พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,083 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
บุกรุกเคหสถานหลังทราบสิทธิครอบครองของผู้อื่น จำเลยอ้างสิทธิเดิมไม่ได้ แม้ฟ้องไม่ระบุบท 362 ศาลฎีกาแก้โทษปรับ
แม้คําพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นจะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคําวินิจฉัยดังกล่าวที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านก็ตาม แต่ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ ศาลยังต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันซึ่งตามสัญญามีข้อความว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา จำเลยทำหนังสือระบุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมและโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจพลการที่จะเข้าไปตัดแม่กุญแจที่โจทก์ ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้แม่กุญแจของจำเลยคล้องแทน ทำให้โจทก์เข้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบดีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยังเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกแล้ว เมื่อผลแห่งคําพิพากษาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปตัดกุญแจประตูบ้าน เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว คําพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5122-5123/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติ การฟ้องแย้งขับไล่ และอำนาจฟ้องของหน่วยงานรัฐ
เมื่อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิที่ดินมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 และแม้หากที่ดินพิพาทจะพ้นจากการเป็นที่ชายตลิ่งไปโดยสภาพ เนื่องจากในฤดูฝนน้ำท่วมไม่ถึง แต่ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐ ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการต้องห้ามตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายใช้ยันรัฐได้ไม่ว่าในทางใด การฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อไม่ให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท จึงมีผลเท่ากับอ้างสิทธิครอบครองมายันรัฐซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 บัญญัติให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดิน นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันดำเนินการ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะดำเนินการ ก็ให้มีอำนาจกระทำได้ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ที่ดินสาธารณประโยชน์: สิทธิครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบต่อการฟ้องร้อง
แม้ ผ. จะมีชื่อเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกับ ม. ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 613/2531 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 แต่ต้องถือว่าเป็นการครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเจ้าของรวม และ ผ. ใช้สิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทเป็นโจทก์ที่ 3 ฟ้องจังหวัดสงขลาเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น และต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา จึงเป็นกรณีเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิจัดการทรัพย์สินอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยเข้าต่อสู้กับบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 และมาตรา 1359 อันเป็นการฟ้องคดีแทน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าว จังหวัดสงขลาให้การและนำสืบต่อสู้ว่า ข. นายอำเภอเมืองสงขลาในขณะนั้นได้ประกาศให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์เมื่อปี 2476 ต่อมาเมื่อปี 2518 มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพกลับกลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ในความครอบครองดูแลของอธิบดีกรมที่ดิน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีอำนาจควบคุมดูแล และที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3512-3518/2536 วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2476 ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมต้องผูกพัน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมดุจกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ในคดีดังกล่าวจาก ม. จึงต้องถูกผูกพันตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2476 ให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ต่อมาแม้มีพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2518 ให้เพิกถอนสภาพแต่ที่พิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐอยู่โดยอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณีตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ของที่พิพาทแก่ ม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดผู้รับโอนสิทธิจาก ม. จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ที่มิได้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 252