คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คดีแพ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,220 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6484/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำคำพิพากษาคดีอาญามาใช้ในคดีแพ่ง ต้องเป็นประเด็นโดยตรงและคู่ความต้องเป็นเดียวกัน
การที่จะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา เมื่อปรากฏว่าการพิพากษาคดีอาญาในคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อันเป็นการวินิจฉัยถึงการทำงานของจำเลยที่ 1 รวมถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ว่ามิได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งหก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีแพ่งคดีนี้อีกว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก อันมีข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งหกว่าเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นกรณีของการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งแล้วถึงการกระทำของจำเลยทั้งหก คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำไปทำให้โจทก์ขาดรายได้เท่าที่ควรจะได้เป็นเงิน 6,000,000 บาท นั้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงถึงการตรวจสอบห้างจำเลยที่ 5 และบริษัทจำเลยที่ 6 ที่โจทก์พบว่าเมื่อนำใบซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำสุดเท่าที่จะต่ำได้ในการซื้อขายแต่ละคราว ทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเงินรวม 6,000,000 บาท เท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาที่ฟังยุติแล้วว่า ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหกมิได้กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา, การละเมิด, อายุความ และการยกข้อต่อสู้ที่ไม่ชัดเจน
ศาลชั้นต้นในคดีก่อนพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เท่ากับว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงและผลคดีอาญาดังกล่าวมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถพ่วงคันเกิดเหตุ และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งทำให้ปรากฏว่ารถพ่วงคันเกิดเหตุเป็นของโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์อันเป็นการทำละเมิด จำเลยทั้งสามไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 แต่อย่างใด
จำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยให้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามก็มีความหมายชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องรู้ถึง เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่จำเลยทั้งสามอ้างในอุทธรณ์มารับฟัง โดยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6312/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจดุลพินิจศาลในการอนุญาตถอนฟ้องคดีแพ่ง และผลกระทบต่อคู่ความ
โจทก์ขอถอนฟ้องคดี ภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 5 ยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง บัญญัติว่า "...ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน..." ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาสั่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขอถอนฟ้องอ้างว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ และจำเลยที่ 1 และที่ 5 จะคัดค้านการถอนฟ้องเหตุตามคำร้องโจทก์ดังกล่าว ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และศาลไม่อาจนำข้อที่โจทก์อ้างตามคำร้องขอถอนฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องด้วย เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ทั้งคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้อีกฝ่ายเห็นข้อเท็จจริงที่เป็นการสนับสนุนตามคำฟ้องและข้อต่อสู้ตามคำให้การของฝ่ายตนอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องคดีของโจทก์ไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 เสียเปรียบในการต่อสู้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6131/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับของโจรและขอบเขตความรับผิดในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาตามคำพิพากษาถึงที่สุด
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นคู่ความเดียวกัน คดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ของ อ. ผู้เอาประกันภัยกับโจทก์ พฤติการณ์ในคดีส่วนแพ่ง คือ พบชิ้นส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพิพาทในบริเวณอู่ซ่อมรถที่จำเลยดำเนินกิจการ จำเลยรับว่าซื้อรถยนต์พิพาทจาก ก. ราคา 200,000 บาท โดยโอนลอยทั้งที่ ก. เพิ่งซื้อมาจากบริษัท ห. ในราคา 650,000 บาท ดังนั้น จำเลยรับซื้อรถยนต์ทั้งคันไว้ในราคาต่ำผิดปกติ จึงฟังได้ว่า จำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาททั้งคันโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ลักมา แม้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ มิได้รับของโจรรถยนต์ทั้งคันก็ตาม แต่คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 เมื่อคดีส่วนแพ่งฟังว่า จำเลยรับรถยนต์ไว้ทั้งคันก็ให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งคันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ฎีกาในคดีอาญาและแพ่งเกี่ยวเนื่องกัน โดยพิจารณาจากทุนทรัพย์และข้อกฎหมาย
ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยหลังจากลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงปรับ 40 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ฎีกา เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ และที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องไล่เบี้ยจากประกันภัยและการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ส. กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัท ส. นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาพรากเด็ก และขอบเขตค่าเสียหายที่เรียกได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชาย ม. ไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชาย ม. ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419-4420/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ในการรับอุทธรณ์คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการวินิจฉัยประเด็นความรับผิดทางแพ่งร่วมกับคดีอาญา
แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ในแต่ละฐานความผิดไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องพิพากษาคดีไปตามคำรับสารภาพของจำเลยโดยไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสมอไปไม่ เพราะในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเป็นต้องสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งพยานหลักฐานที่นำสืบคดีในส่วนแพ่งย่อมเกี่ยวพันกับคดีในส่วนอาญา ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ร่วมทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีส่วนแพ่งมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4155/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกความเท็จในคดีแพ่งมีผลต่อความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีอาญา หากข้อความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี
ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นข้อสำคัญในคดี ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้ววินิจฉัยในทำนองว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นเท็จหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้อุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ความในข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นอ้างได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการถือข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีอาญาในคดีแพ่ง และการประเมินความประมาทของผู้ตาย
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" หมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและผูกพันเฉพาะคู่ความโดยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1033/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ผู้ตายมิได้ถูกฟ้องคดีด้วย แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท แต่ก็ไม่ได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายไม่ได้มีส่วนในความประมาท ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายมีส่วนในความประมาทหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คดีนี้ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่
of 122