คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เหตุเลิกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 87 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนระเบียบและรับเงินจากตัวแทนบัตรเครดิต ศาลฎีกาวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างสมควร
โจทก์เป็นลูกจ้างฝ่ายบัตรเครดิตของจำเลย มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พิจารณาสินเชื่อ มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติวงเงินให้แก่ผู้สมัครบัตรเครดิต การที่โจทก์พิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตให้แก่ผู้สมัคร โดยได้อนุมัติก่อนที่จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานของฝ่ายอนุมัติบัตร และไม่ได้ตรวจสอบสถานะของผู้สมัครและเอกสารของผู้สมัครว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องหรือไม่ เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและ ศ. ผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้าของโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์ก่อนเป็นหนังสือ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 แต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยดังกล่าว เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8854/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงานนอกเวลางานและนอกสถานที่ทำงาน ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบวินัยร้ายแรง
ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของนายจ้างที่กำหนดให้การประพฤติตัวเป็นอันธพาลและกระทำผิดทางอาญาต่อเพื่อนร่วมงานเป็นระเบียบวินัยที่ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ได้ ซึ่งนายจ้างอาจลงโทษได้ถึงเลิกจ้างนั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4)
น. และ ป. ลูกจ้างโจทก์ทำร้ายร่างกาย พ. ลูกจ้างโจทก์ด้วยกันเพียงคนเดียว สาเหตุเกิดจากการทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องส่วนตัว มิใช่ น. และ ป. เกะกระระรานหาเรื่อง พ. แต่ฝ่ายเดียวการกระทำของบุคคลทั้งสองยังไม่ถึงขนาดประพฤติตนเป็นพาลเกเรแกล้งทำให้ พ. เดือดร้อนโดยไม่มีสาเหตุ อันเป็นการประพฤติตนเป็นคนเกะกะระรานตามความหมายของคำว่าอันธพาล ทั้งเป็นเรื่องลูกจ้างทำร้ายกันเองนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลางานไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์โดยตรง จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ถือไม่ได้ว่าบุคคลทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) โจทก์เลิกจ้างบุคคลทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7922/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: นายจ้างนำพยานหลักฐานเหตุอื่นมาต่อสู้ได้ หากเหตุนั้นเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติลูกจ้าง
ข้อห้ามไม่ให้นายจ้างอ้างเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ในภายหลังตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม นั้น จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย ไม่รวมถึงสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังนั้น แม้จำเลยจะระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ไม่สามารถขายสินค้าให้ได้ยอดตามเป้าหมายที่จำเลยกำหนดไว้จำเลยก็สามารถต่อสู้ว่า เพราะโจทก์ไปทะเลาะกับลูกค้าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพื่อให้เห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ และการที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงานนั้น ย่อมหมายความว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติพอที่จำเลยจะให้เป็นพนักงานขายต่อไป ซึ่งรวมถึงความสามารถในการขายสินค้า ความอดกลั้นและการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า จำเลยจึงสามารถนำสืบว่าระหว่างไปทวงหนี้ โจทก์ไปทะเลาะกับลูกค้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ขาดความอดกลั้นและไม่มีมนุษยสัมพันธ์ในการเป็นพนักงานขายที่ดี ซึ่งอยู่ในประเด็นคำให้การของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5912/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แม้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้
การที่โจทก์มีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณา จนมีคำสั่งฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาล และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลว่าโจทก์กระทำผิดตามฟ้อง ก็ถือว่าโจทก์ประพฤติชั่วอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ 9 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษข้อ 19 ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้างต้องตรงกับที่แจ้งในหนังสือเลิกจ้าง การเลิกจ้างด้วยเหตุประมาทเลินเล่อไม่ถึงขั้นเลิกจ้าง
คำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกนั้นอ้างเหตุแต่เพียงว่าโจทก์ได้เก็บเงินค่าโดยสารแล้วตัดตั๋วให้ผู้โดยสารไม่ครบราคา เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ มิได้อ้างว่าโจทก์ได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย จำเลยก็ชอบที่ยกเหตุที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือไว้แล้วซึ่งนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งของจำเลยอันเป็นหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ไม่ได้
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเงินค่าโดยสารจากผู้โดยสารเป็นธนบัตรฉบับละ 20 บาท โจทก์ได้ตัดตั๋วราคา 6 บาท และทอนเงิน 4 บาท ให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งเป็นการตัดตั๋วไม่ครบราคา โดยโจทก์ไม่มีเจตนาเบียดบังเงินจำนวน 10 บาท เป็นของตนโดยทุจริต แต่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเพียงเล็กน้อย ดังนี้การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งของจำเลยกรณีที่ไม่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชย และย่อมเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8734/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานฝ่าฝืนระเบียบร้ายแรง การระบุเหตุในหนังสือเลิกจ้างเพียงพอต่อการยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย
หนังสือเลิกจ้างระบุว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ5.1.1,?.,5.1.14 ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง เป็นการระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างเลิกจ้างโจทก์แล้ว ส่วนพฤติการณ์การกระทำของโจทก์เป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยจึงยกเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงขึ้นอ้างในคำให้การเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) กรณีไม่ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7560/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกจ้างโดยไม่ตรงเหตุ ผลักดันให้จ่ายค่าชดเชยแม้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
แม้ในระหว่างการทำงานโจทก์ลาป่วยและมาทำงานสายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยการลา ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตักเตือนโจทก์ในเรื่องดังกล่าวด้วยวาจาและเป็นหนังสือ จำเลยได้ลงโทษโจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนหลายครั้งซึ่งจำเลยอาจอ้างความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ก็ตาม แต่หนังสือเลิกจ้างของจำเลยเพียงแต่อ้างเหตุที่ให้โจทก์ออกจากงานว่าการกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของตน ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และบกพร่องในหน้าที่เท่านั้น จำเลยมิได้อ้างเหตุความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุโดยตรงในการเลิกจ้าง จึงต้องถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเลิกจ้างโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว นอกจากนี้ตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 34 ซึ่งเป็นอำนาจของจำเลยในการเลิกจ้างโจทก์ ก็ระบุว่าพนักงานที่ต้องพ้น จากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34 ให้ถือว่าเป็นการออกจากตำแหน่งหน้าที่โดยมิได้กระทำความผิด มีสิทธิได้รับบำเหน็จอีกด้วย จำเลยจึงหยิบยกอ้างความผิดของโจทก์ซึ่งมิได้ระบุเป็นเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือให้โจทก์ออกจากงานมาเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กว้างกว่าเหตุเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49หรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 แต่เมื่อปรากฏว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทำงานบกพร่องหลายครั้งผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นและมีลูกค้าส่งสินค้าคืนมาหลายครั้ง ทำให้จำเลยเสียหาย ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะมีข้อโต้เถียงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินทีค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาลาออกมีผลผูกพัน แม้ต่อมานายจ้างอ้างเหตุเลิกจ้าง สัญญาเดิมยังคงมีผลบังคับใช้
จำเลยทำคำเสนอให้โจทก์ลาออกโดยยอมจ่ายเงินเพื่อตอบแทนการลาออก ซึ่งโจทก์มีคำสนองรับคำเสนอของจำเลยโดยการลาออก จึงเกิดสัญญาขึ้นระหว่างจำเลยกับโจทก์และมีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกการที่ภายหลังจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ก็หามีผลตามกฎหมายไม่เพราะขณะนั้นโจทก์และจำเลยมิได้มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งมิใช่เหตุตามข้อสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวมาเพื่อบอกเลิกสัญญาที่ทำกับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จำเป็นต้องพิสูจน์ความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นอกเหนือจากเหตุตามกฎหมาย
โจทก์ปรับปรุงระบบการทำงานแล้วลดจำนวนพนักงานที่ไม่จำเป็นลงรวมทั้งจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วย การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ เนื่องจากต้องการปรับปรุงระบบการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านธุรกิจมีความเจริญก้าวหน้าและกำไรมากขึ้นดังกล่าว มิใช่ความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขเพื่อให้กิจการดำรงอยู่ต่อไปได้ไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แม้โจทก์ได้จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่จำเลยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามข้อบังคับการทำงานครบถ้วนแล้ว ก็เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในการเลิกจ้างกรณีปกติมิใช่เป็นการจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลย
of 9