คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แยกกันอยู่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 93 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุจำเลยยกเหตุใหม่ในชั้นฎีกา เกินกว่าที่ต่อสู้ไว้ในศาลล่าง
โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยอ้างเหตุโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปี จำเลยให้การต่อสู้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์และการแยกกันอยู่นั้นไม่ถึงขนาดที่มีเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินกว่าสามปี ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่จำใจแยกกันอยู่กับโจทก์เนื่องจากโจทก์ยกย่อง อ. เป็นภริยาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จำเลยรู้สึกอับอายจึงแยกมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 59/9 นั้น จึงเป็นฎีกาที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าต้องมีเหตุสมควร การแยกกันอยู่ต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่จากพฤติกรรมไม่เหมาะสมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ตามฟ้องโจทก์แปลความได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่โดยสมัครใจ พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่ทำให้โจทก์กับจำเลยไม่สามารถที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข อันเป็นการบรรยายครบองค์ประกอบเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แต่ช่วงเวลาที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลชั้นต้นจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด อนุมาตราใด เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) จึงไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง
ในคดีก่อนโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า โจทก์คบหากับผู้หญิงอื่นระหว่างที่ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย อีกทั้งในคดีนี้โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ม. ที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์เช่นกัน ดังนั้น สาเหตุที่โจทก์ไม่กลับบ้านไปหาจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้มาจากตัวโจทก์เองที่มีพฤติกรรมอันแสดงถึงการนอกใจจำเลย ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาทั้งที่โจทก์กับจำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่ หาใช่มาจากจำเลยไม่ ทั้งความเป็นจริงที่จำเลยต้องแยกกันอยู่กับโจทก์เกิดจากสภาพครอบครัวที่โจทก์ต้องกลับไปดูแลมารดาที่เจ็บป่วย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนดูแลบุตรภริยา ทั้งจำเลยยังรักใคร่หึงหวงในตัวโจทก์อยู่ จึงได้ฟ้อง ม. เรียกค่าทดแทนที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการแยกกันโดยความสมัครใจของจำเลยด้วยหาได้ไม่ ฉะนั้นคงฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่มากว่า 3 ปี จริง แต่การแยกกันอยู่นั้น มิใช่ด้วยความสมัครใจของจำเลย การที่โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่เช่นนี้ก็โดยลำพังความสมัครใจของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว หาทำให้เกิดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินส่วนตัวสามีภริยาและการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู แม้แยกกันอยู่ก็ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
โจทก์เป็นฝ่ายชำระราคาห้องชุดพิพาทมาตลอด ห้องชุดพิพาทซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ที่โจทก์มีอำนาจจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ตกลงแยกกันอยู่กับจำเลยและย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยมอบคีย์การ์ดและกุญแจห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยนั้น จำเลยเบิกความโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยมิได้ตกลงแยกกันอยู่ตามที่โจทก์อ้าง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันอย่างไร แต่การแยกกันอยู่ก็มิได้ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง โจทก์และจำเลยยังคงเป็นสามีภริยาที่ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 การที่โจทก์ย้ายออกจากห้องชุดพิพาทไปไม่อยู่ร่วมกับจำเลยที่ห้องชุดพิพาท ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือไม่ก็ตาม โจทก์สามารถร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้อยู่ต่างหากจากกันได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1462 จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงว่า การแยกกันอยู่ไม่ได้ทำให้หน้าที่ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูภริยาของโจทก์ซึ่งเป็นสามีหมดสิ้นไป การที่โจทก์ออกจากห้องชุดพิพาทไปโดยมอบคีย์การ์ดและกุญแจห้องชุดไว้ให้แก่จำเลย บ่งชี้ว่าโจทก์ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยโดยการจัดห้องชุดพิพาทอันเป็นสินส่วนตัวให้เป็นที่พักอาศัยของจำเลยตามความสามารถและฐานะของโจทก์เหมือนดังที่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ต้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังคงเป็นสามีภริยาโดยต่างมิได้มีเจตนาหย่ากันและยังมีโอกาสที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันได้ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายออกจากห้องชุดพิพาทไปเองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อปฏิเสธความรับผิดในหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้
of 10