คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สุจริต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,168 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินที่จ่ายเกินสิทธิโดยผิดหลง แม้เป็นลาภมิควรได้ แต่เมื่อสุจริตและใช้จ่ายหมดแล้ว ไม่ต้องคืน
จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามกฎหมาย แต่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยไปโดยผิดหลง จึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ หาใช่เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้อย่างเจ้าของทรัพย์สินไม่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8865/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ได้มาจากการยักยอก ผู้รับโอนไม่มีสิทธิที่ดีกว่าผู้โอน แม้ซื้อโดยสุจริต
การที่ ร. ได้รถยนต์พิพาทมาด้วยการกระทำความผิดฐานยักยอกซึ่งคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ร. จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์: แม้สุจริตแต่กฎหมายไม่เปิดช่องยกเว้น
ก่อนที่จะมีการยึดที่ดินพิพาท โจทก์ขอตรวจสอบการถือครองที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินพบว่าจำเลยถือครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1267 จึงคัดถ่ายเอกสารให้ผู้แทนโจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์ขอตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิอีกครั้ง โดยคัดถ่ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ดังกล่าวพร้อมราคาประเมินที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินก็ดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินพิพาท แต่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าที่ดินพิพาทมีการออกเป็นโฉนดที่ดินและจำเลยโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกก่อนจะมีการยึดแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 153 บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของเจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีบรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ วรรคสองบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระ และตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 3 ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แม้ความผิดพลาดในการยึดที่ดินพิพาทไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของผู้แทนโจทก์ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลใช้ดุลพินิจยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนการยึดได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปเรียกร้องจากผู้เป็นต้นเหตุเอง ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6652/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล แม้ที่ดินมิใช่ของจำเลย/ลูกหนี้ สิทธิไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330
คำร้องของผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตอย่างไร หรือการขายทอดตลาดเป็นไปโดยไม่ชอบอย่างไร คงคัดค้านเพียงว่าผู้คัดค้านมิใช่บริวารของจำเลยทั้งสองเท่านั้น เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่า กระทำการโดยสุจริต ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่าการซื้อทรัพย์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ก็เป็นการกล่าวอ้างภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้วว่าผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ในคำร้อง พยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทได้จากการขายทอดตลาดโดยสุจริต จึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย ผู้ร้องจึงได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยทั้งสองหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา สิทธิของผู้ร้องย่อมไม่เสียไป
คำร้องผู้คัดค้านอ้างว่าเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน เท่ากับผู้คัดค้านอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่แรก มิได้แย่งการครอบครองไปจากผู้ร้อง เพราะการแย่งการครอบครองนั้น ผู้คัดค้านต้องยอมรับก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องแล้วผู้คัดค้านแย่งการครอบครอง อีกทั้งการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการแย่งการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีแรงงานและการดำเนินคดีฟ้องแย้ง ศาลมีอำนาจอนุญาตถอนฟ้องได้หากสุจริต คดีฟ้องแย้งไม่ตกไปตามฟ้องเดิม
การถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เพียงแต่บัญญัติให้ศาลฟังจำเลยเท่านั้น มิได้บัญญัติห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง การอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งพิจารณาถึงความสุจริตและคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงคดีด้วย โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารที่โจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนและโจทก์เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยซึ่งถ้าทราบมาก่อนก็จะไม่ฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าเมื่อโจทก์ถอนฟ้องคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ต้องรับผิดยังคงมีอยู่จึงไม่ทำให้โจทก์ได้เปรียบในเชิงคดีอันแสดงว่าโจทก์ขอถอนฟ้องโดยสุจริต
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 บัญญัติให้สิทธิจำเลยจะฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การได้ถ้าคำฟ้องแย้งเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเท่านั้น เมื่อจำเลยฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การ โจทก์ก็คือจำเลยในฟ้องแย้ง คดีตามฟ้องแย้งจึงมีคู่ความครบถ้วนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ การที่ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเดิม ก็คงมีผลเฉพาะคดีโจทก์ว่าไม่มีฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการโอนทรัพย์สินในคดีล้มละลาย แม้ผู้รับโอนสุจริตแต่มีส่วนร่วมยักย้ายทรัพย์สิน ยึดหลักสุจริตและเสียค่าตอบแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 (จำเลย) ไปยังผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคดีล้มละลายประมาณ 5 เดือนเศษ และต่อมาผู้คัดค้านที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 อันเป็นการทำให้เจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 เสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ถือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีล้มละลายคดีนี้เอง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่จะนำ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) มาใช้บังคับในกรณีไม่ได้
ส่วนการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน การโอนนั้นก็ยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3061/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: บุคคลภายนอกซื้อโดยสุจริตและจดทะเบียนได้อ้างสิทธิเหนือผู้ครอบครองไม่ได้
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส. 3 ก. ของจำเลยทั้งสอง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการยกให้จาก อ. ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่ยังมิได้จดทะเบียน และจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากกองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล โดยไม่ทราบว่าโจทก์เข้าไปครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาก่อน โจทก์จึงไม่อาจยกสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องที่มีข้อจำกัด การกระทำโดยสุจริตและสถานะสถาบันการเงินมีผลต่อการบังคับชำระหนี้
สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างงานโครงสร้างระหว่างจำเลยและบริษัท ค. มีข้อกำหนดห้ามมิให้โอนสิทธิเรียกร้องเว้นแต่เฉพาะกับสถาบันการเงินเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคสอง สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และบริษัท ค. จะมีผลใช้บังคับแก่จำเลยได้หากโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำการรับโอนสิทธิเรียกร้องโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการรับโอนสิทธิเรียกร้องโดยสุจริต อีกทั้งโจทก์มิใช่เป็นสถาบันการเงิน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ การวินิจฉัยชี้มูลความผิดต้องไม่สุจริต จงใจ และฝ่าฝืนกฎหมาย
ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและฎีกาของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งเก้ากระทำการชี้มูลความผิด โดยไม่สุจริต จงใจกระทำผิดและฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์เพราะจำเลยทั้งเก้าไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดเนื่องจากขณะนั้นโจทก์พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหากยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็พ้นจากการเป็นคณะกรรมการคัดเลือกเกิน 2 ปีแล้ว และจำเลยทั้งเก้าต้องรับฟังข้อเท็จจริงรอบด้าน ไม่ใช่รับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ทั้งต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานใหม่ที่โจทก์เสนอให้พิจารณา ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการโต้แย้งการที่จำเลยทั้งเก้าใช้ดุลพินิจในการทำคำวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นไปตามความเห็นและความประสงค์ของโจทก์เท่านั้น ไม่พอฟังว่าเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งเก้าใช้ดุลพินิจชี้มูลความผิดไปโดยไม่สุจริต จงใจกระทำผิดและฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ นอกจากการใช้ดุลพินิจตามกรอบภาระหน้าที่ตามกฎหมายแล้วก็ไม่ปรากฏเหตุที่จำเลยทั้งเก้าจะกระทำการใดอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์
คดีนี้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่า จำเลยทั้งเก้ามีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายแก่โจทก์และไม่ปรากฏการกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์โดยรวมแล้ววินิจฉัย เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องเพราะจำเลยทั้งเก้าใช้ดุลพินิจชอบธรรมตามกรอบภาระหน้าที่ของตนตามกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นการวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์โดยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกและการลักทรัพย์: สิทธิครอบครองที่ดินของบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวม
ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83
สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้
of 117