คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2479

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสินบน/สินจ้างเพื่อเอื้อประโยชน์ในหน้าที่ราชการ แม้ไม่ใช่การนอกหน้าที่ ก็ถือเป็นความผิด
สัญญาให้สินน้ำใจอันจะเป็นผิดตาม ม.1+7 นั้นจะต้องปรากฎว่าได้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่บุคคลผู้ให้สินน้ำใจ ความผิดตาม ม.137 นั้นผู้กระทำไม่จำเป็นต้องทำการนอกเหนือจากหน้าที่ เพียงแต่รับสินจ้างเพื่อช่วยเหลือกิจการในหน้าที่ก็เป็นผิดตามมาตรานี้ได้ ประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.213 ฎีกาอุทธรณ์ อำนาจศาลฎีกา เหตุลักษณคดี ฟ้องหาว่าจำเลยให้แลรับสินน้ำใจซึ่งกันและกัน เมื่อไม่ปรากฎว่าสัญญานั้นเป็นสัญญารับสินบน แม้จำเลยคนใดคนหนึ่งจะมิได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดถึงคนที่ไม่ฎีกาด้วยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2479

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้าราชการรับสินจ้างช่วยเหลือประทานบัตร์ทำเหมืองแร่ สัญญาเป็นโมฆะ
เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินทำสัญญารับสินจ้างรางวัลจากบุคคลภายนอก เพื่อช่วยเหลือในข้อขัดข้องบางอย่างในการร้องขอประทานบัตร์ทำเหมืองแร่นั้น ต้องด้วยข้อห้ามตามพ.ร.บ.ระเบียนข้าราชการพลเรือน ม.42-43 สัญญานั้นเป็นโมฆะ สุภาษิตกฎหมาย บุคคลที่มาขอความช่วยเหลือจากศาลต้องมาโดยมือบริสุทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2473

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินโดยสุจริตและมีสินจ้าง แม้มีการแก้ทะเบียนหลังโฉนด ก็ยังสามารถนำสืบได้
รับโอนที่ดินไว้โดยสุจริตและมีสินจ้าง ลักษณพะยานสืบหักล้างการแก้ทะเบียนหลังโฉนดเทียบฎีกาที่ 651-652/67

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, และการหักเงินรางวัลอายุงาน
จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าที่พักให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อโจทก์ต้องไปทำงานในต่างจังหวัด หากโจทก์กลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 จ่ายเงินทั้งสองประเภทให้แก่โจทก์เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าที่พักจึงไม่เป็นค่าจ้าง
โจทก์แจ้งความประสงค์ให้จำเลยที่ 1 แบ่งจ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน จำเลยที่ 1 ตกลง เกิดเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างในการจ่ายค่าจ้างให้เป็นไปตามกำหนดนั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีกำหนดระยะเวลาจำเลยที่ 1 บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 เป็นผลให้สัญญาจ้างเลิกกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปคือวันที่ 15 สิงหาคม 2547 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทันทีตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โดยไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2547 รวม 18 วัน
แผนรางวัลอายุงานเป็นสภาพการจ้างที่ผูกพันจำเลยที่ 1 กับพนักงานที่รวมถึงโจทก์ด้วย ตามระเบียบแผนรางวัลอายุงานจำเลยที่ 1 มีสิทธิลดเงินรางวัลอายุงานลงได้เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งการเลิกจ้างในทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้นกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอันเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเพราะการเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำค่าชดเชยไปหักออกจากเงินรางวัลอายุงานที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938-8992/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการจ่ายสินจ้างทดแทนที่ไม่ครบถ้วน
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 ครบถ้วนแล้วโดยพิจารณาจากเอกสาร ซึ่งมีรอยแก้ไขจนไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ และไม่พิจารณาว่าลายมือลูกจ้างในเอกสารดังกล่าวมีการลงลายมือชื่อไว้ตั้งแต่เมื่อใดและลงลายมือชื่อรับเงินประเภทใดเอกสารดังกล่าวมีพิรุธหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี และที่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าอุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี ไม่เคยผิดนัดจ่ายค่าจ้าง มีการจ่ายเงินโบนัสทุกปีและปรับค่าจ้างประจำปีสม่ำเสมอมาโดยตลอด การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าจำเลยประกอบกิจการขาดทุน การเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดีล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่จากเดิมที่เคยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างมาเป็นแยกค่าครองชีพออกจากค่าจ้าง แต่หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วจำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างรายวันและรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ ย่อมถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ดังนั้น ในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย นายจ้างจะต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมค่าจ้างทุกประเภท รวมทั้งค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโฆฆะ
โจทก์ที่ 10 ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าส่วนที่ขาดเป็นเงิน 69 บาท แต่ตามเอกสารในสำนวนปรากฏว่าโจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้เช่นเดียวกับโจทก์อื่น ๆ คนละ 350 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมจึงให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 350 บาท ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
จำเลยจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้า แต่จำเลยจ่ายไม่ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบเป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะและมิใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าสิบห้าจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าสิบห้าทวงถามเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8631/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลยืนตามคำพิพากษาให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิลูกจ้างเลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็จะต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นกระบวนการ ไม่อาจจะใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 โดยระบุในคำร้องว่า ประสงค์จะเรียกร้องเพียงค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยที่ 1 จึงต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยตามความประสงค์ของโจทก์ แต่ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยมาตรา 124 แล้ว
โจทก์มิได้ฟ้องเพียงแต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เท่านั้น แต่ยังได้ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยที่ 2 และมีคำขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่สิทธิได้รับเงินที่โจทก์เลือกดำเนินการต่อพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสุดสิ้นกระบวนการแต่เป็นการฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยได้
ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปี โดยโจทก์มีความสัมพันธ์เป็นญาติใกล้ชิดกันกับหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 การจ่ายเงินเดือนก็ทำเพียงนำเงินสดใส่ซองมอบให้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์ตามกำหนดและโจทก์กับพี่ชายของจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันและมีเหตุการณ์ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจ การไม่อนุญาตให้ใช้รถยนต์กระบะ การไม่ชำระค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ตลอดจนการเปลี่ยนกุญแจทางขึ้นห้องพักที่สอดรับกับการไม่จ่ายเงินเดือน แล้วจึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างอีกต่อไป จึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ยกเอาบางส่วนของคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 มาแปลความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงถือว่าเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 8 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวล่วงหน้าเลิกจ้างมีผลเมื่อลูกจ้างได้รับทราบ และสิทธิในการคิดดอกเบี้ยจากสินจ้างแทนการบอกกล่าว
การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง เพียงแต่ให้คู่สัญญาฝ่ายที่จะเลิกสัญญาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา โดยต้องบอกกล่าวในเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งอันจะก่อให้เกิดผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าภายในเวลางานตามปกติแต่อย่างใด การบอกกล่าวเลิกสัญญาจึงมีผลนับแต่ที่คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับการบอกกล่าวได้รับทราบการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น โจทก์รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และจำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ 25 ของเดือน การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผลให้เลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 53 วัน
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่เมื่อทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4030/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดตำแหน่งและเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: สิทธิลูกจ้างในการได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจยุบรวมแผนกการเงินและแผนกบัญชีเข้าด้วยกันเป็นแผนกการเงินและบัญชีตามมติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 เพื่อประสิทธิภาพและความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สิทธิและหน้าที่ในการบริหารงานของบริษัท ข้อ 2 รวมทั้งมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้างเพื่อให้เหมาะสมแก่งานเพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบายบริหารบุคคลของบริษัท ข้อ 2 ก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้างและไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยที่ 1 ย้ายโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในระดับหัวหน้าแผนกที่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนกในการปฏิบัติงาน ไปดำรงตำแหน่งพนักงานการเงินในแผนกการเงินและบัญชี ซึ่งเป็นพนักงานปฏิบัติงานที่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนก โดยต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้จัดการแผนก จึงเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลดค่าจ้างโจทก์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงใดนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาแล้วได้ความว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2558 จึงถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 53,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้าง 2 งวด งวดแรก ทุกวันที่ 28 ของเดือน และงวดที่สอง ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาวินิจฉัยในส่วนนี้ไปเสียทีเดียวได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย สำหรับค่าชดเชย โจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) โดยรับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 28 เมษายน 2558 จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปคือต้องให้ลูกจ้างอยู่ทำงานถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างให้มีผลทันทีในวันที่ 27 เมษายน 2558 โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับหากอยู่ทำงานจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง โดยรับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อเงินส่วนนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามเมื่อใด ให้ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดส่วนนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพียงใด เนื่องจากการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างคนประจำเรือมีกำหนดระยะเวลา สิทธิการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ 2 ฉบับ ฉบับแรกตกลงว่าจ้างโดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2559 สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ตกลงว่าจ้างโดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2560 ตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรก จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ทำงานบนเรือในตำแหน่งต้นกล มีหน้าที่หลักด้านเทคนิคของเรือ ตรวจซ่อมเครื่องจักร วางแผนงานกำหนดหน้าที่งานให้แก่คนประจำเรือแผนกช่างกล ประจำอยู่บนเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศของจำเลย โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่า "...สัญญาว่าจ้างฉบับนี้เป็นไปตามมาตรฐาน MLC A2.1.4...." กับระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิดและที่อยู่ปัจจุบันของโจทก์ ชื่อและที่อยู่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเรือ สัญชาติของเรือ สถานที่และวันเดือนปีที่ทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ในการจ้างงาน อัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนอื่น ๆ วันเริ่มการว่าจ้างและวันสิ้นสุดการว่าจ้าง เงื่อนไขการสิ้นสุดของสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองการประกันสังคมและสุขภาพที่จำเลยเป็นผู้จัดหาให้โจทก์และสิทธิของโจทก์ในการได้รับการส่งตัวกลับ ซึ่งมีลักษณะและรายละเอียดทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์เรื่องสภาพการจ้างงานของคนประจำเรือตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 ที่กำหนดให้ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือจะต้องมีรายการดังกล่าว อันเป็นมาตรฐานสากลของการทำงานบนเรือเดินทะเล ประกอบกับเหตุผลประการหนึ่งในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว คือ การทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือเกี่ยวข้องกับกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศที่ต้องนำมาตรฐานสากล คือ อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) มาปฏิบัติต่อแรงงานทางทะเลเป็นกรณีเฉพาะ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าประสงค์ให้สัญญาดังกล่าวมีมาตรฐานการทำงานทางทะเลสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของการทำงานของคนประจำเรือตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ด้วย
โจทก์เริ่มต้นทำงานกับจำเลยตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 และประเทศไทยได้มีการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานทางทะเลแห่งอนุสัญญาดังกล่าวโดยการตรา พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ขึ้นมาใช้บังคับสำหรับแรงงานทางทะเลเป็นกรณีเฉพาะ แม้ขณะวันเริ่มต้นทำงานของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกไม่อาจนำ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาใช้บังคับต่อกันได้ก็ตามแต่เมื่อระหว่างที่สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกยังมีผลผูกพันคู่สัญญาอยู่นั้น พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ได้มีผลใช้บังคับแล้ว การที่จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งต้นกลประจำอยู่บนเรือของจำเลยและได้รับค่าจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรก จึงถือเป็นการทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือตามบทนิยามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยอันเป็นการเรียกร้องตามสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างซึ่งจะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เลิกจ้าง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ส่วนสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 นั้น โจทก์เริ่มต้นทำงานตามสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 เช่นกัน
เมื่อ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน" และไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติในส่วนของค่าชดเชยไว้เป็นการเฉพาะ หรือบัญญัติให้คนประจำเรือได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือมีบทบัญญัติอื่นที่ยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่ข้อตกลงจ้างงานของคนประจำเรือที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นการทำงานและระยะเวลาสิ้นสุดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 44 วรรคหนึ่ง กับก่อนที่จำเลยจะตกลงจ้างคนประจำเรือทุกครั้งจำเลยจะต้องจัดทำการอบรมทดสอบร่างกายจิตใจและความรู้ความสามารถในการทำงานบนเรือรวมถึงความรู้เกี่ยวกับกฎข้อบังคับระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรือเดินทะเลเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อม หากพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลใดมีความพร้อมผ่านเกณฑ์ จำเลยจะตกลงว่าจ้างให้ทำงานในครั้งต่อไป ประกอบกับการทำงานบนเรือเดินทะเลที่มีลักษณะและสภาพของงานแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไป การที่จำเลยต้องทำการอบรมทดสอบร่างกายจิตใจและความรู้ความสามารถในการทำงานบนเรือก่อนที่จะตกลงจ้างคนประจำเรือทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ที่จะจ้างคนประจำเรือมีกำหนดระยะเวลาเป็นคราว ๆ ไป
สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า หากสัญญาว่าจ้างสิ้นสุดลงในขณะที่เรือมิได้อยู่ในเมืองท่า ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้ได้รับการต่ออายุออกไปอีกเป็นระยะเวลาไม่เกินสามเดือน และบริษัทจะดำเนินการจัดส่งคนประจำเรือกลับยังภูมิลำเนาเดิมในเมืองท่าที่สะดวกในการเดินทางกลับ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่คงหมายความเพียงว่าเมื่อสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาไว้สิ้นสุดลงในขณะที่เรือมิได้อยู่ในเมืองท่า ก็ให้ต่ออายุสัญญาว่าจ้างออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อจำเลยจะได้ดำเนินการจัดส่งคนประจำเรือกลับภูมิลำเนาเดิมของคนประจำเรือเท่านั้น อันเป็นการคุ้มครองคนประจำเรือว่าก่อนที่จะส่งคนประจำเรือซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินเรือกลับภูมิลำเนานั้น คนประจำเรือมีสิทธิได้รับค่าจ้างต่อไปอีกระยะหนึ่งแต่ไม่เกินสามเดือน ดังนี้ สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับที่ 2 จึงไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน
เมื่อสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างและมีการสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ หรือสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าจ้างตามผลงาน, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, การคำนวณฐานจ่าย, การเลิกจ้าง
การเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันทั่วโลกส่งผลกระทบให้จำเลยมีปริมาณงานลดลงและมีจำนวนพนักงานมากเกินกว่าความต้องการของงาน จำเลยจึงเลิกจ้างลูกจ้างทั้งก่อนและหลังเลิกจ้างโจทก์กับพวกอีกหลายคนโดยไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติในการเลิกจ้างลูกจ้างคนใดคนหนึ่ง แม้ปี 2557 ถึงปี 2559 จำเลยมีผลกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ผลประกอบการทั่วโลกของจำเลยประสบปัญหาขาดทุนสูงกว่าผลกำไรที่ได้จากผลประกอบกิจการในประเทศไทยหลายเท่าตัว จำเลยพยายามหาทางแก้ไขปัญหาก่อนเลิกจ้างโจทก์กับพวก ตั้งแต่การไม่ปรับเงินเดือน การปลดผู้บริหาร การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานสาขาอื่นในต่างประเทศ การยุบสำนักงานบางส่วน และการปรับลดลูกจ้าง ด้วยเหตุเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อคู่มือพนักงาน จำเลยจัดหมวดหมู่ของลูกจ้างให้สอดคล้องกับลักษณะของงานและสถานที่ทำงานโดยแบ่งเป็นพนักงานประจำสำนักงานและพนักงานด้านการปฏิบัติการ โดยกำหนดให้พนักงานด้านการปฏิบัติการต้องทำงานตามตารางการทำงานปกติ อันประกอบด้วยวันที่ทำงานภาคสนามติดต่อกันไม่เกิน 28 วัน ตามด้วยวันหยุดประจำช่วง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของโจทก์กับพวก การที่จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนให้แก่โจทก์กับพวก โดยคิดจากการที่โจทก์กับพวกไปทำงานบนแท่นขุดเจาะและบนหลุมปิโตรเลียมในวันทำงาน จึงเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์กับพวกสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติโดยคำนวณตามผลงาน การที่จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์กับพวกในกรณีโจทก์กับพวกเจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่งเป็นสิทธิของลูกจ้างที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์กับพวกมีสิทธิลาป่วยและได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย เงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมจึงเป็นค่าจ้างตามผลงาน การที่คู่มือพนักงาน กำหนดให้เงินดังกล่าวไม่ถือเป็นค่าจ้างนั้น ไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัตินิยามความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกรและค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป เป็นเงินที่จำเลยจ่ายตามประสิทธิภาพและผลของการทำงาน จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อเป็นการจูงใจให้โจทก์กับพวกตั้งใจทำงานให้รอบคอบเพื่อส่งผลต่อการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ อันจะถือเป็นค่าจ้างได้
จำเลยมีข้อโต้แย้งว่า เงินค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนการผลงานทั่วไป เป็นค่าจ้างหรือไม่ การไม่นำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์กับพวก ถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับพวก
of 11