คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8242-8246/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลาเป็นสินจ้างตามกฎหมาย และศาลแรงงานมีอำนาจค้นหาความจริงได้เอง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ... และคำว่า "ค่าล่วงเวลา" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน แม้ค่าล่วงเวลาจะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายดังกล่าว เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ ซึ่งนายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ค่าล่วงเวลาจึงเป็นสินจ้างอย่างหนึ่งตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่า แม้คำให้การของจำเลยจะอ้างอายุความตามมา แต่จำเลยจะต้องสืบพยานประกอบคำให้การดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. นั้น เห็นว่า การพิจารณาคดีแรงงานต้องบังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งการดำเนินคดีแรงงานแตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป โดยการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน ซึ่งให้อำนาจศาลในการค้นหาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ไม่มีบทบัญญัติให้ต้องสืบประกอบดังกล่าว ทั้งตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏข้อเท็จจริงได้ความแจ้งชัดพอวินิจฉัยได้แล้ว มิได้นำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาวินิจฉัยแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 1 "งานขนส่งทางบก" หมายความว่า การลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของด้วยยานพาหนะขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสัตว์ที่เจ็บป่วย และการขนส่งในงานดับเพลิงหรืองานบรรเทาสาธารณภัย โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถให้ผู้บริหารของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งห้า ไม่ใช่การขับรถส่งหรือลำเลียงบุคคลทั่วไป ลักษณะงานของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ใช่งานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3368/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องเงินบำเหน็จ, ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อน, และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า: กรอบระยะเวลาและเงื่อนไขการผิดนัด
ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างกำหนดให้พนักงานมีหนังสือขอรับเงินบำเหน็จจากนายจ้างภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกจากงาน แต่ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมิได้มีข้อจำกัดตัดสิทธิพนักงานที่ไม่ทำหนังสือแสดงความประสงค์ขอรับเงินบำเหน็จภายในกำหนด การที่โจทก์ทำหนังสือเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่โจทก์ได้
ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 เป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) มีอายุความ 2 ปี หาใช่ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ไม่
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค้ำประกันการทำงาน และเงินบำเหน็จ มิใช่เงินที่จะต้องจ่ายทันทีเมื่อมีการเลิกจ้างเช่นเดียวกับค่าชดเชยซึ่งเป็นผลตามกฎหมายอันเกิดสิทธิบังคับให้ชำระหนี้ทันที แต่ผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวจะต้องทวงถามก่อน เมื่อไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อทวงถาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง หาใช่นับแต่วันเลิกจ้างไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน และสิทธิการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า กรณีลูกจ้างมาสายและลางาน
อ. ได้ลาหยุดงาน 8 ครั้ง ในระหว่างการทดลองงานแต่มีการแจ้งด้วยวาจา แม้การลาหยุดงานและขาดงานดังกล่าวจะไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ก็ตาม แต่ก็รับฟังได้ตามบันทึกการมาสายว่า ในระหว่างการทดลองงาน อ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปแผนกบุคคลของโจทก์ มาทำงานสายเป็นประจำในระยะเวลา 2 เดือนเศษ โดยมาทำงานสายถึง 30 ครั้ง เช่นนี้ ถือได้ว่า อ. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสมให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้าง อ. ได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
การที่โจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยและได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย และศาลเห็นว่า จำเลยกำหนดจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ให้โจทก์จ่ายให้แก่ พ. ขาดจำนวนไป ศาลแรงงงานกลางย่อมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 กำหนดจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามจำนวนที่ถูกต้องแท้จริงให้โจทก์จ่ายให้แก่ พ. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างหญิงมีครรภ์ การจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และสิทธิโบนัส/วันหยุดพักผ่อน
ในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงที่ใช้สิทธิลาเพื่อคลอดบุตรยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานใดห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร คงมีเพียง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์" แต่จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์มีครรภ์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, เหตุผลอันสมควร, การไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้พักงานโจทก์และขอให้จ่ายค่าจ้างซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในขณะที่โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นครั้งที่สองโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งโดยมูลเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ถูกจำเลยเลิกจ้างและเรียกร้องในทำนองเดียวกันกับคดีนี้ ก็เป็นการเรียกร้องที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ครั้งแรกแม้คดีทั้งสองจะถึงที่สุดแล้ว แต่ทั้งสองคดีมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในคราวเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทก็แตกต่างกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเกี่ยวกับเงินทดรองโดยโจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลยแต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ได้ยืมเงินทดรองจากจำเลยแล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีเจตนาจะส่งคืน จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและการค้าชำระเงินทดรองยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
โจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลย ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินทดรองและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่โจทก์ก็เพิกเฉยไม่คืนเงินทดรองให้แก่จำเลยทั้ง ๆ ที่จำเลยได้จ่ายเงินค่าเสียหายในระหว่างที่มีคำสั่งพักงานโจทก์ให้แก่โจทก์ไปแล้ว และแม้จำเลยจะมีคำสั่งรับโจทก์กลับเข้าทำงานและมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกันก็เป็นเพียงวิธีการที่จำเลยจำต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อนเท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์ไม่คืนเงินทดรองให้แก่จำเลยก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องเงินทดรองอันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือเลิกจ้างสองภาษา: เจตนาของคู่กรณี และขอบเขตการต่อสู้คดีค่าชดเชย/สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยทำหนังสือเลิกจ้างเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยในฉบับเดียวกัน แม้จำเลยจะเป็นบริษัทต่างประเทศ แต่จำเลยก็ประกอบกิจการในประเทศไทยและโจทก์หรือลูกจ้างอื่น ๆ ของจำเลยก็เป็นคนไทย ฉะนั้นเมื่อมิได้มีข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าในกรณีที่ข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษและข้อความที่เป็นภาษาไทยแตกต่างกันให้ใช้ข้อความส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงต้องถือว่าเป็นกรณีที่มิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับและต้องถือตามข้อความที่เป็นภาษาไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 14
ข้อความภาษาไทยระบุถึงเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงาน ขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายและประสิทธิภาพในการทำงานของโจทก์ไม่เป็นที่ยอมรับของจำเลย สาเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวมิใช่สาเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ฉะนั้น จำเลยจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หาได้ไม่ตามมาตรา 17 วรรคสาม
ข้อห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม หมายถึงจำเลยจะยกเหตุอื่นเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้หากมิได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในเรื่องที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ด้วย ฉะนั้นแม้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงานและขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย จำเลยก็สามารถยกเหตุการณ์การกระทำผิดอื่น ๆของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในคำให้การขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5028/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่ค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามมาตรา 9
ภาษีเงินได้ที่บริษัทจำเลยนำส่งกรมสรรพากรและเงินประกันสังคมที่นำส่งสำนักงานประกันสังคม จำเลยออกให้ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งโจทก์ ซึ่งเงินสองจำนวนดังกล่าวโจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้และลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ต้องชำระโดยจำเลยจะหักจำนวนเงินดังกล่าวไว้จากค่าจ้างและนำส่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อจำเลยมิได้หักเงินดังกล่าวจากค่าจ้างของโจทก์แต่ออกเงินนั้นแทนโจทก์ ภาษีเงินได้และเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จำเลยออกให้จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายกันเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างในกรณีเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 และเป็นเงินที่จ่ายให้สำหรับระยะเวลาที่จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้างมิได้ทำงานให้แก่นายจ้าง ดังนั้น สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 และมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 9 วรรคหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานโดยคำสั่งถอดถอนกรรมการของ ธปท. ศาลตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้าง
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีอำนาจในการที่จะสั่งถอดถอนกรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ใดภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ทวิ ที่แก้ไขแล้วก็ตาม แต่คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด เป็นการกระทำที่ไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง และคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นมิตของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ตามวรรคท้ายของบทบัญญัติข้างต้นด้วย คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีผลเป็นว่าบริษัทเงินทุนมหาทุน จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง
การที่จำเลยยกปัญหาขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ซึ่งยังมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาทดลองงาน นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความพอวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แต่โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลแรงงานกลางต้องสั่งให้สืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ระบุว่า ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน หากจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจหรือด้วยเหตุผลอื่นใดจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะยกเลิกการจ้างงานโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินค่าชดเชย เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจจึงบอกเลิกสัญญาจ้าง อันเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงที่ระบุไว้ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อตกลงทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หมายถึงนายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานนายจ้างจะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้างได้นำบทบัญญัติมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่นได้ และบทบัญญัติมาตรา 17 มิได้มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนั้นไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เข้าเหตุกรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสุดท้าย จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190-2193/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยไม่ยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 118 , 119 มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัย และ ป.พ.พ. มาตรา 583 ก็มิได้บัญญัติยกเว้นไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีเลิกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
of 11