พบผลลัพธ์ทั้งหมด 337 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียม: คำนวณเฉพาะแต่ละชั้นศาล ไม่รวมตลอดทั้งสามศาล
บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253และมาตรา 253 ทวิ ในกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียม ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือ ศาลฎีกานั้น จำนวนเงินที่จะให้วางหรือหาประกันมาคงคำนวณเฉพาะ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเฉพาะในแต่ละชั้นศาล เท่านั้น หาใช่ต้องคำนวณให้พอตลอดทั้งสามศาล โดยไม่จำต้อง พิจารณาว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะคดี เพราะศาลมีอำนาจ ที่จะพิพากษาให้ฝ่ายที่ชนะคดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีทุนทรัพย์ 18,378,312 บาท ศาลชั้นต้นสั่ง ให้โจทก์วางเงินประกันจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการเพียงพอแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิไถ่ทรัพย์ขายฝากต้องแสดงเจตนาและนำเงินสินไถ่พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมไปชำระ ณ วันไถ่
การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากนั้นโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากจะต้องแสดงเจตนาเพื่อขอไถ่ต่อจำเลยผู้รับซื้อฝากและจะต้องนำสินไถ่ตามราคาที่ขายฝากพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ไปพร้อมในวันไถ่การขายฝากด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา499และมาตรา500เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ไถ่มีหน้าที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลยฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองจะยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินพร้อมที่จะไถ่การขายฝากที่ดินจากจำเลยก็ตามแต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองได้แสดงเงินสินไถ่ให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินดูและให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากแต่กลับได้ความจากว.พยานจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารว่าได้รับการติดต่อจากจำเลยให้มารับเงินจากการไถ่การขายฝากที่ดินแต่โจทก์ทั้งสองบอกให้รอนายทุนนำเงินมาไถ่ซึ่งในวันนั้นไม่มีผู้ใดมาไถ่ที่ดินพิพาทแสดงว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเงินสินไถ่จำนวนเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากจากจำเลยได้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3517/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดุลพินิจค่าฤชาธรรมเนียม - การบังคับคดีเกินความจำเป็น - สิทธิโจทก์
แม้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีซึ่งต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาและความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่จำเลยก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจตาม ป.วิ.พ.มาตรา 161 วรรคแรกที่จะให้คู่ความฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีเงินฝากอยู่กับโจทก์ 237,222.86 บาท และโจทก์สามารถตัดบัญชีชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีจำนวน 335,656.76 บาท ได้ แต่โจทก์กลับไปยึดทรัพย์ของจำเลยซึ่งมีราคาเป็นสิบล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินการบังคับคดีเกินความจำเป็น เมื่อจำเลยเองก็ไม่ได้ประวิงการบังคับคดี ทั้งได้ขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนภายใน 4 เดือน นับจากวันถูกยึดทรัพย์เช่นนี้จึงไม่สมควรที่จะให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าเสียหายจากการเสียชีวิต/บาดเจ็บ, การคำนวณค่าขาดไร้อุปการะ, ดอกเบี้ย, ค่าฤชาธรรมเนียม, และการรับผิดร่วม
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารซึ่งเป็นรถมีขนาดใหญ่ถอยหลังคนที่อยู่ด้านหลังรถดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกรถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนได้ง่าย จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารถอยหลังชนและทับผู้ตายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนดังนี้เหตุรถโดยสารชนและทับผู้ตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ทำศพผู้ตายทั้งประเพณีไทยและจีนเนื่องจากผู้ตายเป็นคนเชื้อชาติจีน สิ้นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน76,692 บาท เนื่องจากผู้ตายมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดบัญชีค่าโดยสาร ได้รับเงินเดือน 8,317.75 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจำนวนดังกล่าวจึงเหมาะสมแก่ฐานานุรูปของผู้ตายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเป็นเงินจำนวน 68,185 บาท จึงเป็นการสมควร ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสองนั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปีย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่สมควร ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรมีอายุเกิน20 ปี เป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443วรรคสาม จะต้องเป็นการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายหาได้มีความหมายรวมไปถึงการขาดไร้อุปการะตามหน้าที่ศีลธรรมไม่ อีกทั้งในข้อที่บิดาจำต้องให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564บัญญัติให้บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 มิใช่ผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม สำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 แม้ว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็จะได้รับค่าอุปการะเท่าที่อยู่ในข่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสามบัญญัติไว้กล่าวคือเท่าที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเว้นแต่จะเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นผู้ทุพพลภาพ โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายนับแต่วันเกิดเหตุไปจนกระทั่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อันเป็นบุคคลที่พ้นจากภาวะผู้เยาว์และเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ หาใช่แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะไปจนถึง 10 ปีนับจากวันเกิดเหตุไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดและจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งแปดนั้นศาลได้กำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระทันที จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158ถ้าศาลเห็นว่า คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของบุคคลผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถาซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถานั้นได้ยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควรศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ซึ่งจะต้องรับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งแปดชนะคดีได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้ หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาและศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดน้อยลงแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ: ไม่ต้องคืนค่าธรรมเนียมหากไม่ขัดกับกฎหมาย
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามป.วิ.พ.มาตรา 198 วรรคสอง เป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 132 (2)ด้วย ถึงแม้มาตราดังกล่าววรรคแรกจะบัญญัติให้ศาลที่มีคำสั่งจำหน่ายคดีกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร แต่บทบัญญัติที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่และหากศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว คำสั่งนั้นก็ต้องไม่ขัดแย้งกับ ป.วิ.พ.มาตรา 151วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งบัญญัติถึงเงื่อนไขในการคืนค่าธรรมเนียมศาลไว้โดยเฉพาะดังนี้เมื่อบทบัญญัติมาตรา 151 ดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 198 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 132 (2) ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจำหน่ายคดีออกจากสารบบความและการคืนค่าฤชาธรรมเนียมศาล ศาลมีอำนาจพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา198วรรคสองนั้นเป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา132(2)ด้วยแม้มาตราดังกล่าววรรคแรกจะบัญญัติให้ศาลที่มีคำสั่งจำหน่ายคดีกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควรแต่ก็เป็นเรื่องที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่หากศาลจะมีคำสั่งดังกล่าวคำสั่งนั้นก็ต้องไม่ขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา151วรรคหนึ่งและวรรคสองซึ่งบัญญัติถึงเงื่อนไขในการคืนค่าธรรมเนียมศาลไว้โดยเฉพาะดังนี้เมื่อมาตรา151ไม่ได้กำหนดให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา198วรรคสองประกอบด้วยมาตรา132(2)จึงไม่จำต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223-6224/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าฤชาธรรมเนียมต้องแยกสำนวนคดี หากโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในสำนวนแรก
คดีสองสำนวนที่รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันเมื่อสำนวนคดีแรกโจทก์ที่2มิได้เป็นคู่ความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ที่2ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมกับโจทก์ที่1ทั้งสองสำนวนโดยไม่แยกเป็นรายสำนวนจึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5810/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าธรรมเนียมบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขาย ถือเป็นค่าฤชาธรรมเนียม ฝ่ายแพ้คดีต้องรับผิด
ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5(3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องรับผิดในชั้นที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำร้องขอดำเนินคดีอนาถาไม่เป็นไปตามขั้นตอน, การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล, และผลของการไม่นำค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาล
คำร้องฉบับลงวันที่23ธันวาคม2537ของจำเลยทั้งสองมิใช่เป็นเรื่องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา205วรรคสองเพราะมิได้มีการพิจารณาคดีโดยขาดนัดและการที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่โดยอ้างว่าเสมียนทนายจดวันนัดผิดนั้นหากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองขาดการเอาใจใส่การพิจารณาคดีของศาลไม่ใช่เหตุที่ยกขึ้นมาอ้างเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนใหม่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องจึงชอบแล้ว คำร้องฉบับลงวันที่30ธันวาคม2537ของจำเลยทั้งสองมีข้อความทำนองเดียวกับคำร้องฉบับลงวันที่23ธันวาคม2537โดยมิได้ดำเนินการสาบานตัวให้คำชี้แจงว่าตนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา156วรรคหนึ่งจึงมิใช่คำร้องขอดำเนินคดีอนาถาใหม่ทั้งกรณีของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องขอดำเนินคดีอนาถาในชั้นอุทธรณ์เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยมิได้มีการสืบพยานแม้แต่ปากเดียวกรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา156วรรคสี่จำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่หาได้ไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา156วรรคห้าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องจึงชอบแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่23ธันวาคม2537วันนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าหากจำเลยทั้งสองประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายใน7วันเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี: ศาลมีดุลพินิจให้ฝ่ายผิดนัดชำระรับผิดชอบได้
ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีซึ่งรวมทั้งค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคหนึ่ง แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือแต่บางส่วนก็ได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง