คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สุจริต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,168 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9757/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่เป็นป่าช้า: การครอบครองปรปักษ์ต้องสุจริตและเปิดเผย
ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้
หนังสือหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตที่สอบถามศาลชั้นต้นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนมิได้เป็นของ อ. บ. และ ค. เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตจะจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้หรือไม่ เป็นหนังสือหารือที่ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7158-7159/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน ศาลพิจารณาความสุจริตและพฤติการณ์พิเศษในการใช้เครื่องหมายการค้า
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาเฉพาะภาคส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยไม่พิจารณาคำว่า "VALENTINO" ที่จำเลยร่วมได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำนี้เป็นของตนแต่ผู้เดียว เพราะการที่จำเลยร่วมปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำว่า "VALENTINO" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นของตนแต่ผู้เดียวนั้นมีผลเพียงไม่อาจห้ามผู้อื่นมิให้ใช้คำว่า "VALENTINO" เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าได้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้คำว่า "VALENTINO" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมกลายเป็นคำที่มิได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง
แม้ว่ารายการสินค้าของโจทก์และจำเลยร่วมจะเป็นสินค้าคนละชนิดกัน แต่อยู่ในรายการสินค้าจำพวกที่ 21 เช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นสินค้าอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องครัวกับเป็นสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำ จึงเป็นสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันเพราะผู้ใช้เป็นบุคคลในครัวเรือนกลุ่มเดียวกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีลักษณะการวางตัวอักษร "V" และคำว่า "Valentino" คล้ายกันมาก ส่วนการประดิษฐ์ตัวอักษร "V" แม้จะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเพราะยังคงอ่านได้ว่า "วี" เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า "วี วาเลนติโน่ รูดี้" ส่วนของจำเลยร่วมเรียกขานได้ว่า "วี วาเลนติโน่" ตัวอักษร "V" และคำว่า "Valentino" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เมื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมแล้ว หากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนต่อไปว่าสมควรจะรับจดทะเบียนหรือไม่ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ นั้นว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาแล้วโดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนสมควรรับจดทะเบียนหรือไม่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 เท่านั้น เพราะมาตรา 13 อยู่ในบังคับของมาตรา 27 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่อาจพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนว่าหลักฐานนั้นยังไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายทั่วไปแล้วในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปได้ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการพิจารณาลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามเด็ดขาดไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ไม่เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 13 และ 27
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นต่างคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือหากนายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียนอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วย ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5990/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนทรัพย์สินจากการเช่าซื้อ: การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและการรู้เห็นเป็นใจ
ตามสัญญาเช่าซื้อ ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ให้เจ้าของมีสิทธิจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที และยึดรถจักรยานยนต์กลับคืนมาได้ ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรวม 6 งวด ติดต่อกัน ผู้ร้องไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยอมรับชำระค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 4 ต่อไปอีกรวม 3 งวด จากนั้นมาจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาจากผู้ร้อง เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ผู้ร้องจึงมอบหมายให้พนักงานของผู้ร้องไปติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน ก่อนหน้าวันที่ศาลมีคำสั่งริบ ผู้ร้องยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยังไม่ได้ติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยังเปิดทางให้จำเลยที่ 4 หรือผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องได้และผู้ร้องจะดำเนินการให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางต่อไป ผู้ร้องจึงมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่อแสดงว่าการร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 4 ผู้เช่าซื้อ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยายนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยไม่มีอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ไม่อาจยันเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้
โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดจำนองที่ดินพิพาทและลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่เป็นเอกสารและโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถูกลักไปไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่อย่างใดแม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21908/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องทุกข์กล่าวหาฐานรับของโจรโดยสุจริต ไม่ถือเป็นการละเมิด
การที่จำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานรับของโจร เป็นการกระทำเพื่อรักษาสิทธิและชื่อเสียงในทางการค้าของตนโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนขั้นตอนหลังจากจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วนั้น ตามกฎหมายก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับการร้องทุกข์ที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวนและสรุปสำนวนเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ตรวจสำนวนดังกล่าวเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้ จึงฟ้องโจทก์ต่อศาล ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยในฐานะผู้เสียหายคดีอาญาได้อาศัยกระบวนการดังกล่าวจงใจกลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ การที่จำเลยใช้สิทธิของตนในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามที่ได้รับแจ้งจากพยานบุคคลที่อ้างว่าเห็นการกระทำของโจทก์ดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยสุจริตไม่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18738-18740/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้ายคลึง, การใช้โดยสุจริต, และการคุ้มครองตามกฎหมาย
เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเป็นอักษรโรมันและมีลักษณะการประดิษฐ์ที่แตกต่างกันน้อยมาก เมื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แต่เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในทางการค้าของโจทก์กับสินค้าจำพวกที่ 16 ได้แก่ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องเขียน โดยใช้สินค้าดังกล่าวภายในกิจการของกลุ่มโจทก์ และนำไปแจกจ่ายเป็นของแจก แลก ของสมนาคุณ เพื่อส่งเสริมการขายต่อกลุ่มโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการใช้เพื่อแสดงว่าสินค้าดังกล่าวมีความแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น อันเป็นการใช้อย่างเครื่องหมายการค้าแล้ว เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีที่มาจากนามสกุลของผู้ก่อตั้งโจทก์ และโจทก์ใช้คำนี้เป็นชื่อของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสาธารณรัฐอินเดียตั้งแต่ปี 2460 ทั้งโจทก์ก็ยังเคยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าหลายจำพวกรวมทั้งสินค้าจำพวกที่ 16 มาแล้วในหลายประเทศ จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยสุจริตมิได้มีเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น เพื่อป้องกันมิให้สาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18358/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุคคลที่ซื้อทรัพย์สินจากผู้อื่นโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้ทรัพย์สินนั้นได้มาจากการฉ้อโกง ก็ไม่ต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหาย
แม้โจทก์จะถูก ส. ฉ้อโกงหลอกลวงซื้อปุ๋ยจากโจทก์อันมีผลทำให้นิติกรรมระหว่างโจทก์กับ ส. ที่เกิดขึ้นโดยโจทก์ถูกกลฉ้อฉลตกเป็นโมฆียะและโจทก์จะบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วก็ต้องห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 160 ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งปุ๋ยพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตเช่นนี้ สิทธิของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เสียไปถึงแม้ว่า ส. ผู้โอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมที่ทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์อันตกเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1329 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่คืนปุ๋ยพิพาทให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14437/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้มอบอำนาจและการรับจำนองโดยสุจริต มีผลต่ออำนาจฟ้อง
โจทก์มอบโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์และใบมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ให้แก่ ต. เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมา ต. นำที่ดินของโจทก์ไป จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่จำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบังคับจำนองดังนี้ การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต จะต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่สุจริตอย่างไร ลำพังเพียงเหตุที่โจทก์ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 และการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นั้น ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์มอบเอกสารดังกล่าวพร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดในดอกเบี้ย ของต้นเงินที่ ต. จะต้องรับผิดต่อ จำเลยที่ 1 ก่อนที่ ต. จะผิดนัดชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าความรับผิด อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกเช่นกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.พ.พ. 142 (5), 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12746/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ไม่สุจริต ก็ทำได้ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 ให้ผู้ร้องแล้ว โดยมิได้สนใจที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่งของผู้คัดค้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 อีกเลย คงปล่อยให้ผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าบ้านที่ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทรวมทั้งรื้อถอนบ้านเช่าออกไป แล้วถมดินปรับปรุงพื้นที่และปลูกสร้างอาคารอู่ซ่อมรถให้ผู้อื่นเช่าเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทติดต่อกันเรื่อยมาโดยผู้คัดค้านไม่เคยโต้แย้ง แม้ผู้คัดค้านได้นำเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการกระทำหลังจากที่ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12634/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่าย - สิทธิผู้ทรง - การต่อสู้เรื่องยักยอก - สุจริต - ความรับผิดของผู้สั่งจ่าย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังแล้วมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่บริษัท ก. แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทดังกล่าวยักยอกเช็คไป บริษัท ก. ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นมาโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 เพื่อฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาโดยสุจริต การที่จำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริต จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นใช้ยันต่อโจกท์ซึ่งเป็นผู้ทรงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 905 และมาตรา 916 เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงนับได้ว่าเป็นผู้ทรง เมื่อโจทก์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นให้แก่โจทก์
of 117