คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,361 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองมีผลเหนือกว่าเนื้อที่ระบุในสัญญา หากผู้รับโอนครอบครองพื้นที่เกินกว่าที่ระบุ
ตามคำฟ้องของโจทก์ คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งห้า กับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์เป็นการโต้แย้งกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของฝ่ายโจทก์หรือจำเลยทั้งห้า เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งห้ายอมรับข้อเท็จจริงว่ามูลเหตุคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ย่อมต้องวินิจฉัยปัญหาในข้อเท็จจริงว่าโจทก์ให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 เพียงใด เพื่อไปสู่ปัญหาในข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของฝ่ายโจทก์หรือจำเลยทั้งห้า เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทก็เป็นของโจทก์ ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงถูกต้องแล้ว
แม้ตามหนังสือแบ่งให้ที่ดินและ น.ส.3 จะระบุชัดว่าโจทก์และ ป. ให้ที่ดินตาม น.ส. 3 ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 มีเนื้อที่ 3 งาน 60 ตารางวา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและที่ได้รับการให้ตลอดมาโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งตอนที่จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออกโฉนด โจทก์ก็ไประวังและรับรองแนวเขตในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้แม้ขณะนั้นโจทก์จะยังไม่ทราบว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดมีเนื้อที่เท่าใดก็ตาม แต่บันทึกถ้อยคำระบุไว้ชัดว่าในการรังวัดออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์เห็นว่าถูกต้องแล้ว ไม่มีการรุกล้ำแนวเขตกันแต่อย่างใด เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่ได้รับการให้ และรังวัดออกโฉนดในส่วนที่ครอบครองทำประโยชน์ จึงเป็นการให้ที่ดินด้วยการส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่จำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาให้ตามส่วนที่ได้รับมอบการครอบครองยิ่งกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาแบ่งให้ที่ดินและ น.ส. 3 ดังนั้นเมื่อมีรังวัดออกโฉนดที่ดินได้เนื้อที่ 1 ไร่ 99 ตารางวา กรณีต้องถือว่าโจทก์และ ป. ให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 มีเนื้อที่ดังกล่าว หาใช้เนื้อที่ 3 งาน 60 ตารางวา ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาแบ่งให้ที่ดินและ น.ส. 3 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1440/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม การจัดสรรที่ดิน และการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กรณีละเมิดสิทธิจากข้อสัญญา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดสรรที่ดินแล้วปลูกตึกแถวจำหน่ายโดยโฆษณาว่าในการก่อสร้างตึกแถวทุก 20 ห้อง จะเว้นที่ว่างไว้ 4 เมตร เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และได้ประกาศขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่บุคคลทั่วไป หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวรวม 3 ห้องแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันขายที่ดินโฉนดเลขที่ 98146 ซึ่งเป็นที่ดินที่จะต้องเว้นว่างไว้ตามกฎหมายให้แก่จำเลยที่ 4 ต่อมาจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 สร้างตึกแถวบนที่ดินโฉนดดังกล่าว ในการก่อสร้างจำเลยได้ยึดโครงสร้างของตึกแถวที่สร้างขึ้นใหม่ไว้กับตึกแถวของโจทก์ เป็นเหตุให้ตึกแถวของโจทก์แตกร้าวแล้วทรุดตัวลงมา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนตึกแถวออกจากที่ว่างดังกล่าวหรือที่ดินพิพาทและจดทะเบียนภาระจำยอมให้เป็นที่ว่างให้แก่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดสรรที่ดินและมีการให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีที่ว่างซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการอันหมายถึงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 25 และการให้คำมั่นดังกล่าวเป็นการก่อให้เกิดภาระจำยอมตามกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เรื่อง ควบคุมการจัดสรรที่ดิน อันมีผลบังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลูกสร้างตึกแถวเพื่อจำหน่าย คำฟ้องของโจทก์จึงมีประเด็นว่า ที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมหรือไม่ ส่วนที่โจทก์ขอให้จดทะเบียนที่ว่างเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้น แม้คำขอดังกล่าวศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท แต่โจทก์ชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนภาระจำยอมในโฉนดที่ดินพิพาทได้เพราะเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิของโจทก์ประการหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1391 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดสรรที่ดินและปลูกสร้างตึกแถวทั้งสองฝั่งของถนนซอยที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้เป็นสาธารณูปโภค ที่ดินพิพาทเป็นที่ว่างที่เชื่อมกับถนนซอยดังกล่าว ประกอบกับเจตนารมณ์ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่บัญญัติให้มีการเว้นที่ว่างไว้เมื่อมีการก่อสร้างตึกแถวทุก 20 ห้องนั้น เพื่อเป็นการสะดวกในการให้ความช่วยเหลือเมื่อมีเหตุอัคคีภัย และอาจใช้เป็นที่กลับรถหรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้ซื้อที่ดินที่มีการจัดสรร กรณีจึงถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นถนนซอยซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรของผู้ที่ซื้อที่ดินและตึกแถวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 4 ปลูกสร้างตึกแถวบนที่ดินพิพาทโดยยึดโครงสร้างตึกแถวที่ก่อสร้างขึ้นดังกล่าวกับโครงสร้างตึกแถวของโจทก์ เป็นเหตุให้ตึกแถวของโจทก์แตกร้าว และเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดสรรที่ดินโดยโฆษณาว่าจะเว้นที่ว่างไว้ 4 เมตร คือที่ดินพิพาทอันเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์แล้วผู้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยผลของกฎหมาย ข้อความที่โฆษณาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขเสนอขายที่ดินพร้อมตึกแถวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์หรือผู้ซื้อรายอื่น ๆ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ได้โฆษณาไว้โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และยอมให้จำเลยที่ 4 ปลูกสร้างตึกแถวลงในที่ดินพิพาทดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 421 ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ดังนั้น จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองประกันหนี้แยกสัญญา: เมื่อหนี้ประธานระงับ หนี้อุปกรณ์ย่อมระงับตามไปด้วย
ว. ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารจำเลยสาขาบางบอนโดยมี ส. จำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาโจทก์ที่ 1 กับ ว. กู้ยืมเงินจากธนาคารจำเลยสาขาบางแค โดยมีโจทก์ทั้งสองจำนองที่ดินเป็นประกัน หนี้ประธานทั้งสองจำนวนเกิดขึ้นต่างสาขากัน และโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเต็มจำนวนหนี้ที่มีอยู่แต่ละสัญญาแล้ว สัญญาจำนองประกันหนี้ที่มีอยู่แก่จำเลยสาขาบางแค จึงแยกต่างหากจากหนี้ที่มีอยู่แก่จำเลยสาขาบางบอน ไม่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ดังนั้น ข้อความที่ว่าเป็นประกันหนี้ทุกประเภททุกอย่างในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่โจทก์ทั้งสองทำกับจำเลยสาขาบางบอนจึงหมายถึงหนี้ประกันแต่ละสัญญา มิรวมถึงหนี้คนละประเภทและคนละสาขากัน เมื่อโจทก์ที่ 1 และ ว. ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่จำเลยสาขาบางแค อันทำให้หนี้ประธานระงับสิ้นไปแล้ว หนี้ตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงระงับไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) แม้ ว. ยังเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่มีอยู่ต่อจำเลยสาขาบางบอนก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9208-9209/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาหมดอายุตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนต้องคืนหลักประกัน
การปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนนั้น สามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้สูงสุดเพียง 6 เดือนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 113 วรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่อาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องมาขอปล่อยผู้ต้องหาด้วยการนำโฉนดที่ดินมาให้จำเลยยึดถือไว้อีก จำเลยจึงต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9204/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารสัญญาที่ไม่สมบูรณ์และข้อพิรุธในการให้กู้ยืมเงิน ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมจะต้องอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งหมด ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9190/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการฝากทรัพย์: สัญญาฝากทรัพย์มีอายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671
เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของท่าเทียบเรือและรับจ้างขนสินค้าขึ้นจากเรือได้ขนถ่ายรถยนต์ของโจทก์ทั้งหมด ขึ้นจากเรือเสร็จแล้ว โจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันที แต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลย โดยมีการ คิดค่าเก็บรักษา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วย ซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝาก การฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหม ทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ อันมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับรถยนต์ คืนไปจากจำเลยอันเป็นวันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8947/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: สถานที่ทำสัญญาเป็นสถานที่มูลคดีเกิด แม้ที่ดินจะอยู่อีกจังหวัด
โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ได้ชำระไปแล้วคืนเพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำที่สำนักงานของจำเลยในกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจึงเป็นสถานที่มูลคดีเกิด ส่วนจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินที่โจทก์ตกลงจะซื้อจะขายกันถือไม่ได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อมูลคดีมิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวโจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น
การที่โจทก์เสนอคำฟ้องโดยอ้างว่ามูลคดีเกิดในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาในเบื้องต้น เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนที่โจทก์จำเลยนำสืบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามูลคดีเกิดในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความในชั้นตรวจคำฟ้อง หรือสั่งแก้ไขคำสั่งรับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องเพื่อให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงหาเป็นการไม่ชอบไม่
ศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วก็ย่อมไม่มีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลคืนค่าธรรมเนียมทั้งหมดเฉพาะกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีเท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8920/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การหลังศาลตัดสินแล้ว และประเด็นอายุความ ต้องไม่ขัดกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และการพิจารณาหนี้ตามสัญญา
เดิมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำให้การจำเลยมิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นข้ออื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ประเด็นเรื่องอายุความจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยเฉพาะประเด็นอื่นที่ยังมิได้ดำเนินการเท่านั้น จำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพื่อให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความขึ้นอีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอายุความแล้วหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งศาลที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ. ตาราง 1 ข้อ 2 (ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8673/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทน: การชำระหนี้กู้ยืมควบคู่กับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา
โจทก์และจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโดยมีข้อตกลงว่า หากจำเลยชำระเงินกู้ให้โจทก์ทั้งหมดครบถ้วนแล้ว โจทก์ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่ให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนในวันที่จำเลยชำระหนี้ครบถ้วน หนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นหนี้ที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระตอบแทนซึ่งกันและกันทันทีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ มิใช่เพียงข้อผูกพันที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะแยกการชำระหนี้ออกจากกันได้ กรณีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 คือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดแก่โจทก์โดยไม่ได้เสนอว่าโจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญากู้เงินตอบแทนด้วยจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะขอชำระหนี้ตอบแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8673/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนและการชำระหนี้ตามสัญญา สัญญาจะบังคับได้ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมชำระหนี้ซึ่งกันและกัน
สัญญากู้เงินข้อ 4 ระบุไว้ชัดว่า "หากผู้กู้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้กู้ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ตนเองถือกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 265906 ให้แก่ผู้กู้ในวันที่ผู้กู้ชำระหนี้ครบถ้วน?" ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าหากจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนในวันที่จำเลยชำระหนี้ครบถ้วน ทำให้หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นหนี้ที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกันทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ มิใช่เพียงข้อผูกพันที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถแยกการชำระหนี้ออกจากกันได้ กรณีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 คือ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ การที่โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดแก่โจทก์ โดยไม่ได้เสนอว่าโจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ตอบแทนแก่จำเลยด้วย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้กู้ยืมเงินตามข้อ 1 ให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะขอชำระหนี้ตอบแทนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
of 337