คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ระงับข้อพิพาท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 94 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ: ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเมื่อมีข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223
การที่โจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "may" ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้น, บันทึกข้อตกลง, และการระงับข้อพิพาท: สิทธิในการเรียกร้องหุ้นคืนหลังทำข้อตกลงประนีประนอม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องว่าอ้าง จำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนำหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้โจทก์กลับมาถือหุ้นของโจทก์ตามเดิม ซึ่งเลขหมายใบหุ้นบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่ และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์มีใบสำคัญรับชำระเงินลงหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง และจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ที่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นของโจทก์ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก็ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบ
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งและสุดท้ายไม่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เดิม
หลังจากเกิดข้อพาทเกี่ยวกับการโอนหุ้นโดยมิชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เจรจาและทำบันทึกข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 2 ตกลงยกหุ้นของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 บางส่วนให้แก่โจทก์และพี่สาวโจทก์ โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกัน ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทำสัญญานี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกร้องสิ่งอื่นใดต่อกันอีก ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 อันมีผลให้ข้อเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมนั้นได้ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้แก่ตนเองโดยมิชอบได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 โอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงเท่านั้น แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และทางพิจารณามีการนำสืบต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงมาแล้ว ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ เมื่อปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า จำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลง
เมื่อโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมมีผลผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม การจะเลิกบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจบอกเลิกโดยอำเภอใจ เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่ได้ให้สิทธิคู่สัญญาที่จะบอกเลิกข้อตกลงและไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะบอกเลิกข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 จึงคงต้องผูกพันและปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1771/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความระงับสิทธิเรียกร้อง: ผลกระทบต่อคดีในไทย & การขัดกันแห่งกฎหมาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือต่อศาลในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปแล้ว เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างถึงขอบเขตของการมีผลบังคับของสัญญาประนีประนอมยอมความนี้แตกต่างกัน จึงต้องวินิจฉัยในเรื่องผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวคู่สัญญาตกลงให้หนี้อันเกิดจากเหตุเรือโดนกันระงับสิ้นไปหรือไม่เพียงใด โดยต้องตีความจากเจตนาของคู่สัญญาซึ่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นสำคัญ คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างเป็นนิติบุคคลต่างสัญชาติกัน โจทก์ทั้งห้าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศปานามา ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่น การวินิจฉัยตีความเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่พิพาทกันคดีนี้ว่าจะต้องนำบทบัญญัติใดมาใช้บังคับนั้นย่อมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แม้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คู่สัญญามิได้ระบุข้อความในสัญญาว่าให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ผลแห่งสัญญา จึงไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งของคู่สัญญาได้ แต่หลังเกิดเหตุเรือโดนกันจำเลยยื่นคำร้องขอเริ่มต้นคดีตาม พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ ที่ศาลแขวงโอกายามะ ประเทศญี่ปุ่น ศาลดังกล่าวมีคำสั่งอนุญาตให้เริ่มคดีโดยแต่งตั้งผู้บริหารจัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้พิจารณาข้อเรียกร้องและจัดทำตารางส่วนแบ่งเงินกองทุนการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือเสนอต่อศาล ต่อมาโจทก์ทั้งห้ายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารจัดการกองทุน ภายหลังที่มีการพิจารณาโดยผู้บริหารจัดการกองทุนแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเงินตามข้อเรียกร้องเป็นที่ยอมรับได้โดยเจ้าหนี้แต่ละราย จึงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ประกอบกับฝ่ายโจทก์เองได้เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยความสมัครใจ อีกทั้งมีข้อความระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยว่า การทำสัญญาให้มีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับการมีคำพิพากษา โดยมีการอ้างถึง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นในเงื่อนไขของสัญญาด้วย ถือได้ว่าคู่สัญญามีเจตนาให้ใช้กฎหมายญี่ปุ่นบังคับแก่ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้
ส่วนการที่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ขอสงวนสิทธิตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นไว้ จะทำให้สิทธิ์เรียกร้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ระงับสิ้นไปหรือไม่ และตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะข้อเรียกร้องอื่นในคดีที่ยื่นฟ้องในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น จำเลยยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องคดีนี้ด้วยหรือไม่นั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าเรียกร้องให้กำหนดข้อสงวนไว้ในสัญญาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลกระทบต่อคดีที่ดำเนินการที่ประเทศไทย แต่ฝ่ายจำเลยปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงทำให้ไม่มีข้อสงวนเกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ พฤติการณ์ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งห้าทราบดีถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวรวมทั้งเข้าใจกระบวนการการขอสงวนสิทธิอันเป็นผลตามกฎหมายของมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นแล้ว และในที่สุดโจทก์ทั้งห้าได้ตกลงตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ถือได้ว่าโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีระหว่างกันซึ่งรวมถึงข้อพิพาทที่มีการดำเนินคดีที่ศาลไทยด้วย การที่โจทก์ทั้งห้าตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุข้อสงวนสิทธิในการดำเนินคดีที่ศาลไทยไว้ในสัญญา เท่ากับโจทก์ทั้งห้าตกลงยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีนอกเหนือจากกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่ศาลในประเทศญี่ปุ่น และเมื่อโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระเงินจากกองทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้า ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ประเทศญี่ปุ่น ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าระงับสิ้นไปทั้งหมด
แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจำกัดความรับผิดเพื่อสิทธิเรียกร้องทางทะเล ค.ศ. 1976 และคำพิพากษาของศาลประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยแล้วว่า ให้นำ พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ มาใช้บังคับแก่คดีนี้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง อีกทั้งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว ตามมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น โดยที่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย ศาลไทยย่อมนำหลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทคดีนี้มาใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 5 ดังนั้น การมิได้เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งในประเทศที่ทำสัญญาและประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่สัญญา แม้มีการฟ้องแย้งก่อนหน้านี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามรายงานการประชุมการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 ปรากฏข้อความในช่องรายการอื่น ๆ ว่า โจทก์ตกลงถอนฟ้อง โดยจำเลยทั้งสองเสนอให้ขายที่ดินพิพาทในราคาไม่ต่ำกว่า 30,000,000 บาท ภายใน 1 ปี หากไม่มีผู้ซื้อ จำเลยที่ 2 ตกลงเป็นผู้ซื้อเอง เมื่อขายที่ดินพิพาทได้แล้ว จำเลยทั้งสองจะแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินตามสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์ให้แก่โจทก์ แต่จะจ่ายให้โจทก์ไม่ต่ำกว่า 8,500,000 บาท และในวันเดียวกันโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้ง ศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำเลยทั้งสองถอนฟ้องแย้ง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันที่จะระงับข้อพิพาทที่มีอยู่เดิมตามคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างมีเจตนามุ่งหมายให้มีการบังคับต่อกันตามบันทึกข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานการประชุมการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 3 จนถึงกับแต่ละฝ่ายต่างยอมถอนฟ้องและฟ้องแย้ง ยิ่งสนับสนุนให้เชื่อว่า ต่างฝ่ายมุ่งประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทเดิมและผ่อนผันให้ถือตามข้อตกลงใหม่ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 แม้ตามคำร้องขอถอนฟ้องและฟ้องแย้งจะมีข้อความว่า มีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ ก็เป็นเพียงข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า คู่กรณียอมผ่อนผันเพื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ใช่เป็นเพียงแนวทางในการเจรจาเบื้องต้นหรือเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลสมบูรณ์แต่อย่างใด เพราะมิเช่นนั้นทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองคงไม่ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและฟ้องแย้ง ส่งผลให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
of 10