คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เพิกถอนทะเบียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8189/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยใช้เครื่องหมายแพร่หลายก่อนโจทก์จดทะเบียน
จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ "TOT" เพื่อการติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายทั่วไป ขณะที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้คำว่า "TOT" จนเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และไม่ปรากฏว่าโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่สุจริตเช่นใดด้วย การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า ในภายหลัง จึงไม่เป็นสาเหตุที่จะทำให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กลับเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และเป็นการมุ่งหวังให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของจำเลยที่ 1 ไม่ ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งในทำนองว่า จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่รัฐมีนโยบายให้จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ได้ประกอบกิจการโทรศัพท์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2497 อันเป็นเหตุให้รับฟังว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อรัฐประศาสโนบาย โดยไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขัดต่อรัฐประศาสโนบายในประเด็นอื่นอย่างไร จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การเพิกถอนทะเบียนเนื่องจากไม่ต่ออายุ และสิทธิที่ดีกว่าของผู้ฟ้อง
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ที่ใช้กับสินค้าเสื้อผ้าและใช้เป็นชื่อบริษัทอยู่ก่อน จำเลยนำคำว่า "HACKETT" มายื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าเสื้อผ้าเช่นเดียวกันโดยไม่สุจริต แม้โจทก์จะยังไม่ได้ส่งสินค้าเสื้อผ้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นดีกว่าจำเลย
กำหนดระยะเวลาตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 เป็นระยะเวลาการฟ้องร้องคดีอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง มิใช่อายุความฟ้องคดี การที่จำเลยให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ถือได้เท่ากับว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 38 เดิม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2534 เป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มิใช่การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 67 มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ได้ การฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งมิได้กำหนดอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ของจำเลยได้รับการจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม
จำเลยลืมต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ต่อนายทะเบียนภายใน 90 วัน ก่อนวันที่ 16 กันยายน 2544 อันเป็นวันสิ้นอายุ 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง และ 54 วรรคหนึ่ง จึงต้องถือว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้วโดยผลของกฎหมายตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 56 ศาลจึงไม่จำต้องพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์อีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ยื่นคำขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "HACKETT" ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้วตามมาตรา 56 ไม่มีเหตุที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนอีก จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์หรือไม่ มิใช่การวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า: สิทธิเหนือเครื่องหมายการค้าเดิมและการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า "diamond" สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูไว้ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า "diamond" สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูกับสินค้าโครงฝ้าเพดานทำด้วยโลหะลูกเลื่อนประตูทำด้วยโลหะและลูกเลื่อนหน้าต่างทำด้วยโลหะ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์กับที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะมีคำสั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 ตกลงกันเองก่อน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 24 หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 เห็นว่าต่างฝ่ายต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ากันมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตตามมาตรา 27 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 24 หรือมาตรา 27 แต่อย่างใด เนื่องจากมีเหตุบกพร่องในการตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าเพราะความขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 20 อันจะต้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบเสียทั้งหมด แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าบางรายการที่แตกต่างกับที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้ก็ตาม
โจทก์ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว แต่การร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ตามมาตรา 61 ส่วนการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นการอ้างเหตุแห่งการเพิกถอนที่แตกต่างกัน การที่โจทก์ได้ร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์พิสูจน์ว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าและร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญาขายฝาก, ลาภมิควรได้, การคืนเงิน, ดอกเบี้ยผิดนัด, เพิกถอนทะเบียน
เมื่อสัญญาขายฝากที่ดิน น.ส.3 ตกเป็นโมฆะ การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับกล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งก็ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ เพราะเป็นหนี้เงิน แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่าได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่รับไว้และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์: การซื้อขายซ้ำโดยผู้ไม่มีสิทธิ การเพิกถอนการจดทะเบียน
ตามคำเสนอขอเช่าซื้อที่ อ. ขอให้บริษัทโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาให้ อ. เช่าซื้อนั้นระบุชัดเจนว่า ให้โจทก์ซื้อจากบริษัทจำเลยที่ 1 หาได้ซื้อจาก ส. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวไม่ ทั้งการที่โจทก์ชำระราคารถยนต์ก็เป็นการชำระให้จำเลยที่ 1 โดยมีหลักฐานการรับเงินของจำเลยที่ 1 ไว้ มิใช่ ส. เป็นผู้ออกหลักฐานการรับเงิน ดังนั้น แม้คำเสนอขายรถยนต์พิพาท ส. จะลงชื่อเป็นผู้เสนอขายโดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง แต่หนังสือรับรองก็ระบุกรมการของจำเลยที่ 1 ว่ามีเพียง ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ารับประโยชน์ตามคำเสนอขายดังกล่าวโดยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ อ. ผู้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์และเป็นผู้รับชำระราคารถยนต์จากโจทก์ แสดงให้เห็นว่า ส. ทำคำเสนอขายรถยนต์พิพาทต่อโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการกระทำของ ส. แล้ว การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายและเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทตกเป็นของโจทก์ แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ ก็หาทำให้การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เพราะการจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น การที่รถยนต์พิพาทหลุดไปจากการครอบครองของ อ. เพราะเกิดอุบัติเหตุ อ. จึงมอบรถยนต์ให้ ส. ที่บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อซ่อม แต่ ส. ไม่คืนรถยนต์ดังกล่าวให้ แต่จำเลยที่ 1 กลับนำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่บริษัทจำเลยที่ 2 อีก แม้จำเลยที่ 2 จะซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และนำรถยนต์ไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก โดยระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทไม่ การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบกได้ แต่จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริต สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองบังคับคู่สัญญาได้ เพียงแต่ไม่อาจใช้ยันโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลอกเลียนเครื่องหมายการค้า: ศาลพิพากษาเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
จำเลยอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 35 เป็นบทบัญญัติที่ให้บุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วมีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ภายในกำหนด 90 วัน หากไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจที่จะดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอต่อไปได้ตามมาตรา 40 ส่วนเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนหากได้รับผลกระทบจากการรับจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ยังคงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ภายใน5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 40ทั้งนี้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อกำหนดจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนว่าจะต้องยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนฟ้องคดีไม่
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ARROW ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ไว้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันกับโจทก์และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยมีผลกระทบต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้า ARROW ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีส่วนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตั้งแต่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่งไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 35 ไว้หรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกเครื่องหมายมีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า ARROWส่วนคำอื่นหรือรูปลูกศรที่ประกอบคำว่า ARROW เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น และความสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ที่เสียงเรียนขานคำว่า ARROW ซึ่งอ่านออกเสียงว่า "แอโร่"ยิ่งกว่าความหมายของคำที่แปลว่าลูกศร เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำในภาษาต่างประเทศเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในส่วนที่เป็นคำและใช้อักษรโรมันมี 2 พยางค์ เท่ากัน โดยเฉพาะพยางค์หลังจะอ่านออกเสียงว่า "โร่"เหมือนกันส่วนพยางค์ต้นของโจทก์อ่านออกเสียงว่า"แอ"พยางค์ต้นของจำเลยอ่านออกเสียงว่า "แม" จึงนับได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะพึงรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) และ 13(2)จำเลยย่อมไม่มีสิทธิใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ได้ โจทก์ซึ่งใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ARROW มาก่อน มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยและมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ดีกว่าจำเลย ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องพิพากษาให้จำเลยไปเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าMARROW หรือให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยอีก และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาตามคำขอของโจทก์โดยห้ามจำเลยใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้า MARROW อีกต่อไปนั้น เป็นคำขอบังคับที่มุ่งบังคับถึงการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงให้จำกัดข้อห้ามการกระทำของจำเลยเฉพาะในลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในคดีนี้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการปรับบทกฎหมาย แม้ไม่มีคำขอเพิกถอนโดยตรง ศาลสามารถพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของฟ้องแย้งได้
ฟ้องแย้งของจำเลยไม่ได้ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้แก่จำเลย กับห้ามโจทก์ใช้หรือขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้เกิดผลให้โจทก์สิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตามวัตถุประสงค์ในคำขอของจำเลยดังกล่าวตามที่จำเลยมีสิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67จึงเป็นการพิพากษาปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของฟ้องแย้งไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคหนึ่งเพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าเดิม ผู้โต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ละเมิดได้ แม้คำสั่งคณะกรรมการฯ จะไม่เป็นคุณ
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้จะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้ จดทะเบียนในประเทศไทยก็อาจฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า อันได้จดทะเบียนไว้แล้วได้หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อประกอบกับ มาตรา 41(1) ที่ให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่แสดงได้ว่าตนมีสิทธิใน เครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ อาจร้องขอให้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ โจทก์ซึ่งอ้างตนว่าเป็น ผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยทั้งสอง จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองได้
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้กล่าวอ้างถึงการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อศาลตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับในภายหลัง แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลในการกระทำของจำเลยทั้งสองที่นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8834/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเนื่องจากคล้ายกับเครื่องหมายทีมฟุตบอลต่างประเทศที่แพร่หลายจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8(11) เป็นบทบัญญัติห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะได้รับจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดแล้วหรือไม่ และห้ามนายทะเบียนโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มิได้ให้คำนิยามหรือความหมายของคำว่า "เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป" เอาไว้ด้วย เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้ารวมทั้งที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าปลอมหรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ข้อตกลงทริปส์(TRIPsAgreement) อยู่ด้วยซึ่งในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติในข้อ 6 ทวิ แห่งอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (1967) บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงความเป็นที่รู้จักของเครื่องหมายการค้านั้นในกลุ่มของสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเป็นที่รู้จักกันในประเทศภาคีสมาชิกนั้นอันเป็นผลเนื่องมาจากการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วยอนุสัญญากรุงปารีส ข้อ 6 ทวิ (1)ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ประเทศภาคีสมาชิกตกลงไม่รับจดทะเบียนหรือเพิกถอนการจดทะเบียนและห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่เกิดจากการทำซ้ำเลียนหรือแปลเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในประเทศที่จดทะเบียนหรือใช้เครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนกับเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งเป็นของบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองตามอนุสัญญานี้ และได้ใช้สำหรับสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน ทั้งนี้ไม่ว่าจะโดยอำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงาน หรือโดยการร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียบทบัญญัติดังกล่าวนี้บังคับกับกรณีที่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเป็นการทำซ้ำ ซึ่งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป หรือเป็นการเลียนเครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนหลงผิดด้วยแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญา กรุงปารีสแต่ประเทศไทยก็ได้ให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และประเทศไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกประเทศหนึ่งในข้อตกลงทริปส์ ซึ่งโดยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศประเทศไทยมีพันธกรณีต้องผูกพันตามข้อตกลงทริปส์อันเป็นความตกลงระหว่างประเทศนั้นด้วย ดังนี้ ความหมายหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์ จึงอาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการตีความหรือแปลความหมายของคำว่า "เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป" ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ 39068 มีลักษณะเป็นรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบน ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบนของสโมสรฟุตบอลเอซีมิลาน แตกต่างกันเพียงขนาดของเครื่องหมายเท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39067 ที่มีลักษณะคล้ายโล่ซ้อนกัน 2 ชั้น รูปโล่ชั้นในมีรูปถ้วยรางวัลและมีลายเป็นเส้นตรงแนวตั้งจำนวน 4 เส้น มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายรูปโล่ของสโมสรฟุตบอลปาร์มาเอซี แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวไม่มีรูปถ้วยรางวัล แต่มีเครื่องหมายเป็นรูปกากบาทแทนกับมีคำว่า "PARMAA.C." อยู่ด้านบน และรูปโล่มิได้มี 2 ชั้น อย่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39066 เป็นรูปคล้ายโล่มีตัวอักษรโรมันเด่นชัด 3 ตัว คือ AFA และรูปหรีดใบไม้อยู่ภายในคล้ายกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่ของทีมฟุตบอลชาติอาร์เจนตินาซึ่งมีตัวอักษรโรมันว่าAFAพร้อมพู่ดอกไม้คล้ายหรีดของโจทก์ห้อยลงมา ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39254 ที่เป็นรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ในวงกลมก็คล้ายกับเครื่องหมายรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ภายในวงกลมของสโมสรฟุตบอลอาแอกซ์อัมสเตอร์ดัม ต่างกันเพียงเครื่องหมายของโจทก์ไม่มีคำว่า"AJAX" อยู่ด้านบนโค้งของวงกลมเยื้องไปทางซ้าย กับไม่มีคำว่า"AMSTERDAM" อยู่บนโค้งของวงกลมด้านล่างเยื้องมาทางขวาอย่างในเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวเท่านั้น ลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวทุกประการคงแตกต่างกันเฉพาะในส่วนปลีกย่อยเท่านั้น เมื่อนำเครื่องหมายดังกล่าวไปติดกับเสื้อกีฬาหากไม่สังเกตให้ดีและด้วยความระมัดระวังย่อมยากที่จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวได้ เมื่อได้นำเครื่องหมายนั้นไปใช้กับสินค้าเสื้อกีฬา ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเสื้อกีฬานั้นได้เครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยและรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอลย่อมถือได้ว่าเครื่องหมายของทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงอย่างทีมชาติอาร์เจนตินาทีมสโมสรเอซีมิลานจูเวนตุสปาร์มาเอซีและอาแอกซ์อัมสเตอร์ดัมเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอลอันเป็นกลุ่มของสาธารณชนส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการพิจารณาว่าเครื่องหมายใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งห้าเครื่องหมายของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศ และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าเสื้อกีฬาเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้เครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวจะยังมิได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ตามเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กรณีเช่นนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นได้ตามมาตรา 61 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ตามมาตรา 65

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7508/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การเพิกถอนทะเบียนเมื่อสินค้ามีลักษณะเดียวกันและอาจทำให้สาธารณชนสับสน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยอันเป็นการอ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67ในการวินิจฉัยปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 67 ได้เพียงใดหรือไม่ ย่อมจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยหรือไม่ ซึ่งนอกจากจะต้องพิจารณาถึงความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าและสิทธิของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาก่อนที่จำเลยขอจดทะเบียนแล้ว ยังต้องพิจารณาด้วยว่าสินค้าของโจทก์กับสินค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนไว้เป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ซึ่งหากใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันแล้วจะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้าหรือไม่ด้วย
สินค้าเยลลี่ดูดและดับกลิ่นของโจทก์ กับสินค้าวัสดุใช้ปรับอากาศให้สดชื่นของจำเลยที่ขอจดทะเบียนไว้เป็นสินค้าอยู่ในจำพวกที่ 5 ด้วยกัน แม้อาจจะใช้สารหรือวัสดุที่ทำให้เกิดผลในการปรับกลิ่นในอากาศต่างชนิดกัน แต่ลักษณะหรือวัตถุประสงค์ในการใช้สินค้าดังกล่าวก็เพื่อกลบหรือขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เหมือนกันจึงถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน หรือเป็นชนิดเดียวกัน เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า LILY กับสินค้าของโจทก์มาก่อนที่จำเลยจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า LILY กับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์ อันอาจทำให้สาธารณชนหลงผิดได้เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า LILY ดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
of 4