พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,012 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3853/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีขายทอดตลาดโดยประมาทเลินเล่อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัด
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ธนาคาร อ. ผู้รับจำนองทราบก่อนการขายทอดตลาด เป็นเหตุให้ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ด้วยเหตุดังกล่าว เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในเรื่องสำคัญและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมาย แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง ย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ความรับผิดทางละเมิดในกรณีเช่นนี้จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า "บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน" ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กล่าวคือ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้..." กรณีจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน มีผลยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เพียงใด เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ได้ระบุยกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น กรณีต้องรับฟังว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่โจทก์โดยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทายาทผู้มีส่วนได้เสีย การเพิกถอนการขายทอดตลาด
ที่ดินพิพาทมีชื่อ ป. ท. ส. จำเลยที่ 2 และ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเจ้าของรวมเหล่านั้นมิได้แบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนของ น. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งมีผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 รวมอยู่ด้วย สำหรับที่ดินพิพาทส่วนของ ส. เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งรวมถึงผู้ร้องที่ 4 ด้วย บุตรของ น. และ ส. ทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเช่นเดียวกับ น. และ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทอยู่แต่เดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทายาททุกคนของ น. และ ส. ทราบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง และมาตรา 287 (4)
การที่จำเลยที่ 2 ป. และ ท. ได้รับแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับแจ้งประกาศขายทอดตลาดแทนผู้ร้องทั้งสี่ด้วย เพราะมิใช่เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ทายาทของเจ้ามรดกที่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงใดให้ถือว่าเป็นการได้รับแจ้งแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ทราบจึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง
แม้การส่งหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ความตอนท้ายมาตรา 295 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่จะสามารถหาบุคคลภายนอกมาประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 276,300 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ในราคา 375,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 2 และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นซึ่งได้รับหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มาดูแลการขาย จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท
การที่จำเลยที่ 2 ป. และ ท. ได้รับแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับแจ้งประกาศขายทอดตลาดแทนผู้ร้องทั้งสี่ด้วย เพราะมิใช่เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ทายาทของเจ้ามรดกที่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงใดให้ถือว่าเป็นการได้รับแจ้งแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ทราบจึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง
แม้การส่งหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ความตอนท้ายมาตรา 295 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่จะสามารถหาบุคคลภายนอกมาประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 276,300 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ในราคา 375,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 2 และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นซึ่งได้รับหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มาดูแลการขาย จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท