คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เครื่องหมายการค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,088 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2992/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า และการเพิกถอนคำสั่งปฏิเสธจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน 2 รายการ ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Misty Mynx" ซึ่งเป็นคำอักษรโรมันสองคำประกอบกัน สำหรับคำว่า "Misty" เป็นคำธรรมดาทั่วไป มีความหมายปรากฏตามพจนานุกรมว่า ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก คลุมเครือ พร่ามัว เลือนลาง จึงไม่เป็นคำที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดี ส่วนคำว่า "Mynx" เป็นคำที่ไม่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นส่วนที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดีกว่าส่วนคำว่า "Misty" ย่อมมีเหตุผลให้เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและอักษรโรมันคำว่า "Mynx" เป็นสาระสำคัญ ส่วนคำว่า "Misty" ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ ส่วนการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าโดยรวมทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้า ดังนั้นจึงต้องนำรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Mynx" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และคำว่า "Morning" ในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมารวมพิจารณาเปรียบเทียบความคล้ายของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพราะทุกภาคส่วนล้วนต้องรวมกันจึงเป็นเครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนมิใช่พิจารณาแยกเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะเครื่องหมายและการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายและลักษณะการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบไปด้วย 2 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนบนสุดเป็นรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและภาคส่วนล่างสุดเป็นอักษรโรมันคำว่า "Misty Mynx" นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนอีก 2 รายการ เป็นอักษรโรมันสองคำประกอบกัน คือ คำว่า "Misty" และคำว่า "Mynx" โดยอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ประกอบด้วยอักษรโรมันสองคำ คือคำว่า "MISTY" และคำว่า "MORNING" โดยคำว่า "MISTY" อยู่ด้านบนและมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า "MORNING" ซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวมีความแตกต่างกันเป็นที่เห็นได้ชัดเจนหลายประการ ตั้งแต่รูปร่างโดยรวมของทุกภาคส่วนในแต่ละเครื่องหมาย รูปประดิษฐ์ ตัวอักษรที่ใช้และลักษณะการวางตัวอักษร ล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเมื่อพิจารณาในส่วนเสียงเรียกขานตามคำที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มิ้งซ์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มอร์-นิ่ง" ซึ่งแม้มีคำเรียกขานว่า "มิส-ตี้" คล้ายกันส่วนหนึ่ง แต่เสียงเรียกขานโดยรวมก็แตกต่างกัน มิใช่จะเรียกขานแต่เฉพาะคำว่า "มิส-ตี้" ประกอบกับคำว่า "MISTY" เป็นคำธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมีความหมายเข้าใจกันตามธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ ดังนั้นแม้จะมีบุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า "MISTY" ประกอบอยู่ด้วยไว้ก่อนแล้ว บุคคลอื่นก็ยังคงมีสิทธิใช้คำดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ได้มีการสร้างความแตกต่างเพียงพอจนสามารถทำให้เป็นที่สังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจประกอบอยู่ด้วย และมีลักษณะการใช้และการวางตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่แตกต่างกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีความแตกต่างกันเพียงพอที่สาธารณชนผู้บริโภคจะจดจำและสังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้นแล้ว แม้รายการสินค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับรายการสินค้าที่บุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว จะเป็นรายการสินค้าเดียวกันและเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันหรือมีสถานที่วางจำหน่ายแห่งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำฟ้องทั้งสี่คำขอมีความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า "DULUX INSPIRE": คำว่า "INSPIRE" ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะสินค้าโดยตรง จึงจดทะเบียนได้
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ภาคส่วน สำหรับภาคส่วนคำว่า "DULUX" นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องการมีลักษณะบ่งเฉพาะในตนเองแล้วของคำดังกล่าว ส่วนภาคส่วนคำว่า "INSPIRE" นั้นแม้จะเป็นคำภาษาต่างประเทศแต่ก็เป็นคำธรรมดาทั่วไปที่ปรากฏความหมายของคำตามพจนานุกรมว่าคำว่า "INSPIRE" มีความหมายหนึ่งว่า กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่คำภาษาต่างประเทศที่มีความหมายตามพจนานุกรมจะเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าความหมายของคำที่ประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีหรือไม่ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด หากเป็นเครื่องหมายซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะของสินค้าซึ่งทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด จึงจะถือว่าเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง ในขณะที่เครื่องหมายที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นทางอ้อม ผู้ใช้สินค้าต้องใช้ความคิดและจินตนาการหรือแปลความหมายที่ซ้ำซ้อนกันนั้นอีกชั้นหนึ่งก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด แม้อาจเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าก็เป็นไปโดยทางอ้อม หาใช่เป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า "INSPIRE" ที่ปรากฏตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบกล่าวอ้างดังกล่าว คือ กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม ประกอบกับรายการสินค้าที่โจทก์นำคำว่า "INSPIRE" ไปใช้ คือ สีทา สีทาด้วยลูกกลิ้ง สีพ่น น้ำมันชักเงา แลกเกอร์ สารทำให้แห้ง ทินเนอร์ และสารทำให้เกิดสี ซึ่งทั้งหมดใช้เป็นสารเติมใส่แลกเกอร์ สารกันสนิม สารป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ สารที่เตรียมขึ้นใช้ทารองพื้นในลักษณะของสี สีแต้ม/ย้อมไม้ ยางเรซินธรรมชาติ(ยางมัสติก) สีโป๊ว สี น้ำมันชักเงา หรือแลกเกอร์ในลักษณะแผ่นปะติดที่สามารถย้ายตำแหน่งใหม่ได้ คำว่า "INSPIRE" ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรงว่าเป็นสินค้าที่เมื่อผู้บริโภคใช้แล้วจะเกิดการกระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้แต่อย่างใด ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำว่า "INSPIRE" เมื่อนำมาใช้กับรายการสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนดังกล่าวแล้วจะทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านี้เป็นสินค้าที่ยอดเยี่ยมนั้น เป็นการใช้จินตนาการเกินเลยไปกว่าความหมายที่ปรากฏของคำดังกล่าว และแม้คำดังกล่าวจะเป็นคำที่โน้มน้าวจูงใจให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจ ใช้ความคิดจินตนาการต่อเนื่องกันไปได้ว่า สินค้าที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่กระตุ้นหรือมีอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ ก็เป็นการใช้จินตนาการตีความหมายถ้อยคำที่ซับซ้อนให้โยงเกี่ยวข้องถึงสินค้าในทางอ้อม มิได้เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง คำว่า "INSPIRE" จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว เมื่อนำคำว่า "INSPIRE" มาใช้ประกอบกับคำว่า "DULUX" เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ในลักษณะที่ไม่มีคำใดเป็นจุดเด่นกว่าคำใด ทั้งสองคำจึงเป็นภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย แม้คำว่า "INSPIRE" จะเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" จึงมิใช่เครื่องหมายการค้าที่มีเครื่องหมายส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน และเมื่อคำว่า "INSPIRE" เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าคำว่า "INSPIRE" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงไม่จำต้องให้โจทก์แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "INSPIRE" ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ตามคำขอจดทะเบียนคำขอนี้ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้หรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างประเภทสินค้า/บริการ และกลุ่มผู้บริโภค ไม่ทำให้สับสน
เครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นประเภทเครื่องหมายคำและเป็นคำอักษรโรมันคำว่า "EIKON" เหมือนกัน มีเสียงเรียกขานอย่างเดียวกันว่า "อิ-คอน" ถือได้ว่าคล้ายกันมาก แต่ถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคหรือผู้รับบริการของโจทก์และผู้ใช้สินค้าของ ว. เป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 42 ส่วนเครื่องหมายการค้าของ ว. ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 นับได้ว่าเป็นการจดทะเบียนกันคนละประเภทและต่างจำพวกกัน รายการบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียน คือ บริการการใช้เช่าคอมพิวเตอร์ บริการการออกแบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลอื่น เป็นต้น ส่วนรายการสินค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือ เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า ฟิวส์ เต้าเสียบ สวิตช์ เป็นต้น อันเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ถือได้ว่า รายการบริการและรายการสินค้าสองกลุ่มนี้มีลักษณะแตกต่างกัน กลุ่มผู้ใช้สินค้าและบริการเป็นคนละกลุ่มกัน เนื่องจากรายการบริการของโจทก์เน้นเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มผู้รับบริการของโจทก์จึงเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสนใจความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ และต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพ ส่วนรายการสินค้าของ ว. เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง จึงมิใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดได้โดยง่าย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์ในชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้ากรณียังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9163/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การดัดแปลงคำทั่วไป ไม่สร้างลักษณะบ่งเฉพาะ
สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของโจทก์นี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการตัดคำบางคำจากคำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันเป็นปกติธรรมดาแบบมีความหมายในสังคมคือคำว่า "AIR CONDITIONER" หรือคำว่า "AIR CONDITIONING" มาประกอบกันเป็นคำเดียว ดังนั้นแม้โจทก์จะได้ดัดแปลงตัวอักษรโรมันตัวโอในคำดังกล่าวให้มีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรที่ประชาชนใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคมอยู่แล้วก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย จึงไม่ทำให้คำว่า "" เป็นคำประดิษฐ์แต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่า คำว่า "" มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๓) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน และไม่มีการใช้ชื่อ/รูป/รอยประดิษฐ์เดียวกัน การฟ้องร้องฐานละเมิด/เลียนแบบเครื่องหมายการค้าจึงไม่สำเร็จ
เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสองกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเครื่องหมายการค้า แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดเล็กอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า "genufood" และด้านล่างเป็นอักษรจีน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางและปลายเส้นรอบวงทั้งด้านบนและด้านล่างไม่ติดกัน ตรงกลางมีอักษรโรมันคำว่า "genufood" แม้จะมีอักษรโรมันเป็นคำเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน ทั้งจำเลยทั้งสองยังใช้กับสินค้าสบู่สมุนไพรผสมโสมไข่มุกและกาแฟขจัดปัญหาไขมันส่วนเกินซึ่งเป็นคนละจำพวกและรายการสินค้ากับสินค้าอาหารเสริมทำมาจากธัญพืชใช้บำรุงร่างกายตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองจึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และเมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 109 แล้ว การที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ด้วย
องค์ประกอบความผิดของ ป.อ. มาตรา 272 (1) จะต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ และมาตรา 275 เป็นการจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 272 (1) โดยจะต้องเป็นการนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันหรือในรูปรอยประดิษฐ์ที่ตั้งใจให้เหมือนกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือ และ กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสอง จะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกัน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) แม้จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) อีกเช่นกัน
เครื่องหมายการค้าบนวัตถุพยานคือคำว่า "genufood" และมีคำว่า "VICTOR" กับเครื่องหมายคล้ายรวงข้าวประกอบ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้า ในการโฆษณาขายสินค้าซึ่งไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "genugood" และมีคำว่า "VICTOR" เป็นการทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ใช้หรือทำให้ปรากฏเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าของจำเลยทั้งสองและเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าตามวัตถุพยานจึงเป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8542/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ไม่แยกพิจารณาเฉพาะส่วน
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีความเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ประกอบกับเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างก็เป็นตัวอักษรหลายตัวประกอบกันเป็นคำ จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้า
เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์และเครื่องหมายการค้า ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ คำว่า POWER และ DEKOR คำทั้งสองเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่จำนวน 10 ตัว P, O, W, E, R, D, E, K, O และ R ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ คำว่า และ คำทั้งสองเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คือ E, U, R, O, D, E, K, O และ R คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร 5 ตัว ได้แก่ P, O, W, E และ R ส่วนคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีอักษร 4 ตัว ได้แก่ E, U, R และ O เห็นได้ว่าคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คงมีแต่คำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่มีอักษร 5 ตัว ซึ่งเหมือนกันทั้งห้าตัว ได้แก่ D, E, K, O และ R และแม้ว่าตัวอักษรทั้งหมดของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันก็ตาม แต่แบบของตัวอักษร (font) เป็นคนละแบบกัน ทั้งเครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์ยังใช้เส้นตัวอักษรสีดำมีลักษณะบางกว่าเครื่องหมายการค้า ซึ่งใช้เส้นตัวอักษรสีดำทึบและเข้มกว่า เห็นได้ว่า ลักษณะแบบและขนาดเส้นของตัวอักษรของเครื่องหมายการค้าทั้งสองไม่เหมือนกัน
ในการพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต้องพิจารณาในภาพรวมที่ปรากฏทั้งเครื่องหมาย เมื่อปรากฏว่า คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกและคำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างก็เป็นตัวอักษรขนาดเดียวกันหลายตัวเรียงติดต่อเป็นแถวอยู่ในระนาบเดียวกัน การเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าทั้งสองในภาพรวมจึงไม่อาจแยกภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งออกไปโดยไม่นำมารวมพิจารณาในการเปรียบเทียบได้และการที่โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วต่างได้แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของตนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 (1) นั้น ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ไม่มีสิทธิใช้คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของตนได้โดยลำพังแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าวได้เท่านั้น หามีผลทำให้คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต้องถูกแยกออกไปไม่นำมารวมพิจารณาหรือกลายเป็นคำที่มีน้ำหนักในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคล้ายกันหรือไม่น้อยกว่าคำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ดังนี้ การเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่จึงต้องพิจารณาในภาพรวมที่มีคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกและคำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองประกอบกันทั้งหมด เมื่อปรากฏว่า คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือ คำว่า POWER แตกต่างกับคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คือ คำว่า อย่างชัดเจน แม้คำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นคำคำเดียวกัน คือ คำว่า DEKOR แต่คำว่า DEKOR หมายถึง DECORATION ที่ผู้ประกอบการจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับสินค้าจำพวกที่ 19 นิยมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแยกวินิจฉัยเพียงว่าเครื่องหมายของโจทก์คำว่า DEKOR เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วคำว่า DEKOR จึงไม่ชอบด้วยหลักการพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่จะต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมด เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดซึ่งมีคำอันเป็นภาคส่วนแรกและภาคส่วนที่สองประกอบกันแล้วก็เห็นได้ว่า ลักษณะอักษรของเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความแตกต่างกัน และในการเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองต้องอ่านออกเสียงทุกคำ โดยไม่อาจเรียกขานโดยอ่านออกเสียงเฉพาะคำว่า DEKOR ซึ่งเป็นคำอันเป็นภาคส่วนที่สองที่โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าอื่นที่จดทะเบียนได้แล้วมิได้แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า พาวเวอร์เดคคอร์ โดยไม่อาจเรียกขานว่า เดคคอร์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า ยูโรเดคคอร์ โดยไม่อาจเรียกขานว่า เดคคอร์ เช่นกัน ดังนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองแตกต่างกัน แม้จะได้ความว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างก็ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 19 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างอันมีลักษณะอย่างเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อองค์ประกอบโดยรวมของเครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงเป็นไปได้ยาก เครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8156/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาภาพรวมและลักษณะเด่น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ การแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียว หาใช่เหตุที่จะไม่นำส่วนที่ได้แสดงปฏิเสธมาพิจารณาในภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำดังเครื่องหมายการค้า "" ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า " และ " ของผู้คัดค้าน นอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าและต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าแล้ว เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนมีอักษรโรมัน "M" "X" อยู่หน้าอักษรโรมัน "N" "E" และ "C" โดยมีขนาดและลักษณะตัวอักษรเท่ากันทั้งหมด อักษรโรมัน "N E C" ในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่ได้มีลักษณะเด่นกว่าอักษร "M X" เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านบางเครื่องหมายยังอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันสามารถแยกแยะได้โดยง่ายโดยเครื่องหมายของโจทก์มีอักษร "MX" อยู่ด้านหน้าย่อมเป็นจุดแรกที่ทำให้สาธารณชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนอาจอ่านออกเสียงว่า "เอ็ม เอกซ์ เอ็น อี ซี หรือ เอ็ม เอกซ์ เนค" ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอาจอ่านออกเสียงว่า "เอ็น อี ซี" หรือ "เนค" แตกต่างกันอย่างชัดเจน ประกอบกับว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านใช้กับสินค้าเครื่องมือระบบตู้สาขาโทรศัพท์ดิจิทัล เครื่องมือส่งข้อมูลแบบแพ็คเก๊ทสวิทชิ่ง ฯลฯ เป็นต้น แม้สินค้าบางส่วนจะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่สินค้าของโจทก์และของผู้คัดค้านต่างเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกับมีราคาสูง และเป็นสินค้าคงทน ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าประเภทนี้ย่อมเป็นบุคคลเฉพาะกลุ่มที่ย่อมต้องศึกษาคุณสมบัติตลอดจนคุณภาพของสินค้ามาก่อนในการที่จะพิจารณาเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ ย่อมสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนในตัวสินค้าของโจทก์กับของผู้คัดค้าน เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าและมีลักษณะบ่งเฉพาะไม่มีอักษรต้องห้ามอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "" ของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6616/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ชื่อบุคคลธรรมดาไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ถือเป็นลักษณะบ่งเฉพาะ
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานรับรองว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี เอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าว เป็นหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งตามคำให้การของจำเลยคงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์มิได้แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล และมีผู้ใดมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์คงแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง แต่เอกสารดังกล่าวก็มิใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ คำให้การดังกล่าวของจำเลย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 นั้น เป็นเรื่องอำนาจของศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจหรือใบสำคัญและเอกสารอื่น ๆ ในกรณีที่ศาลมีความสงสัย หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นเอกสารตามวิธีการในวรรคสาม หาใช่ว่าหากเอกสารไม่มีการรับรองจากโนตารีปับลิกและตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามแล้ว จะถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้น การจัดทำหนังสือมอบอำนาจโดยมีการรับรองตามมาตรา 47 วรรคสาม ขึ้นในภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงเป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ในการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อความที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ และโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ด. กระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "VALENTINO" เป็นชื่อของบุคคลธรรมดา ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชื่อของ ว. เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย คำว่า "VALENTINO" จึงเป็นชื่อของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีก เนื่องจากข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" ที่ปรากฏใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าว ก็มิได้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ดังนั้น คำว่า "VALENTINO" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้าย และการพิจารณาความแตกต่างของสินค้า
คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 101 วรรคสอง บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด" ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ออกระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ในข้อ 18 มีความว่า "ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทำคำชี้แจงพร้อมทั้งแสดงหลักฐานในประเด็นที่คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง" เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อน ย่อมทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสที่จะชี้แจงและนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง หรือแม้โจทก์จะยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของตนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง แต่โจทก์อาจมีพยานหลักฐานว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลาย และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม แล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าละเว้นไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย จึงขัดต่อระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18
ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย สำหรับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วแม้จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน โดยเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์เรียกขานได้ว่า "เวสเซล" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า "เวสเซลล์" แต่ในส่วนรูปลักษณ์จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่ให้ตัวอักษรโรมัน "S" ตรงกลางมีลักษณะเด่นบนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบ ส่วนที่ปลายของกากบาททั้งสี่ด้านมีลักษณะโปร่งแสง และในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่มีเครื่องหมายการค้าวางอยู่ด้านบน และมีรูปประดิษฐ์คล้ายลูกเต๋าวางอยู่ด้านล่างโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน "S" บนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบวางอยู่ภายในลูกเต๋า 3 ด้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยคำว่า "VESCELL"และมีรูปประดิษฐ์คล้ายอักษรโรมัน "V" และ "C" บนพื้นวงกลมทึบวางอยู่ด้านหน้า จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์อย่างชัดเจน เมื่อเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับไตอันเกิดจากเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคของระบบประสาท ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาอันเกิดจากเบาหวาน เหมือนกัน ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแม้จะยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ากับยาภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3145/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การลวงขายต้องมีสภาพบังคับว่าเป็นการลวงขายสินค้า/บริการเดียวกัน และเครื่องหมายต้องมีชื่อเสียง
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า จำเลยจงใจอาศัยความมีชื่อเสียงเฉพาะสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วไปลวงขายสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลอื่น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์คำว่า "RUSH" ซึ่งโจทก์ได้ใช้มาก่อนจำเลยในคำฟ้องด้วย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
การใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 46 วรรคสอง เป็นกรณีเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนสำหรับรายการที่กล่าวอ้างถึงฟ้องบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าหรือบริการของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าหรือบริการของเจ้าของเครื่องหมายนั้น เมื่อคำฟ้องและทางนำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือโจทก์ร่วมใช้คำว่า "RUSH" เป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการสำหรับบริการจัดการอาหารและเครื่องดื่มหรือบาร์อาหารและเครื่องดื่มมาก่อนจำเลย โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนสำหรับบริการจัดการอาหารและเครื่องดื่มกับบาร์อาหารและเครื่องดื่ม ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการร้านอาหาร "รัช บาร์" หรือ "RUSH BAR" ของจำเลยเป็นกิจการบริการร้านอาหารของโจทก์ได้ การที่จำเลยประกอบกิจการร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สุรา เบียร์ บุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า "รัช บาร์" หรือ "RUSH BAR" จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "RUSH" ของโจทก์ด้วยการลวงขายโดยอาศัยความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าร้านอาหารของจำเลยเป็นกิจการบริการของโจทก์หรือโจทก์ร่วม
of 109