คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิบัตร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 92 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3144/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น เพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร
การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จะเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกโดยชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 หรือไม่ เห็นควรพิจารณาเป็นลำดับไปว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 หรือไม่ และมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่ ในประเด็นเรื่องการประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่นำสืบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้วนอกเหนือจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 - 2540 และรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (1) และมาตรา 6 แล้ว ส่วนการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่นั้น พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมการเกษตรและได้อ้างอิงหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จำเลยที่ 1 ไม่ได้คิดค้นอุปกรณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ขึ้นเอง แต่นำมาประกอบรวมเข้าด้วยกันไม่ปรากฏว่าระบบการทำงานของฐานใส่อ้อยและกล่องป้อนอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพแตกต่างจากที่วางพาดอ้อย และช่องเสียบลำอ้อยทั่วๆ ไปอย่างไร เมื่อปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 เพิ่มปริมาณช่องป้อนต้นอ้อยให้มากขึ้น จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงเรื่องการปรับระยะห่างของร่องนั้น เมื่อผู้ออกแบบเครื่องปลูกอ้อยสามารถปรับแต่งให้ได้ระยะตามที่ต้องการได้อยู่แล้ว ชุดโครงผาลชักร่องตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จึงเป็นเพียงโครงสร้างสำหรับยึดเกาะให้แก่ชิ้นส่วนต่าง ๆ นำไปพ่วงกับรถแทรกเตอร์และมิได้มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ทั้งเป็นโครงสร้างปกติพบได้ในเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่าง ๆ ทั่วไป การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประดิษฐ์ไม่ขึ้นใหม่: เปรียบเทียบอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 กับเลขที่ 5116 และสิทธิบัตรจีน CN 201068257Y
คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นด้วยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 7 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้
ที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 มีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 2 ถึงที่ 9 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 นั้น ก็ล้วนเป็นการอ้างถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 1 เว้นแต่ข้อที่ 9 ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 8 อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่ามีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เช่นกัน ดังนี้ ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 9 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ในอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว สำหรับข้อถือสิทธิข้อที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 ซึ่งมีครีบยื่น (8) มีลักษณะเป็นครีบเฉียงนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตรงกับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ส่งผลต่อองค์ประกอบสำคัญของการประดิษฐ์ ไม่ทำให้การทำงานต่างไปจากเดิม เมื่อพิจารณาข้อถือสิทธิทั้งหมดโดยรวมแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ไม่แตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเดิม นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลอาจถอดแยกออกจากกันได้โดยปรับปรุงให้ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลกลายเป็นชิ้นส่วนเดียวกันนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพียงเล็กน้อยโดยไม่ทำให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ทั้งฉบับจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรเห็นว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวจึงชอบแล้ว
of 10