คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อุทธรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,483 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยต้องเป็นเหตุที่จำเลยไม่สามารถป้องกันได้ การเดินทางไปทำธุระแล้วรถเสียไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
เหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถป้องกันได้และทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่เมื่อทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วมีหน้าที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 18 มีนาคม 2547 ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา หากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วก็น่าจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเดินทางไปทำกิจธุระที่ต่างจังหวัด การที่ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่กลับเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอื่นที่ต่างจังหวัดในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และกลับมายื่นอุทธรณ์ไม่ทันเนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางเสีย จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง กรณีถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 665/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้อุทธรณ์วางค่าธรรมเนียม ศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขก่อนส่งอุทธรณ์ ไม่ถือเป็นการไม่รับอุทธรณ์
การนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่จะต้องนำเงินมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนเท่ากับศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้แก่จำเลยทั้งสองนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลให้ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าจะให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นนี้มิใช่เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ได้ จำเลยทั้งสองจึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637-6638/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องการทำสัญญา สิทธิในการครอบครอง และข้อจำกัดการอุทธรณ์ค่าเสียหาย
โจทก์อ้างว่ามีการตกลงจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทกันตามคำฟ้องสำนวนแรก แต่จำเลยอ้างว่าตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกันตามคำฟ้องสำนวนหลัง และต่างโต้แย้งว่ามิได้มีการทำสัญญาตามที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้าง ดังนั้น การจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทซึ่งกำหนดไว้ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาท ย่อมจำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญากันตามข้ออ้างของฝ่ายใด และสัญญานั้นมีผลบังคับใช้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อเป็นหลักในการวินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาขึ้นวินิจฉัยว่า มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือไม่ จึงไม่นอกประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้
สำหรับฎีกาของจำเลยในเรื่องค่าเสียหายจากการที่จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทตามคำฟ้องในสำนวนแรก โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายก่อนวันฟ้องเป็นเงิน 30,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากบ้านและที่พิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์คดีอาญาต้องกระทำก่อนสิ้นกำหนด หากเลยกำหนดแม้มีเหตุเชื่อถือคำบอกเล่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย
ทนายจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ดังนั้น การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 12 กันยายน 2545 จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วันต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โดยมีหมายเหตุท้ายคำร้องว่า "ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว" พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นคำร้องขอว่า อนุญาตให้ขยายเวลาถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ย่อมถือได้ว่าทนายจำเลยผู้ร้องทราบคำสั่งศาลในวันที่ยื่นคำร้องแล้ว ข้อที่อ้างว่าจำเลยเชื่อถือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ศาลว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 กันยายน 2545 ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง มิใช่มีเหตุสุดวิสัย
ทนายจำเลยป่วยเจ็บเพราะเกิดอุบัติเหตุทำให้สมองกระเทือนต้องพักรักษาตัวโดยไม่ปรากฏว่ามีอาการถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มายื่นได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลา จึงไม่ถือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6447/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ต้องวางค่าธรรมเนียมเมื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตเลื่อนคดี แม้ขอพิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ระหว่างไต่สวนคำร้องจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ มีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี แม้ตามคำขอท้ายอุทธรณ์ของจำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยพิจารณาคดีใหม่ แต่เนื้อหาในอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านเฉพาะเรื่องการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องใหม่แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อาจอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอท้ายอุทธรณ์ได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยยังไม่มีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ต้องถูกยกเลิกหรือสิ้นผลบังคับ จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งงดสืบพยานและการวางค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 ป.วิ.พ.
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้สืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไป ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกเลิกเพิกถอนไปได้ เท่ากับให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้สืบพยานต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เนื่องจากไม่ติดตามผลการส่งหมายและการเพิกเฉยต่อคำสั่งศาล
จำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แทนโจทก์พร้อมกับขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และให้จำเลยนำส่งให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน หากส่งไม่ได้ให้จำเลยแถลงภายใน 7 วัน เมื่อคำแถลงของจำเลยมีข้อความประทับว่า "ให้มาทราบคำสั่งถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบแล้ว" และทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าว แม้ทนายจำเลยจะไม่มาทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งที่ศาลได้สั่งในคำแถลงและในอุทธรณ์ของจำเลยโดยชอบแล้ว ทั้งจำเลยมีหน้าที่ต้องติดตามผลการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ โดยศาลไม่จำต้องแจ้งผลของการส่งหมายให้จำเลยทราบอีก
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ศาลชั้นต้นมีอำนาจกำหนดวิธีการส่งหมายได้ แม้ว่าในคำแถลงของจำเลยจะขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมายก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีธรรมดาก่อน เท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โดยวิธีปิดหมายตามที่จำเลยขอ กรณีหาเป็นเรื่องที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่ เมื่อเจ้าพนักงานศาลรายงานว่า ได้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์แล้ว แต่ส่งไม่ได้ แต่จำเลยมิได้แถลงต่อศาลเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 7 วัน ตามคำสั่งศาล จึงถือว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เนื่องจากไม่แถลงผลการส่งหมายนัดภายในกำหนด และผลของการประทับข้อความ 'ให้มาทราบคำสั่ง'
จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2545 จำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมกับขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 ว่า "รับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์แก้ให้จำเลยนำส่งภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน" เมื่อคำแถลงของจำเลยฉบับดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า "ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2545 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว" และนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าวต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2545 ทั้งจำเลยมีหน้าที่ต้องติดตามผลการส่งหมายโดยศาลไม่จำเป็นต้องแจ้งผลการส่งหมายให้จำเลยทราบอีก แม้จำเลยจะขอให้ส่งโดยวิธีปิดหมายแต่ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการส่งหมายตามมาตรา 79 ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งโดยวิธีธรรมดาก่อนนั้นเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ส่งโดยวิธีปิดหมายอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานศาลรายงานว่าได้นำหมายไปส่งให้แก่โจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2545 แต่ส่งให้ไม่ได้ การที่จำเลยมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลา 7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ & การขออนุญาตสืบพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์: เงื่อนไขและข้อจำกัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
อุทธรณ์ของผู้ร้องได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้ว ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องได้กล่าวอ้างถึงสำเนาสูติบัตรที่ได้มาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มิใช้เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้เท่านั้น อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 แล้ว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (2) ใช้เฉพาะกรณีที่ผู้อุทธรณ์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติและอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าเอกสารท้ายคำร้องเป็นเอกสารที่ผู้ร้องติดตามได้มาภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดี และเป็นเอกสารสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่การที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติม จะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวตามมาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตหรือไม่ เมื่อผู้ร้องเพียงอ้างในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ จึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามมาตรา 240 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย มิเช่นนั้นศาลไม่มีอำนาจรับพิจารณา
การที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ แต่คดีนี้ผู้ร้องเพียงอ้างระบุในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตร ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2)
of 349