คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิสิ้นสุด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 48 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทางจำเป็นต้องไม่มีทางออกอื่น สิทธิสิ้นสุดเมื่อมีทางออกอื่น แม้เหตุเปลี่ยนภายหลังก็ไม่อาจอาศัยคำฟ้องเดิม
การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บุคคลนั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ เมื่อปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมที่จะผ่านทางในที่ดินข้างเคียงแปลงอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยทั้งสามเป็นทางจำเป็นเพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามกฎหมายได้อีก อำนาจฟ้องเอาทางจำเป็นของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ย่อมหมดสิ้นไป เพราะไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ต่อไป
แม้ต่อมาโจทก์ได้แบ่งขายที่ดินส่วนที่ติดทางภาระจำยอมให้แก่บุคคลอื่นไป จนเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกปิดกั้นในการออกไปยังทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็นเนื่องจากการแบ่งขายที่ดินเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยอาศัยคำฟ้องเดิมหาได้ไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5153/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสิทธิของคู่ความเมื่อถึงแก่ความตาย และการเข้าเป็นคู่ความแทนที่ไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ตามคำสั่งศาล ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลง หาได้ตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงทายาทของโจทก์เท่านั้น ไม่ปรากฏว่า ส. เป็นผู้ปกครองที่พิพาทหรือมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แต่อย่างใด ส. ย่อมไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ ส. เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5153/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหน้าที่ผู้จัดการมรดกสิ้นสุดเมื่อตาย สิทธิไม่ตกทอดถึงทายาท การขอเป็นคู่ความแทนไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ตามคำสั่งศาลซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลง หาได้ตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ไม่ ส. ซึ่งเป็นเพียงทายาทของโจทก์เท่านั้นไม่ได้เป็นผู้ปกครองที่ดินพิพาทหรือมีอำนาจในการจัดการทรัพย์มรดกจึงไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้
ปัญหาว่าบุคคลที่จะเข้าแทนที่คู่ความผู้มรณะเป็นบุคคลตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 บัญญัติหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินเช่าที่กลายเป็นที่ชายตลิ่ง สิทธิของผู้เช่าสิ้นสุดเมื่อสัญญาหมดอายุ
จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่าจากโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาทใต้บ้านถูกน้ำกัดเซาะเป็นเหตุให้ตลิ่งพังทลายลงสู่แม่น้ำกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งโดยที่จำเลยยังคงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ตลอดมาและโจทก์ยังคงสงวนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นค่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่ มิได้ปล่อยทิ้งให้เป็นที่ชายตลิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทสิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6345-6346/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินสิ้นสุดลงเนื่องจากโจทก์ไม่ฟ้องแย่งการครอบครองภายใน 1 ปี ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความใช้บังคับไม่ได้
คดีก่อนพนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้ลงโทษ ช. สามีจำเลย ข้อหาบุกรุกที่ดินของโจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า ช. และจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2528 หรือก่อนปี 2528 อันเป็นการบุกรุกแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ ช. บุกรุก เข้าแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองและสิทธิครอบครองของโจทก์ก่อนสิ้นสุดลง ที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะทายาทของ ช. ให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับ ช. และให้ขับไล่จำเลย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงจึง ฟังได้ว่าสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว คำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และ ช. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทายาทของ ช. ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีมาก่อนที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้พิพากษาไปแล้ว และให้ขับไล่จำเลยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันเลือกใช้สิทธิได้ตามมาตรา 95 หรือ 96 หากใช้สิทธิแล้วสิทธิเดิมสิ้นสุด
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 และ 96 แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น ดังนี้ กำหนดเวลาให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 จึงไม่มี และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย วิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไขมาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการในประการใดประการหนึ่ง
ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ และการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 และ 96 แยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง เจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็น หลักประกันและจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งว่าให้ได้รับชำระหนี้หรือไม่ ดังนั้น คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านในคดีนี้ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 จึงไม่ถูกต้องแม้จะกลับมามีคำสั่งใหม่เป็นว่า ไม่อนุญาตในภายหลังซึ่งล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี คำสั่งของผู้คัดค้านในครั้งก่อนและในครั้งหลังจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมาย เพราะไม่ทำให้ผู้ร้องได้สิทธิหรือเสียสิทธิ เมื่อผู้ร้องได้ใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายตามมาตรา 96 แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1641/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องรังวัดที่ดินเป็นโมฆะเมื่อโจทก์ขอยกเลิกการรังวัดแล้วและตกลงแนวเขตกับจำเลยได้
โจทก์ฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างว่า โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้คัดค้านและขัดขวางการรังวัด แต่เมื่อข้อเท็จจริงกลับได้ความว่าโจทก์ได้ขอยกเลิกการรังวัดที่ดิน โดยให้เหตุผล ในบันทึกถ้อยคำของเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์กับจำเลยสามารถตกลงแนวเขตกันได้แล้วโดยไม่ติดใจสงสัยค้าน แนวเขตด้านที่ติดกัน ดังนั้น ข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ย่อมหมดไป โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินขัดต่อกฎหมายนิคมสร้างตนเอง สัญญาเป็นโมฆะ และจำเลยหมดสิทธิฟ้องขับไล่
โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองและต่างได้รับจัดสรรที่ดินคนละหนึ่งแปลง ต่อมาจำเลย ขายที่ดินซึ่งได้รับการจัดสรรให้โจทก์แต่ไม่สามารถโอนสิทธิให้โจทก์ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขข้อห้ามโอนตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จำเลยจึงได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองเพียงอย่างเดียวโดย มีข้อตกลงระหว่างกันเองว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนสิทธิให้โจทก์เมื่อมีกฎหมายหรือกฎระเบียบอนุญาตให้ทำได้ ดังนี้เมื่อโจทก์และจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมี วัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ แม้จำเลยจะไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ และในเมื่อจำเลยก็ปฏิบัติฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ การที่จำเลยได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิทุกประการเหนือ ที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประนีประนอมยอมความในคดีล้มละลายและการเพิกถอนการโอนทรัพย์สิน การยอมรับข้อเสนอของเจ้าหนี้ทำให้สิทธิในการเพิกถอนสิ้นสุด
ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอเพิกถอนการโอนตามมติที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้โดยผู้คัดค้านที่ 3ได้ชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย การที่ผู้คัดค้านที่ 3ขอยุติข้อพิพาทโดยเสนอผู้ร้องขอชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1,400,000 บาทแทนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยอันมีลักษณะเป็นการขอประนีประนอมยอมความซึ่งผู้ร้องจะประนีประนอมยอมความได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 145 (5)ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอของผู้คัดค้านที่ 3แล้ว จึงเท่ากับเป็นการให้ความเห็นชอบในการที่ผู้ร้องประนีประนอมยอมความกับผู้คัดค้านที่ 3 และโดยผลแห่งการประนีประนอมยอมความ ย่อมทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับให้เพิกถอนการโอนอีกต่อไป กรณีไม่จำต้องสั่งคำร้องขอถอนคำร้องขอเพิกถอนการโอนของผู้ร้อง และการที่จะพิจารณาฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่คัดค้านการเพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับที่ 3 ย่อมไม่เป็นประโยชน์ ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีผู้คัดค้านที่ 3 ออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5353/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกบุคคลภายนอกเป็นจำเลยร่วมหลังคดีถึงที่สุด สิทธิดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว การเรียกจึงไม่มีประโยชน์
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียก ณ. และ ส.เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและในวันเดียวกันศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเหตุให้คดีถึงที่สุด และสิทธิดำเนินคดีของจำเลยไม่มีอีกแล้วก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาให้หมายเรียก ณ. และ ส. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเช่นนี้จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์จะหมายเรียกให้ ณ. และ ส. เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 อีก
of 5