คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพัน แม้จำเลยไม่ใช่คู่ความเดิม การตกลงโอนที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาท
เดิมโจทก์ฟ้อง บ. เรียกที่ดินพิพาทคืนเพราะเหตุเนรคุณ ระหว่างพิจารณาในคดีดังกล่าว จำเลยซึ่งซื้อที่ดินมาจาก บ. (ก่อนที่ บ. จะถูกฟ้อง) ได้มาเจรจาและตกลงกับโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า จำเลยยินยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ และโจทก์สัญญาว่าจะไม่ทำนิติกรรมก่อให้เกิดภาระผูกพันตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ดังนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 850 ประกอบข้อตกลงดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า จำเลยได้เข้าผูกพันตนโดยสมัครใจตกลงที่จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ อันเป็นการแสดงเจตนาที่มุ่งจะก่อนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โดยโจทก์จะต้องไม่ทำนิติกรรมก่อให้เกิดภาระผูกพันในที่ดินพิพาทตลอดชีวิตของโจทก์ ซึ่งเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ของคู่สัญญาต่อกันแล้ว แม้จำเลยจะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่จำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อในฐานะคู่สัญญาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้ว ทั้งจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก บ. ด้วย โจทก์จึงอาจฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนหรือเพิกถอนที่ดินพิพาทจากจำเลยต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในภายภาคหน้า อันเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ส่วนที่ศาลกำชับให้โจทก์เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบหากตกลงกันไม่ได้นั้นก็เป็นขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเท่านั้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วไม่ชักช้า ข้อความดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3496/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ: จำเลยโอนที่ดินให้ผู้อื่นก่อน โจทก์ขอขายทอดตลาดไม่ได้
ในขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้น จำเลยได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยจึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ให้จำเลยต้องใช้ราคาที่ดิน หากจำเลยไม่อาจโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่า หากจำเลยผิดนัดไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่ง จำเลยยอมให้โจทก์บังคับคดีทันทีก็ไม่ได้หมายความว่าหากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินทั้งสิบแปลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ จำเลยจะต้องชำระราคาที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยผิดสัญญาอย่างใด โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นคดีอื่นต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2533/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินชำระหนี้เช็ค ไม่ใช่หนี้กู้ยืมตามสัญญากู้ยืม ทำให้การโอนไม่เป็นโมฆะ
การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า ศ. นำโฉนดที่ดินที่พิพาทไปมอบให้จำเลยเพื่อโอนชำระหนี้เงินยืม 1,500,000 บาท เป็นการนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้โฉนดที่ดินที่พิพาทมาอย่างไร โดยมิได้อ้างถึงหนังสือสัญญากู้เงินและมิได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินมาแสดง แม้จะมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินที่ระบุว่ามอบโฉนดที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันก็ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่ ศ. ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ค้างชำระอยู่ มิใช่หนี้ตามสัญญากู้ยืมที่มีการออกเช็คนั้นชำระหนี้ จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 656 มาปรับใช้ได้ ความตกลงในการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6697/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับเงื่อนไขการโอนที่ดินหลังสัญญาจะซื้อขาย โดยการสืบพยานคนกลาง ศาลต้องตัดสินตามคำเบิกความ
คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่ดินพิพาทหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากสามารถจดทะเบียนโอนได้ โจทก์จะยอมแพ้ หากไม่สามารถโอนได้ จำเลยทั้งสี่จะยอมแพ้คดี และตกลงให้สืบพยานคนกลางเพียงปากเดียว โดยให้ศาลถามพยานว่าที่ดินพิพาทสามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ แล้วตัดสินคดีไปตามนั้น พยานคนกลางเบิกความตอบคำถามว่า ที่ดินพิพาทถึงแม้จะทำกัน (หมายถึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย) ภายหลังที่ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับ หากคู่สัญญายืนยันรับผิดชอบกันเองก็สามารถที่จะโอนกันได้ตามกฎหมาย คำเบิกความของพยานคนกลางจึงตรงตามคำท้าและสมฝ่ายจำเลย เพราะรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 แล้ว โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5190/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้ เจ้าหนี้ฟ้องทายาทได้ แม้ไม่ได้ร่วมโอน
โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่า ย. เป็นหนี้ภาษีอากรแก่โจทก์ ก่อนตาย ย. โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาเพื่อให้พ้นการยึด โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่าง ย. กับจำเลยที่ 1 คำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องเพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นความรับผิดส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับการให้แล้ว ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นบุตรและเป็นทายาทโดยธรรมของ ย. เป็นการบรรยายฟ้องแสดงถึงความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทซึ่งกองมรดกของ ย. ตกทอดแก่บุคคลดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1600 เมื่อคดีร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ ย. ได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบเป็นความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน จึงเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทซึ่งทายาทคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้ ฟ้องโจทก์เท่านี้เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจถึงสภาพแห่งข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรม มิใช่รับผิดในฐานะส่วนตัวอย่างจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้รับการให้โดยเสน่หา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แม้ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8097/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: การโอนที่ดินโดยเสน่หา และการซื้อร่วมกัน ถือเป็นประเด็นที่ศาลวินิจฉัยได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีและภริยากันได้ร่วมกับนายฉายซื้อที่ดินพิพาท โดยใส่ชื่อนายฉายเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายฉายได้โอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทโจทก์และจำเลยไม่ได้ร่วมกันซื้อ แต่นายฉายเป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว และภายหลังต่อมาได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ดังนั้น ประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวและจำเลยได้มาโดยการซื้อร่วมกับโจทก์หรือได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากนายฉาย จึงเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทจำเลยรับโอนมาจากนายฉายโดยเสน่หาและเป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงที่ดิน แม้คดีขาดอายุความ ศาลสั่งให้โอนได้ตามสัญญา
โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์: การโอนที่ดินตามสิทธิเดิมชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้แก่ จ. โดยให้ จ. ชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญา การที่ จ. ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว ทั้งจำเลยได้มอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจให้แก่ จ. ไปดำเนินการโอนที่ดินก่อนศาลชั้นต้น มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จึงเป็นการที่ จ. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้ว คงเหลือแต่เฉพาะหน้าที่ของจำเลยที่ต้องดำเนินการโอนที่ดินให้แก่ จ. ถือว่าเป็นสิทธิตามคำพิพากษาที่ จ. จะรับไปเพียงฝ่ายเดียว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ใด ๆ ตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือตามคำพิพากษาดังกล่าวอีก กรณีมิใช่สิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่พึงได้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะปฏิเสธไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิดังกล่าว เช่นนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการที่จะจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 22 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านไม่คัดค้านคำร้องขอให้ถอนการยึดในคดีแพ่งและมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการโอนที่ดินให้แก่ จ. ตามสิทธิที่ จ. มีอยู่ตามคำพิพากษาของศาลจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และกรณีดังกล่าวนี้ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 145(1) ถึง (5) จึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมที่ไม่สมบูรณ์ตามฟอร์ม แต่มีเจตนาชัดเจนในการชำระหนี้ด้วยการโอนที่ดิน และผลของสัญญาค้ำประกันที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์
จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงจะชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 แทนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ในขณะทำสัญญาแต่ตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 หากไม่โอนยินยอมชดใช้เงิน ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าทำนองเบี้ยปรับ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118
สัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต แม้เป็นสัญญาค้ำประกันหนี้อันสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงถือว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยโจทก์ทั้งสองยังคงได้รับชำระเงินจากจำเลยทั้งสอง เพียงแต่ได้รับชำระเป็นจำนวนน้อยกว่าจำนวนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองจึงยังเป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งความรับผิดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองฝ่ายที่แพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินธรณีสงฆ์ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ การโอนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายเป็นโมฆะ
เจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องกระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 คือ โอนกรรมสิทธิ์โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินดังกล่าวจะได้มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลย เมื่อมิได้กระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยออกจากที่ดินซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ได้ โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยไม่ กรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
of 33