คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อาคารชุด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 105 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356-5371/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ซื้อห้องชุดจากการประมูลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระของเจ้าของเดิมตามกฎหมายอาคารชุดและเงื่อนไขการประมูล
การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่ โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จนครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 29 วรรคสอง, 41 และข้อบังคับกับเงื่อนไขที่ระบุในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 5 ปี ย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพียงจำนวนที่โจทก์เสนอขอชำระและออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ โดยไม่ยอมชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมค้างชำระทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้รับผิดตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9990/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 และอำนาจฟ้องขับไล่กรณีผู้ซื้อไม่สุจริต
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยและบริษัท ว. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกันก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2 มีผลใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากตารางการชำระเงินและใบเสร็จรับเงินว่า ภายหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน จำเลยในฐานะผู้จะซื้อได้ชำระเงินดาวน์และชำระราคาห้องชุดพิพาทส่วนที่เหลือให้แก่บริษัท ว. และบริษัท อ. ไปครบถ้วนแล้ว เช่นนี้จำเลยซึ่งได้ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้บริษัท อ. ในฐานะผู้จะขายจดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทให้แก่ตนได้ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2
ส่วนที่จำเลยให้การและนำสืบรวมทั้งอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับโอนห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิในห้องชุดพิพาทได้ก่อนโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. โดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหานี้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยรับมอบห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. ตั้งแต่เมื่อปี 2551 และพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาทตลอดมา โจทก์ซึ่งเพิ่งมาซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. เมื่อปี 2554 จึงน่าจะทราบเป็นอย่างดีว่าในห้องชุดพิพาทมีจำเลยพักอาศัยอยู่ การที่โจทก์ยังคงตกลงซื้อห้องชุดพิพาทโดยไม่ได้สอบถามให้ได้ความถึงสาเหตุที่จำเลยเข้าพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาท เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าโจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจยกเรื่องความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องขับไล่จำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุริมสิทธิค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคารชุด: มีลำดับก่อนเจ้าหนี้จำนอง แม้แจ้งหนี้ล่าช้า ตราบใดที่แจ้งก่อนจ่ายเงิน
แม้ผู้ร้องไม่ได้ส่งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 335 วรรคสอง ก็มิได้ทำให้บุริมสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 41 (2) ต้องเสียไป และเมื่อผู้ร้องส่งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคท้าย ก่อนที่จะมีการจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแล้ว ย่อมทำให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิอยู่ในลำดับก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4457/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: การบังคับคดีและการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้จำนอง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 29 กำหนดเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ก็ต่อเมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง ส่วน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2558 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือไปยังผู้ร้อง ที่บัญญัติเพิ่มมาตรา 309 จัตวา ซึ่งวรรคสองและวรรคสามของมาตราดังกล่าวเป็นทำนองเดียวกับมาตรา 335 แห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งใช้บังคับขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดนั้นเป็นเพียงการยกเว้นให้ไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกรณีที่ซื้อห้องชุดได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระแก่นิติบุคคลอาคารชุดในกรณีที่นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เพื่อมิให้ผู้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ อันเป็นการจูงใจและลดอุปสรรคในการขายทอดตลาดห้องชุดให้สามารถจำหน่ายได้ในเวลาที่รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม หาใช่บทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงลำดับบุริมสิทธิของค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 ให้เป็นอย่างอื่น หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงต้องด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดและถ้าผู้จัดการได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4179-4180/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกประชุมใหญ่เจ้าของอาคารชุด: กรอบระยะเวลาตาม พ.ร.บ.อาคารชุด และการใช้สิทธิเรียกประชุมของเจ้าของอาคารชุด
ขั้นตอนการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญและการออกหนังสือนัดประชุมตามมาตรา 42/2 (3) และมาตรา 42/3 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 นอกจากคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมแล้ว ระยะเวลาตามกฎหมายในการเรียกประชุมใหญ่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมด้วย หากไม่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่ได้โดยชอบตามมาตรา 42/3 ก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้แทนเจ้าของร่วมอาคารชุดต้องรอให้ล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมก่อนจึงจะออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ ต่างจากกรณีที่ผู้ถือหุ้นร้องขอต่อกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173, 1174 ขั้นตอนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ขัดหรือแย้งกับ ป.พ.พ. จึงต้องใช้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 และมาตรา 42/3 ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 จึงต้องจัดส่งหนังสือเรียกประชุมให้เจ้าของร่วมอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 จึงจะเป็นการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบ การที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ออกหนังสือเรียกประชุม ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบและต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3396/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทอาคารชุด: ค่าส่วนกลางค้างชำระ, หนี้ค่าใช้จ่าย, เงินเพิ่ม, และความรับผิดชอบของเจ้าของร่วม
การกำหนดเงินเพิ่มจากหนี้ค่าส่วนกลางค้างชำระของเจ้าของห้องชุด เป็นกรณีการค้างชำระเงินเกินหกเดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ที่จดทะเบียนกับทางราชการ และมีการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม (ครั้งแรก) ของโจทก์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 โดยจำเลยมีตัวแทนในฐานะเป็นเจ้าของห้องชุดส่วนหนึ่งร่วมประชุมและรับรองข้อบังคับดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยเป็นผู้ยกร่างข้อบังคับอาคารชุดของโจทก์และนำไปจดทะเบียนต่อทางราชการและมีการจดทะเบียนและรับรองข้อบังคับดังกล่าวแล้ว เจ้าของร่วมห้องชุดทุกคนรวมทั้งจำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อบังคับของโจทก์ เมื่อพิจารณาข้อบังคับ หมวดที่ 11 การออกค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วม ข้อ 31 ถึงข้อ 38 ซึ่งตามข้อบังคับข้อ 35.4 ย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า "...เจ้าของร่วมที่ค้างชำระเงินตามข้อบังคับข้างต้น ตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบ (20) ต่อปี...เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522..." โดยอัตราเงินเพิ่มดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 18/1 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 จึงถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของเจ้าของห้องชุดทุกคนรวมถึงจำเลยซึ่งเปลี่ยนฐานะจากเดิมที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารชุดกลายเป็นเจ้าของร่วมในห้องชุดรายหนึ่ง และต้องรับผิดชอบในเงินเพิ่มตามมาตรา 18/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง สำหรับค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระเช่นเดียวกับเจ้าของร่วมคนอื่น ซึ่งเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดมาจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นนั้น ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางทันทีด้วยตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18/1 วรรคท้าย และข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 35.4 วรรคท้าย ซึ่งมีผลต่อเนื่องตามมาถึงการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากภาระผูกพันของห้องชุดห้องนั้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้เจ้าของห้องชุดรายใหม่ ตามข้อบังคับข้อ 9.12 ของโจทก์ เจ้าของห้องชุดแต่ละห้องจึงต้องรับผิดชอบในเงินเพิ่มซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จะนำมาใช้ในการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางอันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมอย่างเคร่งครัดและเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งหากปรับลดให้ต่างไปจากข้อบังคับ ก็จะมีผลต่อเจ้าของห้องชุดคนอื่นที่ปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงกำหนดเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของต้นเงิน 3,939,995.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามคำขอบังคับของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: ศาลฎีกายกอายุความ 5 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33(4) แม้ข้อบังคับอาคารชุดมิได้กำหนด
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้ผู้ร้องมาตรวจรับรองบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 จำนวน 44,959.86 บาท หากประสงค์จะคัดค้านบัญชีให้ยื่นคำแถลงคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือผู้ร้องตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยทั้งสองเจ้าของห้องชุดพิพาทต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องตามข้อบังคับของผู้ร้องและ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด รวมค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่ม 189,327.28 บาท กรณีเป็นเรื่องผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่ม 189,327.28 บาท มิใช่เป็นการโต้แย้งว่ากระบวนการในการจัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 342 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 จึงไม่เป็นที่สุด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) และมาตรา 278 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จะเห็นได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลและเป็นตัวแทนของคู่ความทุกฝ่ายทั้งโจทก์ ผู้ร้อง และจำเลย จึงมีอำนาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ประกอบกับโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ค่าส่วนกลางที่ผู้ร้องเรียกเก็บเป็นรายเดือนเมื่อเจ้าของรวมไม่ได้ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย และ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) มาใช้บังคับ หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระจึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี อันเป็นการยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อบังคับของผู้ร้องกำหนดให้ชำระค่าส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่ายซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เงินค้างจ่าย...และเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ดังนั้น ค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จึงมีอายุความ 5 ปี เช่นกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและค่าเบี้ยปรับย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการอาคารชุด ต้องแสดงให้เห็นถึงความเสียหายหรือกระทบสิทธิของผู้ฟ้อง
โจทก์เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในอาคารชุด ศ. แต่ไม่ได้เป็นกรรมการและไม่ได้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานของนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีมติให้จําเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จําเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และจําเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเพิกถอนการประชุมคณะกรรมการในวาระพิเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีมติอนุมัติว่าจ้างบริษัท ว. เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่ โดยกล่าวอ้างในฟ้องเพียงว่า ในการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้ง ไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้แก่ อ. และ ณ. ซึ่งเป็นกรรมการทราบ ทำให้ อ. และ ณ. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่ง อ. และ ณ. ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงไม่ได้เป็นผู้ฟ้อง เมื่อคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า มติที่ประชุมทั้งสองครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ หรือนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 หรือบรรดาเจ้าของร่วมอย่างไร หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลทั้งสองครั้งกระทบต่อสิทธิของโจทก์อย่างไร จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งที่คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ตามที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้อำนาจไว้ และบริษัท ว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติว่าจ้างให้เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าจําเลยที่ 2 และบริษัท ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานผิดพลาดบกพร่องหรือทุจริตแต่อย่างใด ทั้งมติที่ประชุมที่โจทก์ขอเพิกถอนนั้นมีการลงมติตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 และวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ตามลำดับ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ล่วงเลยเวลานานหลายเดือน และยังขอให้จําเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจําเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 โดยอ้างเรื่องไม่ได้มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้ อ. และ ณ. กรรมการทราบเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดบกพร่องหรือทุจริตแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จําเลยทั้งห้าได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6156/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจเจ้าของร่วมในอาคารชุดเพื่อดำเนินการจัดประชุม และการประชุมที่เป็นผลจากการมอบอำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้บัญญัติห้ามเจ้าของร่วมในอาคารชุดมอบอำนาจให้ผู้อื่นหรือเจ้าของร่วมคนอื่นกระทำการแทนตนเอง อีกทั้งข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ม. ก็ไม่มีข้อกำหนดห้ามเช่นเดียวกัน การที่เจ้าของร่วมในคดีนี้มอบอำนาจให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการแทนเกี่ยวกับการทำหนังสือขอให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจัดประชุมใหญ่วิสามัญ และการตั้งตัวแทนเพื่อการออกหนังสือนัดประชุมภายหลังจากที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามคำขอของเจ้าของร่วมซึ่งมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคะแนนเสียงทั้งหมด โดยการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เป็นการเฉพาะตัวในกิจการที่สำคัญที่เจ้าของร่วมจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง เจ้าของร่วมจึงมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการแทนตนเองได้ บทบัญญัติมาตรา 1173 แห่ง ป.พ.พ. ไม่อาจนำมาบังคับใช้กับกรณีในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6042/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของที่ดิน/ทาวน์เฮาส์ไม่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด จึงไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนกลาง
บริษัท ส. ได้ทำการจัดสรรที่ดินโดยแบ่งแยกที่ดินเป็นที่ดินก่อสร้างอาคารชุด 24 แปลง ก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 56 แปลง และแบ่งเป็นที่ดินก่อสร้างสโมสร สระว่ายน้ำ 1 แปลง เป็นที่ดินสร้างหอสูงเก็บน้ำประปา 1 แปลง ทั้งได้จัดให้มีสาธารณูปโภคเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อพิจารณาจากแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินแล้วปรากฏว่า สระว่ายน้ำ ถนนภายในโครงการ ที่ดินที่สร้างหอสูงเก็บน้ำประปาเป็นสาธารณูปโภคแก่อาคารชุดทาวน์เฮาส์ภายในโครงการจัดสรรที่ดิน ซึ่งที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และทาวน์เฮาส์ของจำเลยทั้ง 2 หลัง อยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินดังกล่าวด้วย จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 ซึ่งกำหนดว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไปไม่ได้ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งหอเก็บน้ำสูง สโมสร สระว่ายน้ำและถนนจึงยังคงเป็นสาธารณูปโภค ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรทั้งหมด อันได้แก่ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และที่ดินที่ตั้งทาวน์เฮาส์ของจำเลย ดังนั้นโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และจำเลยย่อมมีสิทธิในการใช้สอยสาธารณูปโภคดังกล่าวร่วมกัน
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งให้มีอำนาจในการฟ้องร้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 เกิน 6 เดือนขึ้นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 และมาตรา 36 ซึ่งตามมาตรา 18 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อบังคับ โดยที่ตามมาตรา 4 บัญญัติคำนิยามของเจ้าของร่วมว่า เจ้าของห้องชุดในอาคารชุดแต่ละอาคารชุด นอกจากนี้ตามข้อบังคับของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ หมวดที่ 1 ข้อ 2 กำหนดว่า เจ้าของร่วมหมายถึง เจ้าของห้องชุดในอาคารชุด และหมวดที่ 5 ข้อ 15.4 กำหนดว่าเจ้าของร่วมแต่ละรายการจะต้องออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง รวมตลอดถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวก็มีการกำหนดให้เฉพาะเจ้าของร่วมเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ ผู้มีหน้าที่ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 คือเจ้าของร่วม ซึ่งหมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุดเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทาวน์เฮาส์โดยมิได้เป็นเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด จึงมิใช่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดร่วมกับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุดและข้อบังคับดังกล่าวและไม่ต้องรับผิดร่วมกันออกค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่แต่อย่างใด แม้ก่อนหน้านี้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่จะได้มีการเรียกประชุมโดยมีจำเลยเข้าร่วมประชุมด้วย และยินยอมชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามมติของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ก็ตามก็ยังไม่ถือว่าเป็นข้อผูกพันที่จำเลยจะต้องยึดถือปฏิบัติตลอดไปเนื่องจากมิใช่หน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งไม่อาจถือว่าการที่จำเลยตกลงยินยอมชำระเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางก่อนหน้านั้นเป็นการตกลงทำสัญญากับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่โดยปริยายเนื่องจากเป็นการชำระไปตามที่จำเลยเข้าใจว่ามีหน้าที่ต้องชำระ เมื่อจำเลยทราบว่าไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยย่อมมีอำนาจยกเลิกการปฏิบัติตามมติของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่โดยปฏิเสธที่จะชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อไปได้ โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง
of 11