คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หย่า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 284 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนหลังหย่า: การโอนทรัพย์สินและการชำระหนี้ต้องควบคู่กัน
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนการหย่าว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งหมด ส่วนหนี้สินอื่น ๆ กับสถาบันการเงินภายในสองจังหวัดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันหย่า โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระหนี้ทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องของการจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 แต่จำเลยต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้โจทก์ และโจทก์ต้องชำระหนี้แทนจำเลย ถือได้ว่ามีการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกัน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อมิได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า จำเลยจะต้องโอนทรัพย์สินให้โจทก์ก่อน โจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงพร้อมกันไป การที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้โจทก์ ตามมาตรา 369 โจทก์จะยกข้อตกลงเฉพาะที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวมาบังคับจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความและผลกระทบต่อสิทธิเรียกร้องในสินสมรส
การที่โจทก์และ ก. หย่ากันโดยทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินตามใบยอมความและได้กระทำต่อหน้าเจ้าพนักงาน มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายยินยอมที่จะขอจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยความสมัครใจและตกลงแบ่งทรัพย์สินกัน รวมทั้งสวนยางพาราที่ดิน ส.ค.1 ตามฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์และ ก. ประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อใบยอมความเป็นข้อตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับสินสมรส จึงเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับสินสมรสระงับไป โจทก์คงได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในใบยอมความดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์สินตามฟ้องอีก
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป มิได้ขอให้ชนะคดีตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้คือชั้นละ 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5983/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเลือกคู่ครองและการหย่าต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและเหตุตามที่กฎหมายกำหนด
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 28 กำหนดว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น แม้ว่าการเลือกคู่ครองเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกคู่ครองของตนเองได้ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธินั้นได้ การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่พอใจต้องการแยกทางกับจำเลยจึงฟ้องหย่า โดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่โจทก์จะเลือกคู่ครองได้ตามแต่ความพอใจของตนนั้นคงไม่ถูกต้อง เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวของโจทก์ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อจำเลยซึ่งเป็นภริยาและบุตร หากโจทก์ประสงค์จะหย่าขาดจากจำเลยต้องมีเหตุที่อ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 มิฉะนั้น สถาบันครอบครัวในสังคมจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบและมีแต่ความสับสนวุ่นวาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4156/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่าจากเหตุละทิ้งร้างและไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะสามีภริยา
โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้วอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเพียงสองเดือน ต่อมาจำเลยไปรับราชการทหารและปลดเป็นกองหนุนเมื่อปี 2531 หลังจากที่จำเลยปลดประจำการทหารแล้วจำเลยมิได้กลับไปอยู่กินด้วยกันกับโจทก์ฉันสามีภริยา จนกระทั่งปี 2533 โจทก์จึงไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ ฉ. จนมีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเรื่องที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี ตั้งแต่จำเลยปลดประจำการทหารในปี 2531 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการสินสมรสหลังหย่า: สิทธิในการขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียวเมื่อคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอม
คดีก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมโดยตกลงหย่าขาดและแบ่งทรัพย์สิน แต่จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ครบถ้วนสถานภาพของการสมรสระหว่างโจทก์จำเลยยังคงมีผลตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว โดยมีเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการจัดการที่ดินสินสมรสชอบที่โจทก์จะขอเช่นนั้นได้ จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและเป็นคนละประเด็นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6365/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสที่ตกเป็นโมฆะเนื่องจากคู่สมรสมีอยู่แล้ว แม้มีการหย่าภายหลังก็ไม่ทำให้การสมรสสมบูรณ์ได้
ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับพันโท ส. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2525 พันโท ส. จดทะเบียนสมรสกับนาง ส. อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น การสมรสระหว่างจำเลยกันพันโท ส. จึงฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 (เดิม) การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับจำเลยและพันโท ส. มิได้ทำการสมรสกัน จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ แม้ต่อมาภายหลังพันโท ส. จะได้จดทะเบียนหย่ากับนาง ส. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ก็หาทำให้การสมรสระหว่างจำเลยและพันโท ส. กลับมีผลเป็นการสมรสที่ชอบขึ้นมาไม่
การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 (เดิม) มิใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำเอาบทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: แม้หย่าทางศาสนาอิสลาม แต่ยังเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะแยกกันอยู่หรือหย่ากันในทางศาสนาอิสลาม ก็จะถือว่าโจทก์จำเลยขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วมิได้ เพราะมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาปรับใช้มิได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย จำเลยจึงฟ้องขอแบ่งสินสมรสมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหลังหย่า โดยคำนึงถึงความผาสุกและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการคงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่าโดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมาย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการและจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสองประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 1584/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3786/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสหลังหย่า: รถยนต์ที่ซื้อระหว่างสมรส และเงินดาวน์รถที่มาจากเงินขายทรัพย์เดิม
ประเด็นในการฟ้องหย่าในคดีก่อนมีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา แต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสในคดีหลังเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกันแม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่าแต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ที่ดินที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่ชายจำเลย เป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ อันถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลย และมีการนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาท 2 แปลง ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง
โจทก์นำเงินของโจทก์ไปเป็นเงินดาวน์รถยนต์วอลโว่ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน ประกอบจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสองว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสรถยนต์วอลโว่จึงมีสถานะเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่ง เมื่อรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสินสมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ก็ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าค่าเช่าซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่า, ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร, การกระทำละเมิดต่อเนื่อง, และสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนจากสามีภรรยา
โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้
การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก
สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ
of 29