คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สาธารณชนสับสน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8081/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา(จำเลยที่ 1) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า มาตรา 4 กำหนดให้กองตรวจสอบ 2ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 5(3)(ก) เป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและควบคุมดูแลการดำเนินการของกองตรวจสอบ 2เกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่วนจำเลยที่ 10เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่รับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 เมื่อจำเลยที่ 10 มีคำวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคัดค้านไว้และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติยืนตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 10 โดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 10เป็นจำเลยต่อศาลได้
เครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัดภาษาไทย คำว่า คอฟ-ทีกับเครื่องหมายการค้าคำว่าค๊อฟ-ซี่ ของโจทก์คู่หนึ่ง และเครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัดอักษรโรมัน คำว่า KOF-T กับเครื่องหมายการค้าคำว่า COFCY ของโจทก์อีกคู่หนึ่งนั้นต่างมีสำเนียงเสียงอ่านที่ใกล้เคียงกันมาก และมี 2 พยางค์เหมือนกัน การออกเสียงเรียกขานชื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำดังกล่าวอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดได้เนื่องจากคนไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และผู้ซื้อสินค้าอาจจะไม่ได้ดูชื่อที่เขียนอยู่บนห่อสินค้านั้นเพราะเป็นสินค้าที่มีราคาไม่มากตัวอักษรที่นำมาประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันต่างก็มีจำนวนตัวอักษรที่เกือบจะเท่ากันแม้ตัวอักษรบางตัวและลีลาการเขียนตัวอักษรจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เห็นเด่นชัด เครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัด และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่างใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันความสับสนหลงผิดย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่ายโดยเฉพาะในหมู่ผู้ซื้อที่ไม่ทันสังเกตหรือเป็นผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ค๊อฟ-ซี่ และ COFCY รวมทั้งผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายแก่คนทั่วไปมาหลายปีแล้ว บริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัด จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า คอฟ-ที และ KOF-Tใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับของโจทก์อีกไม่ได้เพราะเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนทำให้สาธารณชนสับสน ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปนกในลักษณะประดิษฐ์คล้ายรูปนกอินทรีซึ่งเป็นนกประเภทเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยรูปนกดังกล่าวเป็นรูปนกในลักษณะกางปีกหงายลำตัวด้านท้องออกหันหัวไปทางด้านซ้ายมือมีหงอนที่หัวและขาทั้งสองข้างถือเกรียงโบกปูนอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมและมีอักษรไทยกำกับภายใต้รูปนกว่า"ตรานกถือเกรียง"ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะสำคัญเป็นรูปนกอินทรีกางปีกหันข้างและขาทั้งสองข้างมิได้ถือเกรียงโบกปูนและอยู่ภายในกรอบวงกลมโดยมีอักษรไทยคำว่าบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัดและอักษรโรมันคำว่าSIAMCITYCEMENTCO.,LTD. วางอยู่ระหว่างวงกลมชั้นนอกและชั้นในและในอีกลักษณะหนึ่งวางอยู่ในกรอบวงกลมชั้นเดียวเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยคือรูปนกอินทรีมีลักษณะเด่นคือรูปนกอินทรีที่กางปีกอยู่ในกรอบคล้ายคลึงกันประชาชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานว่าตรานกอินทรีแม้จะมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างตรงที่รูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปนกอินทรีหันหน้าไปทางด้านซ้ายหงายลำตัวด้านท้องออกและขาทั้งสองข้างถือเกรียงโบกปูนและมีอักษรไทยคำว่าตรานกถือเกรียงอยู่ใต้รูปนกก็ตามก็เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้นทั้งรูปเกรียงและอักษรไทยดังกล่าวก็มีขนาดเล็กไม่ใช่ลักษณะเด่นไม่เป็นสาระสำคัญแก่การสังเกตประกอบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ปรากฏข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าของจำเลยจำเลยขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าน้ำยาเคมีผสมซีเมนต์แม้จะเป็นสินค้าในจำพวกที่1ต่างจำพวกกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าในจำพวกที่17แต่ก็เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์โจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีมานานและได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปจำเลยเพิ่งจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทภายหลังโจทก์20ปีจำเลยเคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีหันข้างและกางปีกเช่นเดียวกับรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้จำเลยเคยถูกฟ้องในข้อหาเสียลนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีและถูกศาลลงโทษไปแล้วเมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรูปของมงกุฎรูปเพชรและรูปสิงโตใช้กับปูนซีเมนต์ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในรูปเพชรมีปีกมงกุฏมีปีกและสิงโตคู่เหยียบลูกโลกใช้กับสินค้าน้ำยาเคมีผสมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับโจทก์เป็นคู่ๆโดยมุ่งหมายที่จะอาศัยแอบอ้างชื่อเสียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต และการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าผู้อื่น
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า MINMAXจำเลยที่ 1 รู้อยู่ก่อนแล้วโดยการทักท้วงของ ม.ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า MICMAC ของโจทก์ที่ ม.เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก่อนแล้วอย่างมาก เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยเป็นพนักงานขายสินค้าของโจทก์มานาน 10 ปี และเคยเป็นผู้ดูแลการผลิตสินค้าของโจทก์ จึงมีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ต้องการใช้ประสบการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาผลิตสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์ และพยายามจะใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ให้ใกล้เคียงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้สาธารณชนที่เคยรู้จักคุณภาพหรือเคยใช้สินค้าของโจทก์สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตมาแต่แรก แม้จำเลยที่ 1 จะได้ความคิดเรื่องเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จากการดูรายการข่าวพยากรณ์อากาศทางโทรทัศน์แล้วนำคำว่า MIN ซึ่งย่อมาจากคำว่า MINIMUM และคำว่า MAX ซึ่งย่อมาจากคำ MAXIMUM มารวมเป็นคำว่า MINMAX ก็ตาม เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนก็ยังเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ นับได้ว่าจำเลยที่ 1 ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงชอบที่จะคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 และมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1งดใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ทั้งมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าระงับหรือเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้
เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ใช้คำโรมัน 2 คำ มาประกอบกันแล้วอ่านหรือเรียกขานว่า MINMAX ประกอบด้วยอักษรโรมัน 6 ตัวขึ้นต้นพยางค์แรกด้วยอักษร MI และลงท้ายพยางค์หลังด้วยอักษร MA เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่อ่านหรือเรียกขานว่า MICMAC ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2518 เมื่อเปรียบเทียบตัวอักษรตัวต่อตัวแล้วจะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกันมากถึงขนาดที่คนทั่วไปแม้จะสามารถอ่านอักษรโรมันได้แต่ถ้าไม่ได้สังเกตให้ดีแล้วจะต้องเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่ไม่สามารถอ่านหรือไม่รู้จักตัวอักษรโรมันด้วยแล้วจะไม่สามารถแยกข้อแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยที่ 1 พยางค์แรกคือคือว่า MIC และ MIN จะออกเสียงอ่านหรือเรียกขานเป็น "มิค" กับ "มิน" เพื้ยนกันเล็กน้อย ส่วนพยางค์หลังคือคือว่า MACและ MAX จะออกเสียงอ่านหรือเรียกขานเป็น "แม็ก" หรือ "แม็กซ์" เหมือนกันแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร M ประดิษฐ์ประกอบอยู่ด้วย ก็เป็นข้อแตกต่างปลีกย่อย มิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลย-ที่ 1 เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันจะเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อบริษัทและเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนทำให้สาธารณชนสับสน ถือเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า"UNIX"ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยและสำหรับในประเทศไทยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่8ชนิดสินค้าคอมพิวเตอร์ส่วนและอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในจำพวกนี้รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์พร้อมทั้งได้โฆษณาเผยแพร่สินค้าคอมพิวเตอร์ของโจทก์มาก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดและใช้ชื่อบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า"บริษัท ยูนิกซ์คอมพิวเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด"และ "UNIXCOMPUTER(THAILAND)COMPANYLIMITED" คำว่า "UNIX"ที่จำเลยนำไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยและเป็นส่วนหนึ่งของตราบริษัทจำเลยเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ซึ่งใช้กับสินค้าคอมพิวเตอร์ของโจทก์จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายรับซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์และจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำเลยอยู่ในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ทราบดีว่าคำว่า "UNIX" เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ผลิตและจำหน่ายการที่จำเลยนำคำว่า"UNIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตราของบริษัทจำเลยและจำเลยรับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"ONIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าคอมพิวเตอร์หรือการค้าของจำเลยเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตการใช้คำว่า "UNIX" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตราบริษัทจำเลยจึงเป็นการใช้โดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา30แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยนำคำดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตราบริษัทจำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วยังจำหน่ายสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ผลิตออกจำหน่ายจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายดังกล่าวซึ่งติดมากับสินค้านั้นอยู่ในตัวดังนี้แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ผลิตสินค้านั้นและคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" การกระทำของจำเลยก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX"ของโจทก์แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์2,000บาทแทนโจทก์คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อัตราค่าทนายความในศาลอุทธรณ์ชั้นสูงตามตาราง6ท้ายกำหนดไว้เพียง1,500บาทการกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แก่โจทก์จึงเกินอัตราดังกล่าวเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าและโอกาสที่จะทำให้สาธารณชนสับสน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำในภาษาต่างประเทศใช้อักษรโรมันมี2พยางค์เท่ากันโดยเฉพาะพยางค์ต้นของโจทก์ใช้คำว่าPLAYแต่ของจำเลยดัดแปลงตัวอักษรAให้ต่างกันเล็กน้อยเป็นplayซึ่งทั้งสองคำก็อ่านออกเสียงเหมือนกันว่า เพลย์ ส่วนพยางค์หลังของโจทก์คำหนึ่งอ่านว่าBOYและอีกคำหนึ่งอ่านว่าMATEแต่ของจำเลยได้ดัดแปลงให้ออกเสียงแตกต่างไปจากคำว่าMATEเล็กน้อยโดยเปลี่ยนใหม่ว่าmanเมื่ออ่านออกเสียงคำว่าplayman (เพลย์แมน) ของจำเลยจึงมีสำเนียงเรียกขานเกือบเหมือนหรือใกล้เคียงกับคำว่าPLAYMATE(เพลย์เมท) ของโจทก์ลักษณะตัวอักษรและจำนวนตัวอักษรก็ไล่เลี่ยกันของโจทก์ใช้อักษร7ตัวและ8ตัวของจำเลยใช้อักษร7ตัวอักษรส่วนใหญ่เป็นตัวพิมพ์เหมือนกันเครื่องหมายการค้าคำว่าplaymanที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดนับได้ว่าทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในสินค้าได้เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนทำให้สาธารณชนสับสน ถือเป็นการลอกเลียนแบบและแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงผู้อื่น
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "SIBELIUM""ไซบีเลี่ยม""สตูเจอร่อน""SIBELIUM" กับรูปม้าบนอักษร"J" และ "STUGERON" กับรูปม้าบนอักษร "J" โดยโจทก์ใช้กับสินค้ายารักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นที่แพร่หลาย จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "STUBELIUM" หลังโจทก์หลายปีโดยใช้กับสินค้ายาขยายหลอดเลือด และใช้ตัวยา "FLUNARIZINE"ตัวเดียวกับยาของโจทก์ เครื่องหมายการค้า "STUBELIUM"ของจำเลยเป็นการผสมของพยางค์""STU+BELIUM" คำดังกล่าวเป็นอักษรโรมัน 9 ตัว อักษร 3 ตัวแรก ตรงกับอักษร 3 ตัวแรกของคำว่า "STUGERON" และอักษร 6 ตัวหลังตรงกับอักษร 6 ตัวหลังของคำว่า "SIBELIUM" ซึ่งล้วนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำดังกล่าวเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะ ไม่ใช่คำที่ใช้สามัญอักษรโรมันมี 26 ตัว หากจำเลยคิดประดิษฐ์เองโดยไม่ได้เห็นคำทั้งสองที่โจทก์ประดิษฐ์ใช้มาก่อน โอกาสที่จะตรงกันถึง 9 ตัวเรียงกันเช่นนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก การที่โจทก์นำสืบถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า "STUGERON" เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของจำเลยในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จะให้เหมือนหรือคล้ายกันเครื่องหมายการค้าคำว่า"SIBELIUM" แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า "STUGERON" มาในฟ้อง โจทก์ก็มีสิทธินำสืบและเป็นการนำสืบในประเด็น หาใช่นอกประเด็นไม่ กรณีพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนไม่ใช่วินิจฉัยแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองจะต้องเหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่างแต่ต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นว่าเป็นลักษณะทำนองเดียวกันและเมื่อเทียบเคียงแล้วมีลักษณะแตกต่างกันบ้าง จะชี้ขาดว่าไม่เหมือนกันไม่ได้ต้องเอามาเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะในเวลาใช้อยู่ตามปกติและความสุจริตประกอบกับประเภทสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ากับสภาพแห่งท้องตลาด การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่แพร่หลายของโจทก์ 2 เครื่องหมาย มาตัดตอนหัวท้ายนำมาเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย และใช้กับสินค้ายารักษาโรคชนิดเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ลงทุนโฆษณาตามวิสัยทางการค้าเลย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตการที่จำเลยลอกเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาตัดต่อเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยย่อมทำให้สาธารณชนสับสนอาจเข้าใจได้ว่าเป็นของโจทก์ได้ ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "STUBELIUM" ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "SIBELIUM" ของโจทก์ถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6555/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งสิทธิเครื่องหมายการค้า 'Natty' กรณีใช้ก่อนและมีความคล้ายคลึงจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
ตามคำฟ้องโจทก์อาศัยสิทธิตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดข้อพิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ดังนี้ ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์อ้างว่าได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของโจทก์ไปขอจดทะเบียนโดยไม่ชอบ หาใช่จำเลยที่ 2ผู้เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และกรมทะเบียนการค้าจำเลยที่ 3 ไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า "NattySHOES"และรูปคนยืนในรองเท้า ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นอักษรโรมัน คำว่า "NATTY" แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีคำว่า"SHOES" อยู่ใต้คำว่า "Natty" และมีรูปคนยืนอยู่ในรองเท้าซึ่งเป็นส่วนประกอบ ส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่มี คงมีคำว่า "NATTY" ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่คำเดียว และการประดิษฐ์ตัวอักษรโรมันแตกต่างกันแต่สำเนียงเรียกขานและคำแปลเหมือนกันคือทั้งของโจทก์และจำเลยที่ 1ต่างเรียกขานว่า แน็ตตี้แปลว่าหรูสมาร์ทโก้ เหมือนกันอักษรอื่นและรูปคนยืนในรองเท้าซึ่งเป็นส่วนประกอบในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีความเด่นชัดเท่ากับคำว่า "Natty" ที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีสาระสำคัญอยู่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศและมีสำเนียงเรียกขานเหมือนกัน ผู้ซื้อย่อมเรียกขานสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เหมือนกันว่า แน็ตตี้ ผู้ซื้อจึงอาจสับสนหลงผิดได้ว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าเป็นเจ้าของคนเดียวกันเมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ต่างขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกเดียวกัน แม้ขณะพิพาทจะใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าต่างชนิดกัน แต่ก็อยู่ในจำพวกเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดได้ว่าสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เป็นของผู้ผลิตรายเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1จึงเหมือนและคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้วการที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันเช่นนี้เป็นการจงใจใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "NATTY" ให้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยจำเลยที่ 1 เห็นว่าสินค้าของโจทก์ที่มีเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะคำว่า "Natty" เป็นที่นิยมแพร่หลายเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1เป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Natty"มาก่อนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า"Natty" ที่เขียนเป็น 2 แบบว่า "Natty" และ "NATTY" ดีกว่าจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6510/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าและสินค้าที่อาจทำให้สาธารณชนสับสน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวเลข "1" ประดิษฐ์ตัวหนาทึบอยู่ในพื้นสีขาว เขียวและเขียวเข้มลักษณะเป็นแฉก เหนือตัวเลข 1 เป็นภาษาจีนถัดลงมาเป็นภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า "ทั้ง ซัง ฮะ" และมีคำว่า "น้ำปลาผสม"ส่วนด้านใต้ตัวเลข 1 ระบุแหล่งผู้ผลิตคือ ผลิตโดยบริษัทไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัดส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวเลข "1" ประดิษฐ์เป็นลายไทย เหนือตัวเลข 1 เป็นภาษาไทยอ่านว่า "น้ำปลาผสมตราเลขหนึ่ง" ถัดลงมาเป็นภาษาจีนภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า "ตั้ง ซัง ฮะ" และมีคำว่า "แบ่งบรรจุโดยร้านมิตรไพโรจน์"ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสองอยู่ที่ตัวเลข "1" ซึ่งอยู่ในพื้นสีขาว เขียวอ่อนและเขียวเข้มซึ่งเป็นแฉกเหมือนกัน อยู่ในฉลากขนาดเดียวกัน ด้านบนของตัวเลข 1คำว่า "ตั้ง ซัง ฮะ" กับ "ทั้ง ซัง ฮะ" มีจำนวน 3 คำเท่ากัน และมีคำซ้ำกันถึง2 คำ คือ "ซัง" กับ "ฮะ" ส่วนคำที่ไม่ซ้ำกันคือคำว่า "ทั้ง" กับ "ตั้ง" ก็อ่านออกเสียงใกล้เคียงกัน ส่วนแหล่งผู้ผลิตซึ่งอยู่ด้านล่างของตัวเลข "1" มีคำว่า"ไพโรจน์" อย่างเดียวกัน การจัดวางรูปเครื่องหมายการค้าเลข "1" ตลอดจนส่วนประกอบอื่น ๆ คล้ายคลึงกัน และใช้กับสินค้าน้ำปลาอย่างเดียวกัน เครื่องหมาย-การค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ใช้มาก่อนและจดทะเบียนไว้จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันทำให้สาธารณชนสับสน และการมีอำนาจฟ้องคดี
แม้โจทก์ไม่มีตัวผู้มอบอำนาจมาเบิกความก็ตาม แต่มี ธ.ผู้รับมอบอำนาจเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจและคำแปลภาษาไทยซึ่งโนตารีปับลิกแห่งมลรัฐเท็กซัสรับรองว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเท็กซัสจ.เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์และลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อ จ. ประกอบกับมีหนังสือรับรองของรัฐมนตรีแห่งมลรัฐเท็กซัสรับรองโนตารีปับลิกและมีหนังสือรับรองของกงสุลไทย ณ นครลอสแองเจลีสรับรองดวงตราและลายมือชื่อรัฐมนตรี จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นทั้งไม่มีเหตุควรสงสัยว่าไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามข้อความที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีเลข 7 อารบิคเป็นส่วนสำคัญเพราะเลข 7 มีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรมากสามารถเห็นได้เด่นชัด แม้เลข 7 ของจำเลยมีลายเส้นซ้อนกัน 4 ตัว ต่างกับของโจทก์ซึ่งมีลักษณะทึบเพียงตัวเดียวก็เป็นเพียงรายละเอียดไม่น่าจะเป็นที่สนใจของผู้พบเห็น ส่วนอักษรELEVEn ของโจทก์ และBIGSEVEn ของจำเลยเป็นตัวพิมพ์เหมือนกันโดยเฉพาะอักษร 4ตัวท้ายเขียนเหมือนกันและอักษรตัว n ท้ายสุดเป็นตัวพิมพ์เล็กเช่นเดียวกัน ลักษณะการวางรูปแบบเครื่องหมายการค้าเหมือนกันคืออักษรพาดกลางตัวเลข เมื่อคำนึงว่าสาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมันดีพอที่จะแยกได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างกัน และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนจำเลยจนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยการที่จำเลยประกอบกิจการค้าเช่นเดียวกับโจทก์และใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเป็นกิจการค้าของโจทก์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตอันเป็นการลวงสาธารณชนและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนสับสน ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปธงมีเสา ชายธงสะบัดไปทางขวา มีอักษรโรมัน วี.เอฟ (V.F.) อยู่ในธง ใต้ธงมีอักษรภาษาไทยว่า ตราธงชนะ และมีภาษาอังกฤษอ่านว่า วิกตอรี แฟล็ก แบรนด์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปธรมีเสา ชายธงสะบัดไปทางขวามีอักษรโรมัน เจ.อาร์. (F.R.) อยู่ในธง ไม่มีอักษรโรมันใต้ธง แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจะเป็นรูปธงมีเสา สะบัดชายธงไปทางขวาเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันอย่างมากอยู่หลายประการ ประการแรกคือการวางรูป โดยรูปธงของโจทก์เป็นรูปธงติดเสาตั้งตรง ส่วนรูปธงของจำเลยติดเสาเอียงไปทางซ้าย ใต้ธงของโจทก์มีอักษรหรือข้อความถึงสองบรรทัด บรรทัดแรกเป็นภาษาไทยว่า "ตราธงชนะ" และบรรทัดที่สองเป็นภาษาโรมันว่า "VICORY PLAG BRAND" ภาพรวมทั้งหมดนี้จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก ส่วนรูปและตัวอักษรในชายธงนั้นก็แตกต่างกันมากเช่นเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์สะบัดพลิ้วแรง และเป็นธงสองสี อักษรโรมันตัว V อยู่มุมซ้ายด้านบนติดกับปลายเสาธงอยู่ในส่วนของสีบน ส่วนอักษรตัว P อยู่มุมขวาด้านล่าง ในส่วนของสีล่างห่างกันมาก และอักษรตัวเล็ก ๆ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นธงที่แทบจะไม่มีลักษณะสะบัด และเป็นธงพื้นสีเดียวทั้งผืน ตัวอักษรโรมันอยู่ตรงกลางใหญ่เกือบเต็มผืนธง และอักษร J และ R อยู่ในลักษณะตัวอักษรเชื่อมต่อเป็นตัวเดียวกัน หรือทับกันครึ่งตัว รูปร่างลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยแตกต่างกันมากเช่นนี้ ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดได้
การที่ประชาชนเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยว่าตราธงเช่นเดียวกัน เป็นเพียงสื่อความหมาย มิใช่การหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์
of 2