พบผลลัพธ์ทั้งหมด 361 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับบทลงโทษในคดีพรากเด็กและกระทำชำเรา การพิพากษาต้องถูกต้องตามวรรคของกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กหญิง พ.อายุ 14 ปีเศษยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาและผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจาร และในวันที่เกิดเหตุนั้น จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิง พ. ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิง พ.ไม่ยินยอม ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนี้แสดงว่า โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหากระทำชำเราตาม ป.อ.มาตรา 277วรรคแรก กระทงหนึ่ง และในความผิดข้อหาพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อาญามาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง แม้ความผิดทั้งสองข้อหาโจทก์มิได้ระบุวรรคมาก็ตาม ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หากจำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานโจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้อย่างไรก็ตามเมื่อความผิดในมาตราดังกล่าวในวรรคแรกมีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป ไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้เฉพาะในวรรคแรกเท่านั้น ดังนั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องและลงโทษจำเลยตาม มาตรา 317 โดยมิได้ระบุวรรคซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องแต่ก็มิได้หมายความว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม มาตรา 317 วรรคสามหากศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษและลงโทษจำเลยใหม่ให้ถูกต้องก็มีอำนาจกระทำได้ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ทั้งวางโทษจำเลยโดยอาศัยบทมาตราดังกล่าว จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเข้าเป็นจำเลยร่วมต้องมีส่วนได้เสียในคดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนคำสั่งไม่ให้ผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วม
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2) ซึ่งต้องปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีจึงจะมีสิทธิเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเป็นการให้รับผิดตามบุคคลสิทธิปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2ให้การเกี่ยวกับผู้ร้องแต่เพียงว่า แต่เดิมจำเลยที่ 1 ติดต่อขอกู้เงินผู้ร้อง แต่ผู้ร้องไม่ให้กู้จำเลยที่ 1 จึงหลอกลวงผู้ร้องว่าจะกู้เงินโจทก์ ขอให้ผู้ร้องติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ออกหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ โดยนำเงินฝากประจำของผู้ร้องเป็นหลักประกันแทน ไม่มีข้อความใดในคำฟ้องหรือคำให้การของจำเลยที่ 2ที่พาดพิงว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดร่วมกับบุคคลใดต่อบุคคลใด หรือแทนบุคคลใดทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2ร่วมกับหรือแทนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คำพิพากษาก็หามีผลผูกพันไปถึงผู้ร้องหรือว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2โดยถูกยึดเงินฝากประจำที่นำมาเป็นหลักประกันแต่อย่างใดไม่จำเลยที่ 2 จะมีสิทธิยึดเงินฝากประจำของผู้ร้องหรือไม่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องว่ากล่าวเอาแก่ผู้ร้องต่อไปเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งผลแห่งคำพิพากษาหรือข้อเท็จจริงที่ศาลฟังในคดีนี้ย่อมจะไม่ผูกพันผู้ร้อง ฉะนั้น ผู้ร้องย่อมจะมีสิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ในคดีนั้น ไม่มีเหตุผลหรือความเป็นธรรมอย่างไรที่ผู้ร้องจะต้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ ผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3764/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิพากษาคดีล้มละลาย: ทรัพย์สินมากกว่าหนี้ ไม่เข้าข่ายล้มละลาย
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายนั้น ประเด็นสำคัญแห่งคดีมีอยู่ว่า จำเลยซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งมีกำหนดจำนวนหนี้สินแน่นอนเกินกว่าห้าหมื่นบาทหรือไม่ คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าจำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง ยังไม่มีเหตุสมควรให้จำเลยล้มละลายและพิพากษายกฟ้อง ดังนี้เมื่อจำเลยนำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีทรัพย์สินรวมกันมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง ปัญหาว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องชี้ขาดในชั้นนี้ ดังนั้นการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ดังที่จำเลยฎีกามานั้น ก็หาทำให้ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่ ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3582/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีล้มละลาย ศาลต้องพิพากษาเมื่อเจ้าหนี้ลงมติ แม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ถึงที่สุด คำสั่งรอการพิพากษาไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา
การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินเป็นการด่วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 13และ 153 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ศาลก็ต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตาม มาตรา 61 ทันทีแม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเป็นคำสั่งชี้ขาดคดีมีผลเป็นคำพิพากษาตามความในมาตรา 6 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รอการพิพากษาให้จำเลยล้มละลายไว้จนกว่าศาลฎีกาจะได้ชี้ขาดตัดสินเรื่องที่จำเลยฎีกาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นคำสั่งหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงมิใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณาและไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิพากษาคดีล้มละลาย พิจารณาจากทรัพย์สินและรายได้ของจำเลย
การที่จำเลยยังมีที่ดินและยังประกอบกิจการโรงพิมพ์อยู่นั้นแสดงว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอยู่มาก และยังประกอบกิจการมีรายได้จึงมีทางขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ส่วนการที่จำเลยไม่เคยเสียภาษีเงินได้นั้น มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าจำเลยไม่มีรายได้สำหรับเงินฝาก แม้จำเลยจะนำมาฝากก่อนเบิกความ 2 วัน ก็ถือเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่โจทก์อาจบังคับชำระหนี้ได้ แม้จำเลยเป็นหญิงมีสามี ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นสินสมรสจะต้องแบ่งครึ่ง จึงไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์นั้น เป็นเรื่องชั้นบังคับคดีที่จะต้องว่ากล่าวกันภายหลัง ยังไม่อาจทราบว่าหนี้ที่จำเลยค้างชำระเมื่อบังคับคดีพอชำระหนี้หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ควรให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำหรือไม่: การพิพากษาห้ามเข้าเกี่ยวข้องที่ดิน กับสิทธิเจ้าของร่วม
ในสำนวนคดีก่อน จำเลยทั้งสามในคดีนี้ฟ้องขอให้ห้ามส. และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินตามฟ้องซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วย ส. ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนกับพี่น้องโดย ได้รับมรดกมาจากมารดา หมายความว่า ส. กับโจทก์ต่างเป็นเจ้าของร่วมกันมีฐานะเท่าเทียมกันในที่ดิน มิใช่บริวารซึ่งกันและกัน และจำเลยทั้งสามก็ไม่ได้ขอให้ศาลออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ส. เพื่อให้คำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลบังคับแก่โจทก์ด้วยโจทก์จึงมิใช่คู่ความในคดีแพ่งดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 286/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำซัดทอดในชั้นสอบสวนมีน้ำหนักไม่พอพิพากษาลงโทษจำเลยได้ หากพยานหลักไม่มีความน่าเชื่อถือ
เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย เนื่องจากคำซัดทอดของผู้กระทำผิดคนอื่นในชั้นสอบสวน ในชั้นศาลผู้ซัดทอดเบิกความว่า คนที่กระทำความผิดไม่ใช่จำเลย คำซัดทอดชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักพอจะฟังลงโทษจำเลยได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิพากษาคดีชิงทรัพย์โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของพยานผู้เสียหายและระยะเวลาระหว่างเกิดเหตุกับจับกุม
นับแต่วันเกิดเหตุชิงทรัพย์ถึงวันที่จำเลยถูกจับเป็นระยะเวลาห่างกันร่วม 8 ปี ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าคนร้ายมาก่อนเพิ่งเห็นในวันเกิดเหตุเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะจำคนร้ายได้ และผู้เสียหายก็เบิกความกลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่อง กับรอย ยิ่งกว่านั้นผู้เสียหายยังเบิกความแตกต่างกับพยานอื่นเป็นข้อพิรุธ จำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2332/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน หลังเจรจาหนี้ไม่สำเร็จ ศาลพิพากษาคดีได้
ในวันนัดสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยไม่มีประเด็นอื่นที่จะสืบตามคำให้การอีก จึงไม่ติดใจสืบพยาน แต่ขอเลื่อนคดีเพื่อไปตกลงยอดหนี้กับโจทก์ก่อน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดพร้อมในวันนัดพร้อมเพื่อฟังผลการเจรจา โจทก์และจำเลยยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องยอดหนี้ ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไปอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขคำฟ้องรายละเอียดเล็กน้อย และการพิพากษาชดใช้ค่าเสียหายรถยนต์ที่เสียหายจากอุบัติเหตุ
การขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับชื่อจำเลยและวันเกิดเหตุละเมิดซึ่งเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้อง มิใช่เป็น การขอแก้ไขคำฟ้องตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(1) และ (2)แม้โจทก์ทั้งห้าจะมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันสืบพยานศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าแก้ไขได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 180 แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่า ธ.เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งคันที่ถูกชน แต่โจทก์ทั้งห้าก็ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จากเหตุรถชนกันทำให้รถยนต์ที่ ธ.ขับมาได้รับความเสียหายและ ธ. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ธ. ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว คิดเป็นเงิน 315,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยชดใช้ราคารถยนต์คันดังกล่าวด้วยเมื่อทางพิจารณาได้ความว่ารถยนต์ที่ถูกชนเป็นรถของ ธ.การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ราคารถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ