คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
วินิจฉัยนอกประเด็น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 94 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3706-3718/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้วินิจฉัยว่าการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสิบสามและบริวารที่เข้าไปบุกรุกที่ดินพิพาท ให้ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสิบสามให้การว่า จำเลยแต่ละคนครอบครองโดยสุจริต สงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานาน โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เอกสารสิทธิของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสิบสาม แม้จำเลยทั้งสิบสามจะให้การว่า จำเลยแต่ละคนและบริวารทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันกับชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่หลายพันไร่มานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ก็ไม่อาจแปลได้ว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ การที่จำเลยทั้งสิบสามนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ทั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ที่ศาลล่างทั้งสองนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คดีนี้จะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง และคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งสิบสามสำนวนจะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การ และนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นประเด็นสำคัญในฟ้องเดิม มีผลทำให้การวินิจฉัยคดีในส่วนฟ้องแย้งที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและเห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเสียทั้งหมด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 เพราะข้อเท็จจริงตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเป็นเรื่องเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12102/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม vs. ทางจำเป็น: การใช้ทางโดยอาศัยความสัมพันธ์เครือญาติไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิ ป.ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมิใช่เป็นการใช้สิทธิในทางพิพาทอันเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินจึงไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม หลังจากจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของทางพิพาท โจทก์ทั้งสามมิได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าใช้ทางพิพาทโดยมีเจตนาเพื่อให้ได้ทางภาระจำยอม โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะอาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทในลักษณะเป็นปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองกว่าสิบปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแต่ประการเดียว แม้คำฟ้องบรรยายว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบ ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะประโยชน์ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นด้วย ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรื้อถอนประตูเหล็กและรั้วออกไปหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลยกฟ้องโจทก์ทั้งสามด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสามจะฟ้องใหม่ในเรื่องทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4178/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยนอกประเด็นความรับผิดในฐานะตัวการเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เป็นผู้กระทำละเมิด
คดีมีประเด็นพิพาทเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการหรือไม่ ดังนั้นเมื่อคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนละคนกับ ป. ผู้ขับรถยนต์คนเกิดเหตุ จึงมิได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ย่อมไม่ต้องรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ป. ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ใช้ ป. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวชนเสาไฟฟ้าของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในเหตุละเมิดตามฟ้อง เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7515/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทของศาลอุทธรณ์ และการหักชดใช้ค่าเสียหายจากสัญญาประกันภัย
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามแถลงสละประเด็นตามคำให้การและตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเพียงใด ดังนั้น คดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เนื่องจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 3 มาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาวินิจฉัยตามประเด็นที่ถูกต้อง โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเพียงว่า ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)
of 10