คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผิดนัดชำระหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 177 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยืมสิ่งของ, การผิดนัดชำระหนี้, สัญญาที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์, และความชัดเจนของคำฟ้อง
ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ จำเลยยืมปุ๋ยและของอื่นไปจากโจทก์เพื่อใช้ในการทำใบยาสูบจำเลยจะทำใบยาสูบเองหรือไม่ไม่ใช่ข้อสำคัญ แม้สัญญายืมสิ่งของดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดเวลาคืนสิ่งของไว้แต่ตามพฤติการณ์การให้ยืมสิ่งของดังกล่าวเพื่อใช้ในฤดูกาลทำใบยาสูบ เมื่อสิ้นฤดูกาลแล้วก็ต้องส่งคืนหากใช้ไม่หมด ส่วนที่ใช้ไปแล้วไม่อาจส่งคืนได้ ก็ต้องใช้ราคา ดังนี้ เป็นกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เป็นเพียงอนุมานจากพฤติการณ์ การที่จำเลยไม่ส่งคืนของที่ยืมเมื่อสิ้นระยะเวลาที่อนุมานจากพฤติการณ์ได้นั้น ก็ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด แต่ต่อมาเมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนของที่ยืมภายในวันที่กำหนด จำเลยไม่คืน จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันถัดจากวันที่กำหนดนั้น สัญญายืมสิ่งของมิได้กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรว่าต้องปิดอากรแสตมป์ สัญญาดังกล่าวแม้ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร บรรยายฟ้องว่า จำเลยคืนสิ่งของแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน5,790 บาท ต่อมาได้นำเงินมาชำระค่าสิ่งของแก่โจทก์ ยังคงเหลือสิ่งของรวมเป็นเงิน 48,480 บาท แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยคืนสิ่งของรวม 81,870 บาท เมื่อหนังสือบอกกล่าวท้ายฟ้องได้แสดงรายละเอียดของทรัพย์ที่จำเลยยืมโจทก์ไปเป็นเงิน48,480 บาท ตรงตามคำฟ้อง โดยไม่รวมค่ากรรมกรขนของ คำฟ้องจึงไม่ขัดกันและจำเลยก็เข้าใจข้อหาต่อสู้คดีได้ถูกต้อง คำฟ้องจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักฐานการกู้ยืมเงินจากจดหมายและการผิดนัดชำระหนี้ พร้อมประเด็นภูมิลำเนาและอำนาจฟ้อง
แม้คำฟ้องของโจทก์จะกล่าวเพียงว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2522 และต่อมายืมเงินโจทก์ครั้งที่สองอีกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2522 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้กล่าวอ้างถึงเอกสารที่จำเลยติดต่อขอยืมเงินจากโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2522 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522โดยส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารมาพร้อมกับคำฟ้องอันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำฟ้อง ในชั้นพิจารณาโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานโดยขอระบุพยานอันดับ 2 และ 3 ว่า หลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 130,000 บาทฉบับลงวันที่ 8 และ 9 กุมภาพันธ์ 2522 และหลักฐานการกู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท ฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 และวันที่1 มีนาคม 2522 และส่งอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เอกสารทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแต่ละฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องเดียวต่อเนื่องกัน ถือได้ว่าเป็นเอกสารฉบับเดียวศาลจึงรับฟังข้อความพยานเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ที่ปรากฏอยู่ทั้งหมดในแต่ละฉบับนั้นได้ ทั้งตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือหรือไม่ ซึ่งตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 แต่ละฉบับก็มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จึงหาได้เป็นการที่โจทก์นำสืบนอกคำฟ้องและนอกประเด็นไม่ เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นจดหมายที่จำเลยมีถึงโจทก์และจำเลยได้บันทึกไว้ด้านหลังของจดหมายแต่ละฉบับนั้นว่า จำเลยได้รับเงินจำนวนที่ขอยืมในแต่ละฉบับนั้นไว้เป็นการถูกต้องแล้วพร้อมกับลงลายมือชื่อวันเดือนปีไว้ด้วย เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้น หาใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในแต่ละฉบับนั้นโดยตรง อันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ จำเลยได้ยื่นคำให้การพร้อมทั้งแต่งให้ตนเองเป็นทนายความตามคำรับเป็นทนายความก็ระบุว่า สำนักงานของจำเลยอยู่บ้านเลขที่173 ถนนราชสีมาแขวงดุสิตเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ฟังได้ว่าจำเลยใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ทำงานสำคัญ จึงถือได้ว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลย แม้จำเลยจะระบุไว้ในคำให้การว่า อยู่บ้านเลขที่382 ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครเป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งก็ตาม โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว จำเลยตกลงจะคืนเงินที่ยืม130,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 2 เดือน คือในวันที่ 9 เมษายน 2522เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันนั้น ส่วนเงินยืมอีก50,000 บาท ซึ่งไม่ได้กำหนดเวลาชำระคืนไว้ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม ซึ่งจำเลยได้รับแล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 ครบกำหนดในวันที่ 13พฤศจิกายน 2529 จำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่13 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาให้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทด้วยและจำเลยมิได้คัดค้านว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นไม่ถูกต้อง แม้จำเลยได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ด้วย และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4256/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์ผิดนัดชำระหนี้ การครอบครองรถยนต์ไม่ถึงขั้นยักยอกทรัพย์
จำเลยเอารถยนต์ของกลางของผู้เสียหายไปไว้ในครอบครองของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันในการเช่าซื้อซึ่งภริยาจำเลยเช่าซื้อไปจากผู้เสียหาย และรถยนต์ของกลางยังคงอยู่ในครอบครองของจำเลยตลอดมา จำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและมีหน้าที่จะต้องส่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอารถยนต์ของกลางไปขับรับจ้างขนส่งผู้โดยสารในต่างจังหวัดและยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้เสียหายชอบที่จะบังคับเอาทางแพ่งได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นการเบียดบังทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3575/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับชำระหนี้จำนองต้องเกิดหลังผิดนัดชำระหนี้ หากยังไม่ผิดนัดสิทธิการบังคับยังไม่เกิด
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ได้นำยึดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ผู้ร้องอยู่มาบังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับชำระหนี้จำนอง ก่อนกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ 1 วัน ซึ่งจำเลยที่ 2ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ หนี้จำนองของผู้ร้องจึงยังมิใช่หนี้จำนองที่อาจบังคับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ดังนี้ผู้ร้องจะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองหาได้ไม่ แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง (ผู้รับจำนอง)ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 808/2533 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขีดฆ่าอากรแสตมป์และผลของการผิดนัดชำระหนี้จากการซื้อขาย
การระบุวันเดือนปีพร้อมกับขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้มีการปิดและขีดฆ่าเมื่อใดเท่านั้น เมื่อเอกสารได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนมีคำพิพากษาแล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันที่ที่ขีดฆ่าก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
การซื้อขายได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ 60 วัน นับแต่วันที่ส่งมอบสินค้า เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดแล้ว ไม่จำต้องทวงถามก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5313/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนข้อผูกพันจากหนี้เดิมเป็นหนี้กู้ยืม สัญญากู้ยืมผูกพันจำเลยโดยบริบูรณ์เมื่อผิดนัดชำระหนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นหนี้เงินยืม หนี้ค่าน้ำมันและหนี้อื่น ๆ ต่อโจทก์ รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ต่อมาจำเลยทำสัญญากู้ให้แก่โจทก์จำนวน 140,000 บาท จำเลยได้รับเงินไปแล้วโดยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ปรากฏตามสัญญากู้ท้ายฟ้อง ครั้นหนี้ถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 232,400 บาท ดังนี้ ฟ้องของโจทก์แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เนื่องจากมูลหนี้ใดบ้าง เมื่อรวมหนี้ทุกประเภทจนถึงวันฟ้อง จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อีกเท่าใด เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้แก่โจทก์ อันเป็นการถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
เดิมจำเลยเป็นหนี้เงินยืมและหนี้อื่น ๆ ต่อโจทก์จำนวน140,000 บาท ต่อมาจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินระบุหนี้เป็นจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ กรณีเป็นการที่คู่สัญญาเปลี่ยนข้อผูกพันจากหนี้อื่น และหนี้เงินยืมมารวมผูกพันกันในลักษณะกู้ยืมตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นไว้สัญญากู้จึงผูกพันจำเลยโดยบริบูรณ์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาผ่อนชำระ แม้ยังไม่ถึงกำหนดหนี้รายงวด โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกหนี้ทั้งหมดได้
แม้จำเลยตกลง กำหนดเวลาชำระหนี้เป็น 2 งวด แต่ ก็มิได้แยกหนี้ออกเป็นรายต่างหากจากกัน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาตกลง ไว้ แม้แต่ เพียงงวดแรก จำเลยก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตาม บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ทั้งหมด ดังนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกหนี้ตาม งวดที่สองได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายพลอยด้วยเช็คและการปฏิเสธการจ่ายเงิน ไม่เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นเรื่องผิดนัดชำระหนี้และ พ.ร.บ. เช็ค
โจทก์ร่วมและ ร. สามีโจทก์ร่วมได้ ขายพลอยให้แก่จำเลยที่ 1 โดย จำเลยที่ 1 ออกเช็ค สั่งจ่ายเงินชำระราคาพลอยให้แก่ ร.เมื่อเช็ค ถึง กำหนดชำระเงิน ร. ให้ ส. นำไปเข้าบัญชีของ ส. เพื่อเรียกเก็บเงินแทน แต่ ธนาคารตาม เช็ค ได้ ปฏิเสธการจ่ายเงินดังนี้เป็นเรื่องผิดนัดไม่ชำระหนี้ทางแพ่ง และเป็นเรื่องความผิดต่อพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ หาใช่ความผิดฐานฉ้อโกงไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามประกาศกระทรวงการคลังและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
ประกาศของ กระทรวงการคลัง ซึ่ง ออกโดย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523มาตรา 3 หาใช่ข้อกฎหมายอันถือ เป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ ไม่แต่ เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่ต้อง นำสืบ เมื่อทางพิจารณาโจทก์ไม่สืบแสดงให้ความข้อนี้ปรากฏ ทั้งมิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลรับรู้ได้เองแล้วเช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ได้ ถึง อัตราร้อยละ 20 ต่อปี อันเกินไปจากอัตราปกติตาม ที่กฎหมายกำหนดแต่ การที่จำเลยตก เป็นผู้ผิดนัดในการชำระหนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ย ได้ ในอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีในระหว่างเวลาผิดนัดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเคลือบคลุม, สัญญาครบกำหนด, การผิดนัดชำระหนี้, ผู้ค้ำประกัน, การบังคับชำระหนี้
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เท่านั้นที่ให้การต่อสู้ว่าฟ้องเคลือบคลุมโดยระบุเจาะจงลงไปด้วยว่าเคลือบคลุมเฉพาะการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามฎีกาไปถึงฟ้องข้ออื่นว่าเคลือบคลุมแม้ศาลล่างจะวินิจฉัยให้ ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์คำนวณดอกเบี้ยกับจำเลยที่ ๑ ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งแนบสำเนาภาพถ่ายสัญญาดังกล่าวและบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ ประกอบไว้ท้ายฟ้องส่วนการคำนวณดอกเบี้ยกับจำเลยที่ ๒ โจทก์ก็บรรยายว่าเป็นหนี้ตามตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ ๑ ที่โจทก์ต้องชำระแทนไปโดยหยิบยกขึ้นแสดงรายละเอียดเป็นรายฉบับว่ามีหนี้จำนวนเท่าใด คิดดอกเบี้ยอัตราเท่าใด ในช่วงเวลาไหน เป็นการบรรยายฟ้องถึงการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์โดยแจ้งชัด ฟ้องโจทก์ส่วนนี้ไม่เคลือบคลุม
เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ ๑ ทำไว้กับโจทก์ครบกำหนดแล้วมีการปฏิบัติตามสัญญาต่อมาอีก สัญญาดังกล่าวจึงยังคงใช้บังคับระหว่างกันโดยไม่มีกำหนด คำขอของจำเลยที่ ๒ที่ขอให้โจทก์รับรองตั๋วแลกเงินก็ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เท่ากับโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองแล้วสัญญาดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันครั้งสุดท้ายวันที่ ๕สิงหาคม ๒๕๒๔ หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีก ต่อมาโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว จำเลยที่ ๑ ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วไม่ชำระหนี้ ถือได้ว่าผิดนัด และสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินน้อยกว่าจำนวนที่จำเลยจะต้องรับผิด แต่โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้.
of 18