คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิเลือก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 20 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10277-10288/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องค่าจ้างควบคู่กับการร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน: โจทก์เลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งได้เท่านั้น
โจทก์ทั้งสิบสองคนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ แม้ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องค่าจ้างโดยตรง แต่ก็เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยจะต้องพิพาทกันด้วยเงินค่าจ้างในระหว่างวันเวลาที่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทำงาน จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใด และประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย ซึ่งมีมูลคดีสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันเลือกใช้สิทธิได้ตามมาตรา 95 หรือ 96 หากใช้สิทธิแล้วสิทธิเดิมสิ้นสุด
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 และ 96 แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น ดังนี้ กำหนดเวลาให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 จึงไม่มี และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย วิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไขมาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการในประการใดประการหนึ่ง
ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ และการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 และ 96 แยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง เจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็น หลักประกันและจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งว่าให้ได้รับชำระหนี้หรือไม่ ดังนั้น คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านในคดีนี้ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 จึงไม่ถูกต้องแม้จะกลับมามีคำสั่งใหม่เป็นว่า ไม่อนุญาตในภายหลังซึ่งล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี คำสั่งของผู้คัดค้านในครั้งก่อนและในครั้งหลังจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมาย เพราะไม่ทำให้ผู้ร้องได้สิทธิหรือเสียสิทธิ เมื่อผู้ร้องได้ใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายตามมาตรา 96 แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเลือกชำระหนี้แทนการโอนทรัพย์สิน การรับโอนทรัพย์สินโดยสุจริต และผลของการรับรองจากศาล
คำสั่งศาลจังหวัดสกลนครในคดีก่อนเป็นการสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่ามีการกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้อย่างไร จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้อย่างไรจึงจะถูกต้อง และมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่นั้น เป็นคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา มิใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นแห่งคดี ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าตนมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการชำระเงินโดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกก่อน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะยกข้อดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคดีนี้ได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วนั้น บังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวก หากช. ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 กับ ช. ร่วมกันชำระเงิน137,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกนั้น เป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 กระทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ หาใช่เป็นการกระทำหลายอย่างอันลูกหนี้จะพึงเลือกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198 ไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกนำเงินจำนวน 137,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ทั้งสองกับพวก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าหลังจากได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 นำเงินค่าที่ดินจำนวน 137,000 บาท พร้อมค่าทนายความและค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ทั้งสองมาวางต่อศาลจังหวัดสกลนครและศาลจังหวัดสกลนครมีคำสั่งให้รับเงินในวันนั้นเอง และจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปยื่นขอแบ่งขายต่อสำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งต่อมาสำนักงานที่ดินดังกล่าวมีหนังสือถึงศาลจังหวัดสกลนครเพื่อขอให้อธิบายคำพิพากษาซึ่งศาลก็เห็นชอบด้วยกับความเห็นของสำนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะยื่นคำขอแบ่งขายที่ดินพิพาทได้จำเลยที่ 1 จึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300จึงไม่อาจเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5044/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเลือกดำเนินการระหว่างขอพิจารณาคำร้องใหม่หรืออุทธรณ์คำสั่ง กรณีคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและเห็นว่าจำเลยไม่ยากจน ให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาจำเลยชอบที่จะขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ หรือใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายใน 7 วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ หรือวรรคห้า เมื่อจำเลยเลือกยื่นคำขอให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้ตนนำพยานมาแสดงเพิ่มเติม จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนไต่สวนอีกทางหนึ่ง การร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้ตนนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ นั้นเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดีเมื่อเห็นได้ชัดว่าพยานหลักฐานที่จำเลยจะขอนำสืบเพิ่มเติมเป็นพยานหลักฐานเดิมที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นไต่สวนคำร้องเดิมอยู่แล้ว แต่จำเลยไม่พยายามนำหลักฐานดังกล่าวมาศาลโดยมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวคดีให้ล่าช้าอันมีลักษณะประวิงคดี พฤติการณ์จึงไม่สมควรอนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาและการเรียกร้องเบี้ยปรับรายวัน ผู้ซื้อต้องเลือกใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตามสัญญาข้อ 8 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ส่วนตามสัญญาข้อ 9กำหนดว่าในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 8ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากผู้ขายเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบได้ นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาจนกว่าผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันกับเรียกให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของที่ซื้อให้โจทก์ โดยโจทก์มิได้ใช้สิทธิปรับเป็นรายวันก่อนบอกเลิกสัญญา แม้โจทก์จะสงวนสิทธิการเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาข้อ 9 ไว้ท้ายหนังสือบอกเลิกสัญญา ก็หามีผลเป็นการใช้สิทธิปรับจำเลยเป็นรายวันแล้วไม่ จึงเป็นกรณีบอกเลิกสัญญาตามข้อ 8โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ และการแก้ไขการยื่นภาษีจากความสำคัญผิด
ประมวลรัษฎากร มาตรา 48(4) กำหนดให้ผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเลือกเสียภาษีเฉพาะเงินได้ประเภทนี้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48(1)และ (2) ก็ได้นั้น เป็นการให้สิทธิผู้เสียภาษีและมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ในประเภทดังกล่าว และสิทธิตามมาตรานี้มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะหมดไปเมื่อใด ดังนั้น จึงต้องถือว่าสิทธิของผู้เสียภาษีคงมีอยู่ตลอดเวลาที่ภาระในการเสียภาษียังมีอยู่ โจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรจึงมีสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48(4) การที่โจทก์ยื่นเสียภาษีโดยวิธีรวมคำนวณด้วยความเข้าใจผิดเพราะคิดหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้จำนวนภาษีซึ่งคำนวณตามวิธีที่โจทก์ยื่นเสียภาษีขาดไปเป็นจำนวนถึงสองล้านบาทเศษซึ่งถ้าโจทก์แยกยื่นเฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้ว โจทก์จะมีจำนวนภาษีที่ต้องชำระเพิ่มอีกเพียงเก้าหมื่นบาทเศษเท่านั้นเห็นได้ว่าการที่โจทก์ยื่นเสียภาษีโดยวิธีรวมยื่นนั้นเกิดขึ้นด้วยความสำคัญผิด เมื่อภาระหน้าที่ในการชำระภาษีของโจทก์ยังมีอยู่โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการยื่นเสียใหม่โดยใช้วิธีการยื่นแยกเฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้เพราะไม่ทำให้จำนวนภาษีที่โจทก์จะต้องเสียขาดจำนวนไป การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาการยื่นรวมที่โจทก์ยื่นด้วยความสำคัญผิดมาเป็นหลักในการประเมินโดยไม่ให้โอกาสโจทก์แก้ไขตามสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายย่อมเป็นการไม่ชอบ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเลือกใช้สิทธิเรียกร้อง: บอกเลิกสัญญา หรือ เรียกร้องเบี้ยปรับรายวัน
สัญญาซื้อขายข้อ 8 มีความว่า ในกรณีที่ผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อตามกำหนด ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วแต่จะเห็นสมควร ส่วนสัญญาข้อ 9 มีความว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 ผู้ซื้อมีสิทธิปรับผู้ขายเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างที่มีการปรับถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์ตามกำหนดและโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับริบเงินประกันของจำเลยจากธนาคารตามสัญญาข้อ 8 แล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับจากจำเลยเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 9 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3354/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ซื้อในการบังคับให้ผู้ขายโอนที่ดิน แม้มีข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับ เพราะสิทธิเลือกอยู่ที่ผู้ซื้อ
สัญญาจะซื้อขายระบุว่า ถ้าผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนด ผู้จะขายจะยอมให้ผู้จะซื้อปรับ20,000 บาท อีกส่วนหนึ่งด้วยโดยไม่มีข้อความตอนใดระบุให้สิทธิผู้จะขายเลือกปฏิบัติไม่ยอมขายที่ดินให้ผู้จะซื้อผู้จะซื้อเท่านั้นจึงเลือกเรียกเอาเบี้ยปรับหรือเรียกร้องให้ผู้จะขายชำระหนี้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 เมื่อโจทก์ผู้จะซื้อเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายให้ขายที่ดินตามสัญญา และสภาพแห่งหนี้ก็เปิดช่องให้ศาลบังคับได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติด้วยการขอคืนเงินมัดจำและยอมชำระค่าปรับให้โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเลือกได้ระหว่างบอกเลิกสัญญาหรือเรียกค่าปรับรายวัน สัญญาซื้อขายกำหนดสิทธิแยกกันชัดเจน การใช้สิทธิบอกเลิกแล้วย่อมไม่อาจเรียกค่าปรับได้อีก
ตามสัญญาข้อ 8 โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากจำเลยไม่ส่งมอบของหรือส่งมอบไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนและมีสิทธิเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน รวมทั้งมีสิทธิที่จะซื้อของจากผู้อื่นและเรียกราคาที่เพิ่มขึ้นจากจำเลย ตามสัญญาข้อ 9 โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และมีสิทธิเรียกเอาค่าปรับจากจำเลยเป็นรายวันได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์เลยโจทก์ได้ใช้สิทธเลิกสัญญาและเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 8 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าปรับเป็นรายวันจากจำเลยตามสัญญาข้อ 9 ได้อีก
ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1ไม่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายลูกปืน จำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งเป็นประการอื่น ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3348/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณกำไรสุทธิภาษีเงินได้นิติบุคคล: สิทธิในการเลือกใช้เกณฑ์สิทธิ์หรือเงินสด แม้จะยังไม่ได้รับเงิน
การคำนวณกำไรสุทธิในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2521 ต้องเป็นไปตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากรในขณะพิพาท ซึ่งบัญญัติว่า "เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ฯลฯ" กิจการในที่นี้จึงหมายถึงกิจการที่กระทำจนได้เงินมาเป็นเงินได้แล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์มีสิทธิเพียงแต่จะได้รับดอกเบี้ย แต่ยังไม่ได้รับมาจริงจึงยังไม่ใช่รายรับอันจะนำมาคำนวณเป็นกำไรสุทธิ แม้โจทก์จะปฏิบัติทางบัญชีโดยลงบัญชีรายรับค่าดอกเบี้ยค้างรับในระบบเกณฑ์สิทธิ์ตลอดมาก็ตาม โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะไม่นำดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้รับจริงมาคำนวณเป็นกำไรสุทธิได้ เพราะกฎหมายในเรื่องนี้ขณะพิพาทไม่ได้บัญญัติทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในเรื่องภาษีการค้าตามมาตรา 79 จัตวา และเมื่อโจทก์มีสิทธิจะใช้เกณฑ์สิทธิ์หรือเกณฑ์เงินสดได้อยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สูญ และความจำเป็นในการบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (9).
of 2