คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 67 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลพิพากษาให้รับกลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหายได้ แม้ไม่ได้ทำงานในช่วงเวลาที่ถูกเลิกจ้าง
จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างออกจากงาน ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว การที่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการ ฯ ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ก็ไม่เป็นข้อจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างลูกจ้างถูกพักงานและถูกเลิกจ้างจนถึงเวลาที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 เมื่อจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยแม้โจทก์จะไม่ได้ทำงานให้เลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5320-5325/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณากำหนดค่าเสียหาย แม้คำฟ้องใช้คำว่า 'ค่าชดเชยพิเศษ'
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและบรรยายว่าโจทก์อายุมากแล้ว ทำงานมานาน ต้องเดือดร้อนเพราะมีภาระและการหางานใหม่ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ไม่ได้ใช้คำว่าค่าเสียหาย เมื่ออ่านคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโดยตลอดแล้ว ย่อมชัดเจนพอที่จะตีความได้ว่าหมายถึงขอให้พิจารณาความเสียหายและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางตีความว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นการตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ไม่ใช่กรณีมีข้อสงสัยจนต้องนำมาตรา 11 มาตีความ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9096/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, ค่าจ้าง, และการเปิดเผยข้อมูลในใบสมัครงาน: ศาลฎีกาพิพากษาให้จ่ายค่าชดเชย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยามศัพท์คำว่า ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ ฯลฯ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน วัตถุประสงค์ของการที่จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้านจึงเป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติ แม้จะมีการจ่ายเงินจำนวนนี้แน่นอนทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้าง
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 10 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.3 ความซื่อสัตย์สุจริต ข้อ 3.3.2 พนักงานต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนตามที่บริษัท ฯ ต้องการแก่บริษัท ฯ ตามความเป็นจริง และถ้าข้อมูลที่ได้แจ้งแล้วไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พนักงานต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัท ฯ ทราบโดยเร็วที่สุดนั้น ย่อมมีผลใช้บังคับแก่บุคคลที่เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันไปถึงบุคคลภายนอกด้วย ขณะที่โจทก์กรอกข้อความลงในใบสมัครงานโจทก์ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย และเป็นบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ส่วนที่ตอนท้ายของใบสมัครงานมีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอรับรองว่ารายละเอียดดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นความสัตย์จริงทุกประการ หากภายหลังที่ได้เข้ามาทำงานแล้วปรากฏว่ามีข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นความเท็จ บริษัท ฯ มีสิทธิที่จะลงโทษและ/หรือเลิกจ้างโดยให้ข้าพเจ้าออกจากงานได้ทันทีตามแต่กรณีนั้น อาจเป็นเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างที่ให้สิทธิแก่นายจ้างลงโทษลูกจ้างหรือเลิกสัญญาจ้างได้เป็นการเฉพาะราย แต่ก็มิใช่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น แม้จะได้ความว่าโจทก์กรอกข้อความในใบสมัครงานเป็นเท็จ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ทั้งไม่สูญเสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
นับตั้งแต่ที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานควบคุมเครื่องจักร โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร จนได้รับเบี้ยขยันและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นพนักงานของจำเลย แม้โจทก์จะเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญามาก่อน แต่ก็เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์และคดีระงับสิ้นลงแล้วก่อนที่จะมาเป็นพนักงานของจำเลยประมาณ 2 ปี ทั้งเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรให้แก่จำเลย จึงมิใช่เรื่องร้ายแรง การที่จำเลยอาศัยเหตุดังกล่าวเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงาน, การเบิกเงินเดือนล่วงหน้า, เหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจศาลในชั้นอุทธรณ์
การพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ มิใช่ว่าเมื่อฟังว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตยักยอกทรัพย์ของบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้วจะต้องถือว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถือโอกาสที่เป็นตัวแทนของผู้บริหารจำเลยขอเบิกและอนุมัติจ่ายเงินเดือนล่วงหน้าให้ตัวเองทุกเดือนรวม52 ครั้ง เป็นเงินกว่าล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าจำเลยกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนทำให้กิจการของจำเลยเสียหาย นับว่ามีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจให้โจทก์บริหารกิจการของจำเลยต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างที่ค้างค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งจำเลยให้การว่าโจทก์ยักยอกเงินของจำเลยไปและตกลงจะผ่อนชำระคืน แต่ไม่ยอมชำระ จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินที่ยักยอกไปคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งสภาพแห่งข้อหาคือเหตุที่จำเลยมีสิทธิเหนือโจทก์เกิดจากการที่โจทก์ยักยอกเงินจำเลยไป โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลย ฟ้องแย้งดังกล่าวจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31 แล้ว ฟ้องแย้งจำเลยไม่เคลือบคลุม
การที่โจทก์จะยกเรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานหรือไม่นั้น โจทก์จะต้องยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาท เพื่อจะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานจะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9วรรคสอง บัญญัติให้เป็นที่สุด เมื่อโจทก์มิได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งแสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยได้ การที่โจทก์เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเสียหาย และการหักกลบลบหนี้ค่าจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสองการที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญาและไม่ใช่เป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420ส่วนการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 วรรคสี่,121 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี และหากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ก็ชอบจะได้รับค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิใช่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด
ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้กู้ยืมเงินจาก ค. ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย โจทก์ตกลงผ่อนชำระโดยให้หักจากค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือน โจทก์ยังค้างชำระอยู่ประมาณ330,000 บาท เหตุที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่โจทก์เพราะเมื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้ ค. อยู่อีกมากและโจทก์ไม่เคยทวงถาม ดังนี้จำเลยจึงเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถจะหักกลบลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยกับเงินกู้ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ ค. ได้แม้จำเลยจะไม่อาจหักกลบลบหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 76 ก็ตาม แต่ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายของเดือนพฤศจิกายน 2541จำนวน 30,300 บาท และของวันที่ 1 ถึง 8 ธันวาคม 2541 จำนวน8,000 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 10,300 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว ส่วนค่าจ้างของวันที่ 9 ถึง 31ธันวาคม 2541 และเงินโบนัสโจทก์ไม่ได้บรรยายและขอมาในคำฟ้องโจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3974/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากนายจ้างที่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้ไม่ได้ทำงานต่อเนื่อง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาว่าจำเลยเป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ แม้โจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าจ้าง แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหาย ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ โจทก์สามารถทำงานให้นายจ้างตลอดมา แต่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยได้เลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยแม้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ตอนหนึ่งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อทำลายและกำจัดโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อีกทั้งจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(2) และมาตรา 123 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน ทั้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้มีหลักเกณฑ์และไม่ได้มีการประเมินผลตัวโจทก์ หลังจากเลิกจ้างโจทก์แล้วยังรับคนอื่นเข้ามาทำงานแทนโจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ อันเป็นการกล่าวหาว่าการเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยเหตุที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อศาลแรงงานได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก่อน กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6458-6461/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้างกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, การคำนวณดอกเบี้ยค่าจ้างค้างจ่าย และการใช้สิทธิฟ้องร้องของลูกจ้าง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเคยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ในอัตราวันละ 30 บาท โจทก์แต่ละคนได้รับเฉลี่ยเดือนละ 780 บาท ต่อมาจำเลยไม่จ่ายซึ่งคำนวณแล้วเป็นเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม2543 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงาน และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้จำเลยจ่ายเพียงอัตราเดือนละ 500 บาท ทั้งที่กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเดือนละ 780 บาท แต่ต้องถือได้แน่นอนว่าโจทก์เรียกร้องเงินจำนวนนี้ตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดไม่เคลือบคลุม
แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 39 จะใช้คำว่า "ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท"ก็ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดให้ต้องจดประเด็นข้อพิพาททุกคดี คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะจดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้
การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับมาพอให้วินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยาน เป็นการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดี อุทธรณ์จำเลยที่โต้แย้งดุลพินิจดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่คู่ความทำได้ เมื่อจำเลยตั้ง ภ. เป็นทนายความของจำเลยภ. จึงมีฐานะเป็นคู่ความ มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาอันรวมถึงการแถลงรับข้อเท็จจริงด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 คำแถลงรับของ ภ. จึงผูกพันจำเลยด้วย
โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางและชักชวนให้ลูกจ้างอื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากจำเลยปรับลดค่าจ้างโดยไม่มีอำนาจ การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างส่วนที่จำเลยปรับลดอันเป็นค่าจ้างค้างจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 และใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นของจำเลยกระทำตามก็เป็นการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นใช้สิทธิตามกฎหมายเช่นกัน การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายเป็นหนี้เงิน ซึ่งจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041-6048/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม: ไม่ต้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนฟ้อง
แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ตอนหนึ่งว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน แต่จำเลยมีกำไรและมีทรัพย์สินนับพันล้านบาทสามารถหามาตรการหรือวิธีการอื่นแทนการเลิกจ้างได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ อันเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49 ด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ก่อน และไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 8 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813-2839/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต้องพิจารณาข้อเรียกร้องก่อน หากไม่มีเหตุผลตามกฎหมาย นายจ้างต้องรับผิดชอบ
การเลิกจ้างที่จะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 นั้น จะต้องปรากฏว่ามีการแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างและคู่กรณีสามารถตกลงกันได้หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำชี้ขาดตามมาตรา 13,22,24 แล้วในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้นโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ส่วนการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49 หมายถึงการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควรซึ่งอาจเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยต้องการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของจำเลยใหม่ ไม่ต้องการจ้างพนักงานเอง จะว่าจ้างบริษัทอื่นมาดำเนินงานแทน และจำเลยประสงค์จะเลิกจ้างพนักงานก่อนที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541จะมีผลใช้บังคับ หาได้ปรากฏว่าได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าได้มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นกรณีจึงไม่ต้องด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 จึงไม่ต้องพิจารณาว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างนั้นเกิดจากกระทำความผิดของโจทก์ตามข้อยกเว้นในมาตราดังกล่าวหรือไม่ กรณีต้องปรับด้วยการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 ซึ่งมิได้บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างยกเหตุที่มิได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์จำเลยจึงอ้างเหตุว่าจำเลยประสบภาวะการขาดทุนต้องปิดกิจการสาขาในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ขึ้นต่อสู้ได้ศาลชั้นต้นจึงสามารถรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวและนำมาวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
ข้อเท็จจริงได้ความว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรก เป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้เฉพาะกับลูกจ้างของจำเลยที่สำนักงานใหญ่ในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนลูกจ้างที่สาขาในประเทศไทยใช้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับหลัง โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่สาขาในประเทศไทย ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องบังคับด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับหลังโจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามจำนวนตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับแรกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้ไม่ได้ยื่นคำร้องต่อ กสร. ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายแทนการรับกลับเข้าทำงาน
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างบางกรณีอาจเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วยก็ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ทุจริตนำหนังสือพิมพ์สำหรับจัดส่งให้แก่สมาชิกของจำเลยไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ และโจทก์ไปซื้อหนังสือพิมพ์จากตัวแทนแล้วนำไปจำหน่าย เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อนที่จะเลิกจ้างจำเลยก็ไม่ได้สอบสวนโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม เป็นการฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นผู้เข้าร่วมในการต่อสู้ขัดขวางขจัดความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การกระทำของฝ่ายบริหารจำเลยนั้นก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิม โดยมิได้ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ถือว่าเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์ประกอบกับในการกำหนดค่าเสียหาย ดังกล่าว ศาลแรงงานกลางก็ได้ยกเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในเรื่องอายุ ของโจทก์ ระยะเวลาการทำงานของโจทก์ ความเดือดร้อนของโจทก์เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่โจทก์ จะได้รับประกอบการพิจารณาโดยละเอียดครบถ้วน จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 51
of 7