คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลใช้ดุลพินิจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษตามมาตรา 192 ว.อาญา และการพิจารณาพฤติการณ์ร้ายแรงเพื่อไม่รอการลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดพรากผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุกว่าสิบห้าปี อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ศาลย่อมปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีการกระทำอันเป็นความผิดรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและมีโทษเบากว่าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายได้ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุตามสัญญาเช่า: ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับได้หากสูงเกินส่วน
แม้ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 11 ทวิ จะให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุและในกรณีที่ผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาที่กำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จตามประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ แต่ตามสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมของกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ อ. ทำสัญญาเช่าจากโจทก์ข้อ 4 ระบุว่าผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 กฎหมาย ระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดและต้องรับผิดในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้นๆ ด้วย เช่นนี้ประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าข้อ 4 ด้วย และเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินเวลากำหนด จึงต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซึ่งการเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีผู้เช่าไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานในคดีภาษีอากรและการย้อนสำนวนเพื่อสืบพยานเพิ่มเติม
คดีนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การภายในกำหนด ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากติดรังวัดที่ดินซึ่งได้นัดไว้ก่อน สอบโจทก์ไม่ค้าน ย่อมถือว่าทนายจำเลยที่ 2 มีเหตุจำเป็นไม่อาจมาศาลได้ ชอบที่ศาลภาษีอากรกลางจะสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดี อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ส่งออกสินค้านอกราชอาณาจักรจริง ทำให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิได้รับโอนบัตรภาษี หากศาลภาษีอากรกลางได้ทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออก อันเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจให้งดสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาไปเสียทีเดียว จึงยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออกหรือไม่ คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรชอบที่จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง โดยให้ย้อนสำนวนไปทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจศาลไม่อนุญาตเลื่อนคดี-งดสืบพยานเมื่อจำเลยอ้างป่วย เหตุผลจากใบรับรองแพทย์ไม่น่าเชื่อถือ
ป.วิ.พ. มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับเด็ดขาดให้ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยเสมอไป เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในคำร้องขอเลื่อนคดีและใบรับรองแพทย์แล้วไม่เชื่อว่าการเจ็บป่วยของจำเลยจะมีอาการหนักจนไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจว่าไม่สมควรมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลยนั่นเอง และเมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยและใบรับรองแพทย์ที่ปรากฏต่อศาลชั้นต้นเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้วศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้ โดยไม่ต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10505/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้: ศาลงดบังคับคดีได้หากจำเลยชำระหนี้ครบถ้วน แม้มีช่วงชำระล่าช้า
ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยจะผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายงวดรวม 7 งวด ผิดนัดงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ ตกลงชำระงวดแรกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2547 แต่จำเลยนำเงินมาวางศาลชำระหนี้ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 ช้าไปเพียง 2 วันทำการ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ตามที่โจทก์ยื่นคำขอในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 19 มีนาคม 2547 กรณีถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจกระทำได้ เพราะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจแห่งดุลพินิจของศาลชั้นต้น ทั้งในงวดต่อๆ มา เดือนสิงหาคม 2547 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เดือนสิงหาคม 2548 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เดือนสิงหาคม 2549 และเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จำเลยชำระตรงตามนัดและโจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมระงับสิ้นไป จึงไม่มีเหตุต้องออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8287-8289/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีแรงงาน: การงดสืบพยานเมื่อข้อเท็จจริงคู่ความรับกันเพียงพอ ชี้ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชอบแล้ว
ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า ศาลแรงงานกลางได้สอบข้อเท็จจริงจากโจทก์ทั้งสามและจำเลยประกอบเอกสารแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุโลมใช้กับคดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความประกอบเอกสารในวันนัดกำหนดประเด็นและสืบพยานโจทก์ เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยคดีตามที่คู่ความรับกัน ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจวิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงคดีนี้ จึงไม่มีกรณีที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้มีการสืบพยานที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า "ในกรณีที่ศาลแรงงานสั่งให้มีการสืบพยาน ศาลจะสอบถามคู่ความแต่ละฝ่ายว่าประสงค์จะอ้างและสืบพยานใดบ้าง..." ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับในสัญญาซื้อขาย: ศาลใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหากสูงเกินส่วน และต้องพิสูจน์ความเสียหายจริง
โจทก์ทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลต์ซีเมนต์จากจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันและในระหว่างที่ยังไม่บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ส่งมอบนับแต่วันครบกำหนดส่งมอบถึงวันบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามกำหนดในสัญญา โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในทันที แต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าและแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบรับยินยอมชำระค่าปรับตามสัญญา พฤติการณ์ถือได้ว่าความเสียหายพิเศษของโจทก์ในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 จำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันต้องชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวัน
โจทก์เป็นส่วนราชการจะได้รับความเสียหายจากงานของราชการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่คู่ความได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง และคู่กรณีจะต้องรับข้อเท็จจริงกันหรือนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษอย่างไร จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3228/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพหลังศาลชั้นต้นพิพากษา และดุลพินิจศาลในการลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
ป.อ. มาตรา 78 เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ เป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ จำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ เพราะจำเลยยังติดใจในประเด็นรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว เพียงแต่ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ยกปัญหาที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพดังกล่าวมาเป็นเหตุลดโทษให้จำเลยทั้งสองเพราะเห็นว่าล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การหรืออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงมิใช่การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดและกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าวกระทบแก่ความผิดเดิม และการใช้ดุลพินิจศาลในการรอการลงโทษ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันผลิตพืชกระท่อมและร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76/1 ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และเพิ่มเติมมาตรา 26/2 ฐานผลิตพืชกระท่อม และมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด และมาตรา 17 ให้ยกเลิกมาตรา 75 และมาตรา 76/1 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษฐานผลิตพืชกระท่อมในมาตรา 75 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 75 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน และบทกำหนดโทษฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 76/1 วรรคสี่ ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 76/1 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากันเช่นเดียวกัน ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 51, 54 รวมกับความผิดฐานอื่น ๆ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 51 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 8, 9, 101, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 101, 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งสามจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3716/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชอบด้วยกฎหมายเมื่อศาลขยายเวลาให้ยื่นคำร้องอนุญาตฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกได้
โจทก์ร่วมยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 มิใช่เป็นกรณีที่ต้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาให้ถูกต้องภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ร่วมทิ้งคำร้อง อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นคำร้องที่ถูกต้องวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คำสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
of 11