทันทีเมื่อสิ้นระยะเวลา 10 วัน โดยให้ถือว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ - ฮาว ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์เป็นอันเลิกกันทันทีด้วยนั้น ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจึงมีผลต่อการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ - ฮาวในการผลิตผลิตภัณฑ์อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 และอาจทำให้การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวได้ บันทึกข้อตกลงข้อ 4 และข้อ 9 จึงเป็นการตกลงในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยตรงซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และ ว. กับ อ. ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่ตกลงกับโจทก์เช่นนั้นได้ และการออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัวของ ว. และ อ. ผู้ถือหุ้นเท่านั้น บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจบังคับให้บุคคลดังกล่าวลงมติให้จำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งตามบันทึกข้อตกลงข้อ 4 ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 แต่กลับมีข้อความอันเป็นลักษณะเป็นการบังคับให้จำเลยที่ 2 ลาออก โดยระบุว่า ผู้ถือหุ้นเดิมและโจทก์ตกลงใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 และดำเนินการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้จำเลยที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่มีข้อตกลงใด ๆ ในบันทึกดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 จะลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจทำบันทึกข้อตกลงให้มีผลโดยตรงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงข้อ 4 ในบันทึกข้อตกลง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการผิดข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโน - ฮาวแก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13878/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ที่แท้จริงเป็นสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์
การตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และการตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ว่าเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 171 การค้นหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่างๆ ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญานั้น ไม่อาจถือตามชื่อสัญญาได้เพราะข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญาอาจไม่เป็นไปตามชื่อสัญญานั้นก็เป็นได้ สำหรับสัญญาระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ แม้ข้อความในสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 จะระบุว่า ฉ. ผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดของ พ.ให้แก่โจทก์เพื่อทำแผ่นเสียง-เทปและประโยชน์อื่นๆ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนไปแล้วจำนวน 200,000 บาท ก็ตาม แต่ปรากฏต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 ว่า ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในคำร้องและหรือทำนองเพลงทั้งหมดจากบทประพันธ์ของ พ. ให้แก่บริษัท ม. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 300,000 บาท จากบริษัทดังกล่าวอีก ดังนี้ หากสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 เป็นสัญญาที่ ฉ. โอนลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่โจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ม. จะต้องทำสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 ซื้อลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งจาก ฉ. โดยจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์จำนวน 300,000 บาท ให้แก่ ฉ. อีก เพราะลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 แล้ว แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวมิได้ตกเป็นของโจทก์แต่ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของ ฉ. ทายาท พ. แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ เจตนาในการทำสัญญาระหว่าง ฉ. กับโจทก์จึงเป็นเพียงเจตนาที่ ฉ. อนุญาตให้โจทก์ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ไม่ได้เจตนาโอนลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ม. เข้าทำสัญญารับโอนลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งตามสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 จาก ฉ. แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีในขณะทำสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ส่วนสัญญาที่ ฉ. ขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 นั้น ก็ปรากฏต่อมาว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 ฉ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจำนวน 12 เพลง และจำนวน 6 เพลง ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอีก ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์เพลงของ พ. ทั้งหมดมาแล้วตามสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ฉ. ผู้ขายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับมรดกของ พ. แต่เพียงผู้เดียวตกลงโอนขายสิทธิเพลงทั้งหมดของ พ. ตลอดอายุลิขสิทธิ์จริง จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ก็หาจำต้องซื้อลิขสิทธิ์เพลงของ พ. จาก ฉ. อีก จำเลยที่ 1 สามารถอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่าในขณะทำสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ทั้ง ฉ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาตรงกัน กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจาก ฉ. ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวในฐานะทายาทของ พ. เท่านั้น มิได้มีเจตนาซื้อลิขสิทธิ์เพลงจาก ฉ. แต่อย่างใด ลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งในขณะทำสัญญาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 และวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 จึงยังคงเป็นของ ฉ. ดังนี้ สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 จึงเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงชื่อ แต่ที่แท้จริงสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดยังคงเป็นของ ฉ. ในขณะทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 เป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดดังกล่าวมาตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมที่ พ. แต่ง
of 2