คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บัตรเครดิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 124 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3716/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานฉ้อโกง: ความเสียหายโดยตรงต่อผู้รับบริการบัตรเครดิต ไม่ถือเป็นความเสียหายต่อผู้ถือบัตร
ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโดยไม่นัดไต่สวนมูลฟ้อง หรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง หรือไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องก็ได้ทั้งสิ้นเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยนำบัตรเครดิต (บัตรวีซ่า) ที่โจทก์ออกให้และห้ามจำเลยใช้ ไปใช้ต่อสถานที่รับบริการบัตรเครดิตโดยปกปิดความจริงที่ควรจะต้องแจ้งว่าจำเลยไม่มีสิทธิจะใช้บัตรเครดิตดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายต้องจ่ายเงินแก่สถานบริการนั้น จำเลยได้ทรัพย์สินไปเพราะการปกปิดข้อความจริงต่อเจ้าของสถานบริการ ทรัพย์สินที่จำเลยได้ไปก็มิใช่ทรัพย์สินของโจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์
การที่โจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่สถานที่รับบริการการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยซื้อสินค้าหรือใช้บริการแทนจำเลยตามสัญญาที่โจทก์มีกับสถานที่รับบริการบัตรเครดิต เป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับในทางแพ่งไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการที่จำเลยหลอกลวงหรือปกปิดไม่แจ้งความจริงการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานบริการนั้นๆกรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อโจทก์ แม้โจทก์จะต้องจ่ายเงินให้แก่สถานบริการ ก็ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2(4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3115/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัตรเครดิต: การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทำให้สัญญาส่วนนั้นเป็นโมฆะ และจำเลยไม่ต้องรับผิด
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่โจทก์นำสืบ 2 ฉบับ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (1) และข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ได้ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศข้อ 4.4 (4) ว่า การให้บริการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนนั้น และ (5) ว่า ภายใต้ (4) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระหรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ แต่ดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมและค่าบริการนั้น เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใด ๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต ใบบันทึกยอดหนี้ และคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์อนุมัติวงเงินตามสัญญาบัตรเครดิต 55,000 บาท นั้น คิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตั้งแต่ 25,000 บาท ขึ้นไป คิดอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างชำระอัตราร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินเข้าด้วยกันแล้วเกินกว่าอัตราร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ทั้งสองฉบับดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ ก็เท่ากับสัญญาบัตรเครดิตมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด เมื่อปรากฏตามใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตและใบบันทึกรายการยอดหนี้ว่า จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 183,455 บาท สูงกว่าจำนวนเงินต้นที่จำเลยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโจทก์เพียง 130,953.74 บาท จึงถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21063/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมในการใช้บัตรเครดิต และการแปลงหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด
พ. และโจทก์ทำสัญญาใช้บัตรเครดิตวีซ่าชฎาทองของจำเลยที่ 1 โดย พ. ถือบัตรหลัก โจทก์ถือบัตรเสริม ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวระบุไว้ว่า ในกรณีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 อนุมัติให้ออกบัตรเสริมแก่ผู้ถือบัตรหลักรายใดแล้ว ผู้ถือบัตรหลักและผู้ถือบัตรเสริมจะต้องร่วมกันรับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรนั้นอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายสัญญาในช่องผู้ให้สัญญา ย่อมเป็นการตกลงเข้าร่วมรับผิดกับ พ. ในการใช้บัตรหลักด้วยอย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 297
แม้สัญญาการใช้บัตรเครดิตมีข้อตกลงกันว่า กรณีการเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรเครดิต พ. ยินยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีกระแสรายวันของ พ. แต่พฤติการณ์ที่ พ. ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันในวันเดียวกับที่สมัครขอเป็นผู้ถือบัตรเครดิต และจำเลยที่ 1 ให้ พ. เปิดบัญชีกระแสรายวันโดยไม่มีการใช้เช็คเพื่อเบิกถอนเงิน แสดงว่าเป็นบัญชีกระแสรายวันใช้เฉพาะเพื่อชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิต จึงไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16139/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการฟ้องเรียกเงินคืนจากบันทึกข้อตกลงการรับชำระเงิน และความรับผิดตามข้อตกลงเมื่อบัตรเครดิตปฏิเสธ
โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงการรับบริการชำระเงินเพื่อการสั่งสินค้าและ/หรือขอใช้บริการของร้านค้าผ่านสื่อต่าง ๆ ที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ จึงมิใช่กรณีผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปอันมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ทั้งไม่ใช่การฟ้องให้ชำระหนี้เงินตามสัญญาที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต การฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 12 มีข้อความจำกัดความรับผิดของโจทก์ในกรณีที่โจทก์ได้รับคำสั่งซื้อตาม ข้อ 5 และจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า (จำเลย) หรือนำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวใน ข้อ 9 แล้ว ปรากฏในภายหลังว่า มีกรณีอื่นใดอันเป็นผลให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินดังกล่าวได้ไม่ว่าประการใด ๆ ก็ตาม จำเลยจะคืนเงินเท่ากับจำนวนที่ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บได้นั้นให้กับโจทก์พร้อมยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่โจทก์ได้จ่ายเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวในข้อ 9 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากโจทก์นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย จำนวน 303,885.18 บาท ตามใบสั่งซื้อและ/หรือขอใช้บริการผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือสิ่งอื่น จำนวน 4 รายการ ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตผ่านระบบวีซ่าปฏิเสธการใช้รายการและปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดนับแต่โจทก์ได้จ่ายเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีจำเลยจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่า จำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงการรับบัตรชำระเงินเพื่อการสั่งซื้อสินค้าและ/หรือขอให้บริการของร้านค้าผ่านสื่อต่าง ๆ หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13756/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีบัตรเครดิต: ข้อเท็จจริงต้องปรากฏในสำนวน - ศาลฎีกา
ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้สืบพยาน การที่ศาลหยิบยกเอาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต มาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้มีหนังสือเตือนจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเมื่อไม่ปรากฏในสำนวนคดี ศาลไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12449/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้าง กรณีการนำบัตรเครดิตของผู้อื่นไปใช้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และรับว่าเมื่อเกิดกรณีไปรษณีย์ภัณฑ์ที่โจทก์ฝากส่งสูญหาย จำเลยที่ 2 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนและได้ความจากการสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่นำจ่ายไปรษณีย์ภัณฑ์ของโจทก์และนำบัตรเครดิตที่อยู่ในไปรษณีย์ภัณฑ์ดังกล่าวของโจทก์ไปใช้ตามที่โจทก์ฟ้องจริง โดยจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพไว้ต่อคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างและจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะนายจ้าง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 2 มีไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพ.ร.บ ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 กำหนดขอบเขตความรับผิดกรณีไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหายไว้และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นกรณีการสูญหายตามปกติ มิใช่กรณีการกระทำละเมิดของลูกจ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นอ้าง เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์/ปลอมแปลง/ฉ้อโกงบัตรเครดิต: การส่งมอบบัตรเครดิตทางไปรษณีย์ไม่ถือเป็นการส่งมอบให้ผู้กระทำผิดโดยสำคัญผิด
การที่ผู้เสียหายที่ 2 ส่งมอบบัตรเครดิตไปให้ผู้เสียหายที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ที่ผู้เสียหายที่ 1 ระบุไว้ในใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิต แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะย้ายออกไปจากบ้านเช่าหลังดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อจากผู้เสียหายที่ 1 กรณีจึงมิใช่เป็นการส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกโดยสำคัญตัวผิดว่าจำเลยกับพวกคือผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยกับพวกรับบัตรเครดิตไว้และยึดถือเป็นของตนเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยทุจริตเป็นการแย่งการครอบครอง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ความผิดฐานลักบัตรเครดิตเป็นความผิดสำเร็จในตัวโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานฉ้อโกง การกระทำตามฟ้องจึงเป็นความผิด 2 กรรม แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนจำเลยกับพวกนั้นเป็นไปตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต ความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับเป็นความเสียหายในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17738/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินคืนจากข้อตกลงรับบัตรเครดิต: เริ่มนับเมื่อทวงหนี้
โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงในการรับบัตรเครดิต เนื่องจากผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์หรือบัตรเครดิตที่ร่วมกับบริษัทอื่นหรือสถาบันอื่นออกบัตรเครดิตภายใต้ข้อตกลงร่วมกับโจทก์ ได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่จำเลยแทนการชำระเงิน และจำเลยได้นำบัตรเครดิตของลูกค้ารูดผ่านเครื่องบันทึกข้อมูลแล้วส่งข้อมูลการขายให้โจทก์เพื่อขอรับเงินค่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตได้ เนื่องจากจำเลยไม่นำส่งใบบันทึกค่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกัน กรณีจึงไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12457/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่เคลือบคลุมแม้ไม่ได้ระบุรายละเอียดสินเชื่อ 'เงินสดโทรสั่งได้' และดอกเบี้ยถูกต้องตามอัตราบัตรเครดิต
แม้โจทก์จะบรรยายมาในคำฟ้องเพียงว่า จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่าทองของโจทก์ โจทก์อนุมัติให้จำเลยเป็นสมาชิกและออกบัตรเครดิตให้แก่จำเลยใช้แทนเงินสดเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ ตลอดจนเบิกถอนเงินสดจากสถานประกอบการที่เป็นสมาชิกของโจทก์ และนอกจากนี้ในการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยยังได้รับวงเงินหมุนเวียนอีกจำนวน 240,000 บาท แต่โจทก์ได้แนบใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับยอดหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" มาด้วย ทั้งยังปรากฏว่าในแต่ละเดือนโจทก์ได้ส่งใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตไปให้จำเลยทราบตลอดมาจนกระทั่งสัญญาเลิกกัน จำเลยจึงย่อมจะต้องทราบถึงข้อผูกพันของสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" รวมทั้งภาระหนี้สินที่เกิดจากสินเชื่อเป็นอย่างดี การไม่ระบุรายละเอียดของข้อตกลงในการใช้สินเชื่อประเภทนี้ในใบสมัครและในเงื่อนไขการใช้บัตร จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในทางคดี ประกอบกับในคำให้การของจำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" แสดงว่าจำเลยไม่ได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด กรณีจึงถือได้ว่าคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การให้สินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" แก่จำเลย แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นหลังจากจำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่าของโจทก์ แต่ก็ได้ความจากใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตพร้อมคำแปลเอกสารว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" รวมกันมากับหนี้อันเกิดจากการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งจำเลยเองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใด จึงทำให้น่าเชื่อว่าสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาบัตรเครดิต การคิดดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้จึงต้องถือตามอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่า มิใช่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.8 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้บังคับในระหว่างไม่ผิดนัดตามที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ซึ่งปรากฏตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ว่า ในช่วงวันที่ 9 กันยายน 2549 ที่จำเลยเริ่มผิดนัดชำระหนี้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2549 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10969/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดลงจากการชำระหนี้บางส่วนและข้อตกลงให้หักเงินจากบัญชี
เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอันเกิดจากการกระทำของลูกหนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ รวมไปถึงการชำระหนี้ให้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยตกลงชำระหนี้บัตรเครดิตโดยยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย และสัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุว่า หากมีการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ให้ถือว่าเป็นการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น มิใช่เป็นการยกเลิกสัญญา และหากปรากฏว่ามียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้โดยให้โจทก์หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้ ดังนี้ การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจไม่ กรณีจึงเป็นการรับสารภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เช่นนี้นับแต่วันที่จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
of 13