คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้พิพากษา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 110 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1941/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากผู้พิพากษาลงลายมือชื่อเพียงคนเดียว ทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15451/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจอนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง: เจตนารมณ์ผู้พิพากษาสำคัญกว่ารูปศัพท์
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ เป็นบทบัญญัติในส่วนของดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะอนุญาตให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตและความยุติธรรมที่คู่ความพึงจะได้รับเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำแต่ละคำในตัวบท มิฉะนั้นแล้วผลจะกลายเป็นว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาเห็นควรนำปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามที่คู่ความร้องขอ แต่ใช้ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากตัวบท กลับเป็นผลร้ายแก่คู่ความซึ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
คดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ไม่ปรากฏข้อความที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ได้และมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในวันเดียวกัน กรณีย่อมถือได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 อำนาจอยู่ที่ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี
ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาดังเช่นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แม้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะตรวจสำนวนหลังมีคำพิพากษา หรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือสั่งคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่ก็เป็นการสั่งคำร้องที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ตรวจสำนวนเพื่อระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีต่าง ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (2) ถึง (4) เมื่อคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจออกหมายจับของผู้พิพากษาคนเดียวและการไม่อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ.
การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17012/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาไม่มีอำนาจร่วมพิจารณาคดี
การสืบพยานโจทก์และจำเลยแต่ละนัดดังกล่าวมี ต. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนร่วมนั่งพิจารณาคดีทุกนัด โดยไม่ปรากฏว่า ส. ได้ร่วมนั่งพิจารณาคดีด้วย ส. จึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาร่วมกับ ต. กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 และ 30 คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ ส. ร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาด้วยจึงไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจออกหมายจับของผู้พิพากษา และสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธยกเลิกหมายจับ
เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่า มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้
ปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9585/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้พิพากษาทำคำพิพากษาหลังย้ายไปรับราชการอื่น และการดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ เนื่องจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) การที่ศาลอุทธณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่มิได้สั่งให้ทำคำพิพากษาใหม่แต่เพียงประการเดียว ถือได้ว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากฎีกาของจำเลยว่า ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี นั้นไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไปได้ ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 (3) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปได้ เมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายให้ ว. นั่งพิจารณาคดีแทน ว. จึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำพิพากษาได้ กรณีมิใช่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษาทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีต่อไปได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้การพิจารณาคดีทั้งหมดเป็นโมฆะ
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 297 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2544 วันที่ 4 กันยายน 2544 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 13 มีนาคม 2545 มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาเพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลให้การพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายหลังย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเช่นกัน แม้คู่ความจะมิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี ต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี
ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาต่อไป คดีนี้โจทก์เพียงแต่ยื่นอุทธรณ์ โดยหาได้ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้อนุญาตให้อุทธรณ์ ทั้งผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้ หาได้มีข้อความใดแสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3977/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ครบตามกฎหมาย ทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
of 11