คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การละเมิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2494 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาทระหว่างคดี: สิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ถือเป็นการละเมิด
โจทก์จำเลยต่างแย่งกันเป็นเจ้าของนาพิพาทจนคดีถึงศาล โดยฝ่ายจำเลยอ้างว่าโจทก์เอาที่พิพาทตีชำระหนี้แก่จำเลยแต่โจทก์ปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชะนะ จำเลยจึงเข้าทำนาพิพาทรายนี้ ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าทำโดยมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลจังหวัดได้อยู่ในเวลานั้น แม้ภายหลังศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้โจทก์ชะนะ และคดีถึงที่สุดเพียงนั้น ก็จะถือว่าการที่จำเลยเข้าทำนารายนี้เป็นการผิดกฎหมายอันจะประกอบให้เป็นการกระทำฐานละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 ไม่ได้ โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอาศัยมูลละเมิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 129/2490 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าเพื่อค้าไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า และการบอกเลิกสัญญาเช่าโดยชอบ
เช่าเคหะทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ไม่อยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่า 2486
ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าโดยชอบแล้ว จึงมี พ.ร.บ. ความคุมค่าเช่า 2489 ดังนี้ จะใช้ พ.ร.บ.ฉะบับนี้มาบังคับไม่ได้ เพราะการอยู่ในเคหะที่เช่านั้น เป็นการอยู่โดยมะเลิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 129/2490

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าเพื่อค้าไม่อยู่ภายใต้การควบคุมค่าเช่า การบอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมาย
เช่าเคหะทำการค้าเป็นส่วนใหญ่ไม่อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า 2486
ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าโดยชอบแล้ว จึงมีพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า 2489 ดังนี้ จะใช้ พระราชบัญญัติฉบับนี้มาบังคับไม่ได้เพราะการอยู่ในเคหะที่เช่านั้น เป็นการอยู่โดยละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2481

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมโดยเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง: ไม่ถือเป็นการละเมิดอิสรภาพ
ตำรวจจับคนโดยเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำผิดกฎหมายโดยมีเหตุผลเพียงพอที่จะเข้าใจเช่นนั้น ตำรวจยังไม่มีความผิดการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.78 แต่อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการค้า การบรรยายฟ้องต้องครบองค์ประกอบความผิด
การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า - การใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์แล้วปรากฏว่าเครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ประกอบด้วยรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก และคำว่า "BULLDOG" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของก็เป็นรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงต่างมีรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายเห็นได้ว่าเป็นรูปร่างลักษณะของสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อก ยืนหันหน้าในท่าเดียวกัน ขาทั้งสี่ข้างล้วนอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และมีรายละเอียดต่าง ๆ ตรงกันจนไม่อาจสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายได้อย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายกับการลอกเลียนกันมา คงมีข้อแตกต่างกันเพียงแต่ในรายละเอียดอื่นที่ไม่ใช่รูปสุนัข โดยในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้มีเส้นตรงในแนวนอนลากผ่านด้านหลังขาทั้งสี่ช่วงล่างซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าสุนัขยืนอยู่บนพื้นราบ แต่รูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของไม่มีเส้นตรงเช่นนั้นประกอบอยู่ด้วยเท่านั้น ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบความแตกต่างนี้ และแม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้จะมีคำว่า "BULLDOG" ประกอบอยู่ด้วยโดยที่เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่โจทก์กล่าวอ้างถึงไม่มีคำดังกล่าวประกอบหรือในบางครั้งก็มีคำว่า "MIRKA" ประกอบอยู่ด้วยอันเป็นความแตกต่างอีกข้อหนึ่ง แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าภาคส่วนรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าเป็นสาระสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นยิ่งกว่าคำประกอบเหล่านั้น การที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมีรูปลักษณะของรูปสุนัขซึ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อกในลักษณะที่คล้ายกับลอกเลียนกันมาดังกล่าว ย่อมทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเช่นเดียวกันว่า "ตราสุนัข" หรือ "ตราหมา" หรือ "ตราหมาบูลด็อก" ได้ ด้วยความคล้ายกันอย่างมากโดยคล้ายกับลอกเลียนกันมาของรูปสุนัขดังกล่าว ประกอบกับความเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นของรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าทั้งสองเช่นนี้ แม้จำเลยจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของจำเลยไว้สำหรับใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าที่โจทก์ส่งมาขายในประเทศไทยก็ตาม แต่สินค้าของโจทก์และของจำเลยต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง ย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกันหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้ามาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน เครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของและใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทรายและกระดาษทรายจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
โจทก์มีหลักฐานสำเนาหนังสือโต้ตอบ สำเนาใบสั่งซื้อสินค้า และสำเนาสัญญาตัวแทนจำหน่ายมาแสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และวัสดุที่ใช้ในการขัดถูในประเทศไทยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ในขณะที่จำเลยนอกจากจะไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ผ่านตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 แล้ว ยังปรากฏว่าบริษัทที่จำเลยเคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการได้สั่งซื้อสินค้ากระดาษทรายของโจทก์มาจำหน่าย การที่โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้ากระดาษทรายและเครื่องมือเครื่องใช้ในการขัดถูโดยใช้เครื่องหมายการค้า มาตั้งแต่ปี 2486 การได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศต่าง ๆ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 และที่ 7 รวมทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและการที่จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์ดังกล่าว และจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า มาก่อนที่โจทก์จะส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่าย คงนำสืบเพียงว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 โดยประกอบกิจการขายปลีกเครื่องมือช่างและเครื่องมือเกษตร รวมทั้งไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง กระดาษทราย และผ้าทราย แต่หลักฐานที่จำเลยอ้างว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่มีลักษณะเป็นเอกสารที่พิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โฆษณาสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุวันเวลาลงโฆษณา ส่วนพยานหลักฐานอื่นก็เป็นหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าอันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อกก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อก ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 แม้โจทก์จะยังไม่เคยนำสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่สินค้าที่โจทก์นำมาจำหน่ายในประเทศไทยและสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าโจทก์เป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นแหล่งเดียว กับสินค้าของโจทก์ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่จำเลยเริ่มยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ทะเบียนเลขที่ ค4208 อีกทั้งยังปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนดังกล่าวและที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประกอบกับจำเลยอยู่ในวงการค้าขายสินค้าเครื่องมือช่างก่อสร้างจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง จำเลยย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกในปี 2535 กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยจงใจนำเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ที่พิพาทในคดีนี้ดีกว่าจำเลย กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ของจำเลย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง และเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จำเลยมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาห้าปีตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 มิใช่นับแต่วันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าววันที่ 15 มิถุนายน 2548 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 จึงไม่เกินกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 40 ส่วนระยะเวลาที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์เป็นกรณีของการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 ซึ่งจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ไม่ใช่การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นคดีนี้ อีกทั้งจำเลยขาดต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกและรายการเดิม แต่ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการจดทะเบียน กรณีดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67
เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกดีกว่าจำเลย การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับการใช้สินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องของจำเลย และนำสินค้านั้นออกขาย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขของโจทก์กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องและสินค้าอื่นของจำเลย
รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ไม่ใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 เพราะสินค้าดังกล่าวมิใช่สินค้าสุนัขพันธุ์บูลด็อก แต่รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นรูปที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6) ส่วนคำว่า "BULLDOG" ก็ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องโดยตรง จึงเป็นคำที่มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงอันมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิดต่อเนื่อง: การยึดครองทรัพย์สินโดยมิชอบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเลิกยึดครอง
คดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เข้าซ่อมแซมอาคารพิพาทครั้งแรกวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 ครั้งที่สองวันที่ 26 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2550 และหลังจากเดือนเมษายน 2550 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2551 พวกจำเลยยังคงครอบครองและยึดหน่วงอาคารพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ โจทก์มีรูปถ่ายความเสียหายของอาคารที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างนั้นมาแสดง ซึ่งจากการประมวลรูปถ่ายดังกล่าว สรุปได้ว่าระหว่างเดือนเมษายน 2550 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2551 ที่จำเลยที่ 2 กับพวกเข้ายึดถือครอบครองอาคารพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยที่ 2 กับพวกมีโอกาสก่อให้เกิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินในอาคารได้ทุกเมื่อ ความเสียหายดังกล่าวเป็นการละเมิดที่สืบต่อเนื่องกันมาโดยพวกจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินให้ดี ไม่บำบัดปัดป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ อายุความละเมิดยังไม่เริ่มนับจนกว่าพวกของจำเลยจะเลิกยึดถือครอบครองอาคารพิพาทโดยไม่ชอบเพราะหากจำเลยกับพวกยังอยู่ในอาคารพิพาทแล้วไซร้ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่พวกจำเลยสามารถทำละเมิดแก่ทรัพย์สินของโจทก์ได้ทุกขณะเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง แต่เมื่อพวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมเข้าไปตรวจสอบความเสียหายได้อย่างอิสระตามวิถีที่เจ้าของทรัพย์สินพึงกระทำได้ ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่ 11 มกราคม 2551 ที่พวกจำเลยออกไปจากอาคารพิพาทถึงวันฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่การกระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้าง จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าการกระทำละเมิดเกิดขึ้นในทางการที่นายจ้างว่าจ้าง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏไว้เลยว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างหรือไม่ อย่างไร ในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถือว่าฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในอันที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิด กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5420/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือพจนานุกรม: พยานหลักฐานสอดคล้องน่าเชื่อถือ การนำสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าศาล
พยานโจทก์และโจทก์ร่วม 2 ปาก กับจำเลยที่ 1 มีความคุ้นเคยกันอย่างดี แม้มีเหตุอันควรเชื่อว่าพยานดังกล่าวย่อมต้องเบิกความในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าข้อเท็จจริงที่นำสืบมาจะไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หากทางนำสืบมีความสมเหตุผลและสอดคล้องต้องกัน เมื่อไม่ปรากฏข้อพิรุธในคำเบิกความของพยานดังกล่าวเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องนำสืบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่อ้างถึงที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าพยานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือนำสืบพยานหลักฐานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ลำพังคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยที่ 2 ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้
ในส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบเอกสารคำให้การของพยาน แต่ข้อเท็จจริงในเอกสารคำให้การดังกล่าวจะเป็นจริงเพียงใด จำเลยที่ 2 ผู้อ้างอิงเอกสารชอบที่จะนำพยานซึ่งได้ให้การไว้มาเบิกความต่อศาล ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ถามค้านข้อเท็จจริงที่ได้ให้การดังกล่าวมา เมื่อผู้ที่ให้การนั้นไม่มาเบิกความต่อศาล ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4861/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันในธุรกิจที่แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการละเมิด
คำว่า "เทวารัณย์" เป็นคำที่มีความหมายตามพจนานุกรมว่าสวนสวรรค์ จึงเป็นคำที่มีอยู่แล้วและใช้กันได้เป็นการทั่วไป ดังนี้ย่อมไม่มีเหตุอันควรที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะถือสิทธิในการใช้คำนี้แต่ผู้เดียวโดยเด็ดขาด บุคคลอื่นย่อมยังสามารถใช้คำคำนี้ได้ เพียงแต่ต้องกระทำโดยสุจริตโดยไม่ทำให้เกิดความสับสนหลงผิดหรือเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ได้ใช้คำคำนี้เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการหรือชื่อทางการค้ามาก่อน
ก่อนที่จำเลยจะใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "บ้านเทวารัณย์" และ "Baan Dhewaran" กับโครงการที่ดินและบ้านจัดสรรของจำเลย ในเดือนมกราคม 2547 นั้น แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการโดยใช้คำว่า "เทวารัณย์" และ "DEVARANA" แต่ก็เป็นการจดทะเบียนไว้สำหรับบริการประเภทอื่นคนละประเภทกับกิจการของจำเลย ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการสำหรับสินค้าและบริการที่จดทะเบียนไว้นั้นเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 44 จึงยังไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยใช้คำว่า "เทวารัณย์" และ "Dhewaran" ในกิจการจัดสรรที่ดินและบ้านของจำเลยได้
โจทก์ใช้คำ "เทวารัณย์" และ "DEVARANA" ประกอบกับคำว่า "สปา" และ "SPA" ซึ่งช่วยสื่อความหมายถึงกิจการให้บริการด้านสุขภาพโดยวิธีธรรมชาติอันเป็นกิจการหลักของโจทก์ที่ดำเนินการอยู่ ส่วนจำเลยใช้คำว่า "บ้าน" และ "Baan" ประกอบกับคำว่า "เทวารัณย์" และ "Dhewaran" ซึ่งก็สื่อความหมายถึงการจัดสรรที่ดินและบ้านของจำเลยที่เป็นกิจการคนละประเภทกับโจทก์ จึงไม่มีเหตุผลที่ประชาชนที่สนใจใช้บริการของโจทก์หรือบริการของจำเลยจะสับสนหลงผิดว่ากิจการของจำเลยเป็นกิจการของโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับโจทก์แต่อย่างใด
ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลของโจทก์ บริษัทโจทก์มีทุนจดทะเบียน 8,000,000 บาท ส่วนตามหนังสือรับรองนิติบุคคลของจำเลย จำเลยมีทุนจดทะเบียนมากถึง 90,000,000 บาท ลักษณะกิจการของจำเลยที่ปรากฏในเอกสารการโฆษณาที่จัดสรรที่ดินและบ้านขายในราคาสูงมาก แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูงและเป็นกิจการขนาดใหญ่ ขณะที่กิจการของโจทก์กลับไม่ปรากฏพยานหลักฐานให้เห็นว่าเป็นกิจการขนาดใหญ่ดังเช่นกิจการของจำเลย ย่อมไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า จำเลยประกอบกิจการที่ใช้ชื่อโครงการหมู่บ้านของจำเลยโดยมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงที่มีอยู่ในชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การที่จำเลยใช้ชื่อโครงการหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์และไม่เป็นการทำให้เสียหายต่อการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์
เมื่อการใช้คำว่า "เทวารัณย์ สปา" และ "DEVARANA SPA" ของโจทก์กับการใช้คำว่า "บ้านเทวารัณย์" และ "Baan Dhewaran" ของจำเลยไม่ว่าจะใช้เป็นชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการในกิจการค้าของโจทก์และจำเลยแตกต่างกันและลักษณะคำที่ใช้ประกอบกันเป็นคำรวมดังกล่าวของแต่ละฝ่ายก็แตกต่างกัน จึงเชื่อได้ว่าการใช้ชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายบริการของแต่ละฝ่ายไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของกิจการของผู้ให้บริการแต่ละฝ่าย ก็ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีสิทธิในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67
of 11