คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เครื่องหมายการค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,088 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: พิจารณาความคล้ายคลึงและชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้า เพื่อมิให้เกิดความสับสน
ในการพิจารณาความคล้ายกันระหว่างเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 (2) และมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่าย ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และเสียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโอกาสที่จะสร้างความสับสนที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่ขายอยู่ในท้องตลาดระหว่างสินค้าของทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายและความสุจริตของผู้ขอจดทะเบียนประกอบด้วย
เมื่อพิจารณาจากลักษณะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนและของโจทก์แล้วเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ มีอักษรไทยคำว่า "แม่พลอย" อักษรโรมันคำว่า "MAEPLOY" และรูปผู้หญิงแต่งชุดไทยนั่งพับเพียบ เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายของทั้งสองฝ่าย โดยมีเสียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายเหมือนกันคือ แม่พลอย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 32 รายการสินค้า น้ำดื่ม น้ำผลไม้ ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค71879 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า กะทิสำเร็จรูป กะทิผง กับข้าวสำเร็จรูปที่มีเนื้อเป็นหลัก แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค71880 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า น้ำพริกแกงกึ่งสำเร็จรูป เครื่องต้มยำ เครื่องพะโล้ น้ำจิ้ม น้ำพริกเผา เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค124234 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า น้ำพริกแกงกึ่งสำเร็จรูป เครื่องต้มยำ เครื่องพะโล้ ผงสำเร็จรูปใช้ทำน้ำหมูแดง น้ำจิ้ม น้ำพริกเผา เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค124233 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า กะทิสำเร็จรูป กะทิผง กับข้าวสำเร็จรูปที่มีเนื้อเป็นหลัก แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ เป็นต้น และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค318585 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวจึงใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันซึ่งไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าประกอบทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ผู้ขอจดทะเบียนประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทน้ำปลามาตั้งแต่ปี 2519 และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนคำว่า "แม่พลอย" และรูปผู้หญิงแต่งชุดไทยนั่งพับเพียบมาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำและรูปดังกล่าว ในปี 2540 โดยผู้ขอจดทะเบียนได้มีการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และยังได้ความตามคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ประกอบทางนำสืบของโจทก์ว่า เริ่มแรกโจทก์ประกอบธุรกิจค้าขายส่งและปลีกมะพร้าว โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ชาวเกาะ" ต่อมาโจทก์ขยายธุรกิจโดยก่อตั้งโรงงานผลิตกะทิบรรจุกระป๋อง และกะทิบรรจุกล่อง ในปี 2519 และภายหลังได้ก่อตั้งโรงงานอีกสองแห่ง โดยโรงงานแห่งที่สามชื่อโรงงานแม่พลอย ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 เพื่อผลิตสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ตราแม่พลอย" "MAEPLOY BRAND" รวมกับรูปผู้หญิงไทย โดยได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 5 เครื่องหมายการค้า ดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าของตนมาโดยสุจริต โดยเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์ต่างได้มีการใช้กับสินค้าของตนเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งรายการสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์คดีนี้ก็มีความแตกต่างกัน โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่ากลุ่มลูกค้าผู้บริโภคสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนและของโจทก์เป็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน หรือลักษณะของการวางจำหน่ายสินค้าในร้านค้าโดยทั่วไปมีการวางใกล้ชิดกันในลักษณะเป็นการแข่งขันกัน อันจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ อย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้องเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปก็ตาม แต่ข้อที่ต้องพิจารณาตามมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประการสำคัญต่อมาคือ เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ลักษณะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์มีลักษณะคล้ายกันก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์แล้วยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ดังเหตุผลที่กล่าวไว้ในประเด็นข้างต้น ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ภาพฤาษีเป็นสิ่งใช้กันทั่วไป ขัดต่อลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย
ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้น คำว่า โยคี กับฤาษี มีความหมายในทำนองเดียวกัน หากสาธารณชนทั่วไปพบเห็นเฉพาะภาพในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ย่อมอาจเรียกขานได้ว่า ภาพฤาษี ซึ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค275169 แล้ว ประกอบไปด้วยภาพโยคีหรือฤาษีอยู่ในวงกลม โดยไม่มีชื่อ คำ หรือข้อความใดประกอบอีก ภาพดังกล่าวจึงถือเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ส่วนเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค296443 แม้มีคำว่า "โยคี" และ "YOKI" ประกอบอยู่ใต้ภาพ แต่คำดังกล่าวก็มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของภาพ ในเครื่องหมาย จึงมีเฉพาะภาคส่วนภาพเท่านั้นที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเช่นเดียวกับเครื่องหมายแรก อีกทั้งภาพดังกล่าวไม่พบว่ามีรายละเอียดหรือลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากภาพโยคีหรือฤาษีตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เมื่อตามประกาศนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 1/2546 กำหนดให้ "ฤาษี" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยารักษาโรคมนุษย์ การใช้เครื่องหมายการค้าที่มีสาระสำคัญของเครื่องหมายเพียงแค่ภาพโยคีหรือฤาษีดังเช่นเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง นอกจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาและได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 และวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ตามลำดับ ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นคำขอจดทะเบียน การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้นั้นอาจทำได้เฉพาะกรณี ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะตามมาตรา 7 (1) หรือ (2) (เดิม) เท่านั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ล้วนมีสาระสำคัญเป็นภาพดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่อาจมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) ได้ การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ย่อมขัดต่อบทกฎหมายข้างต้น ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แม้ปัจจุบัน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 จะอนุญาตให้พิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าในลักษณะภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นได้แล้ว แต่การจะพิสูจน์เครื่องหมายการค้าในลักษณะดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่ยื่นคำขอจดทะเบียนหลังจาก พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น เนื่องจากตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มาตรา 35 (1) กำหนดให้บรรดาคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดไว้แล้ว ให้การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เดิมต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาเรื่องเครื่องหมายการค้า: การขัดขืนคำบังคับและการจับกุมผู้มีอำนาจกระทำการ
เมื่อเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาและคำสั่งชี้แจงของศาลฎีกาเกี่ยวกับข้อสงสัยในการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสามในเครื่องหมายการค้ารูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าคำว่า VIKING SHIP เรือใบไวกิ้ง และ ไวกิ้ง จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าที่มีรูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า VIKING SHIP เรือใบไวกิ้ง และ ไวกิ้ง ส่วนเหตุที่ศาลไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค199455 ด้วยนั้น เป็นเพียงเพราะโจทก์นำคดีในส่วนนี้มาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเท่านั้น ไม่ได้มีการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาในส่วนนี้ว่า ให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้เครื่องหมายการค้ารูปเรือใบไวกิ้ง และเครื่องหมายการค้าคำว่า เรือใบไวกิ้ง กับสินค้าของจำเลยทั้งสาม จึงรวมไปถึงการให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค199455 ด้วย อันถือได้ว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องปฏิบัติตาม เมื่อจำเลยทั้งสามทราบคำบังคับดังกล่าวแล้ว และได้ความจากคำขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยทั้งสามของโจทก์ประกอบคำแถลงของจำเลยทั้งสามในวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามยังคงใช้เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค199455 อยู่ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ และไม่มีวิธีการบังคับอื่นใดที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะใช้บังคับได้ จึงเป็นการชอบที่ศาลจะมีคำสั่งจับกุม กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และจำเลยที่ 3 ได้ ตามคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเครื่องหมายการค้า: จำเลยต้องรู้ว่าสินค้าปลอมเลียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ต้องพิสูจน์ความรู้ของจำเลย
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ผู้กระทำต้องรู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่าย เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบคงได้ความเพียงว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุในฟ้อง พันตำรวจตรี ช. ได้รับแจ้งจาก บ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายว่า ที่ร้าน ว. มีการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรมาเสนอจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป พันตำรวจตรี ช. และ บ. กับพวก จึงนำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเข้าตรวจค้นที่ร้านดังกล่าว พบว่าจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จึงจับกุมจำเลยและยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่า จำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร กลับได้ความจาก บ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายให้การว่า สินค้าของผู้เสียหายยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย คงมีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น โดยผู้เสียหายยังไม่ได้มอบหมายให้ตัวแทนรายใดเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย อันแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า เครื่องหมายที่ติดบนสินค้าของกลางเป็นสัญลักษณ์ไม้กางเขน จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเครื่องหมายที่บุคคลใดก็สามารถนำไปใช้ได้ สอดคล้องกับที่จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนโดยอ้างว่า จำเลยซื้อสินค้าของกลางมาเพื่อขายต่อ โดยไม่ทราบว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น และจำเลยยังมีบาทหลวง ท. เจ้าอาวาสวัด น. เป็นพยานเบิกความว่า เครื่องหมายการค้าตามฟ้องเป็นรูปกางเขนของศาสนาคริสต์ โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าด้วยตนเอง และการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ประกอบกับการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายมีลักษณะใกล้เคียงกับไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่ประชาชนหรือผู้ขายสินค้าทั่วไปจะไม่รู้จักเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และอาจเข้าใจได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏบนสินค้าของกลางเป็นไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้ พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยรู้หรือไม่ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ต้องพิจารณาถึงลักษณะบ่งเฉพาะ
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ที่มีข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" นั้น เป็นคำขยายคำว่า "ชื่อในทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาด้วย ประกอบกับเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคหนึ่ง มุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในลักษณะต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้ประโยชน์ในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเพื่อมิให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่นแล้ว ส่วนเหตุผลและเจตนารมณ์ของกฎหมายอื่นที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และการใช้ถ้อยคำรวมถึงการจัดวางตำแหน่งของคำตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เองต่างจากเดิมจึงไม่อาจอ้างการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิมได้ ดังนั้น หากชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา และมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นแม้ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ค. นักออกแบบชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งโจทก์ ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย กับคำดังกล่าวมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงแล้ว จึงย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่นและมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าอื่นไม่ถือเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
คดีนี้โจทก์ฟ้องของให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3, 32, 43 ซึ่งมาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม" และวรรคสองบัญญัติว่า "การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ได้ความจาก ส. พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า ภาพช้างสีขาวสองเชือกหันหน้าเข้าหากันภายใต้น้ำพุสีเหลืองทองประกอบข้อความภาษาไทยสีขาวว่า "เครื่องดื่มตราช้าง" ข้อความภาษาอังกฤษสีขาวว่า "Chang" บนพื้นหลังสีเขียวตรงกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท บ. ซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าประเภทน้ำดื่ม เครื่องดื่มน้ำแร่ น้ำโซดา และขวดน้ำดื่มตราช้าง และมีสัญลักษณ์ตรงกับเครื่องดื่มตราช้างบนแผ่นป้ายไวนิล อีกทั้งภาพถ่ายขวดเบียร์ช้างไม่มีคำว่าเครื่องดื่มตราช้าง มีแต่ถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษว่า "PRODUCT OF THAILAND", "LAGER BEER", "CLASSIC BEER" และ ส. ยอมรับอีกว่า บริษัท บ. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเบียร์ น้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ แยกต่างหากจากกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า แผ่นป้ายไวนิลตามฟ้องเป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ จึงเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าประเภทน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ มิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามนิยาม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3 การที่จำเลยติดแผ่นป้ายไวนิลที่หน้าร้านจึงไม่เป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2652/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ชื่อบุคคลธรรมดาไม่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ
มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง..." จากบทบัญญัติดังกล่าว ข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อในทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตสิทธิเครื่องหมายการค้า: การคุ้มครองจำกัดเฉพาะสินค้าที่จดทะเบียน การใช้กับสินค้าต่างจำพวกไม่ถือเป็นการละเมิด
สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โดยเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับจำพวกและรายการสินค้าตามที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น และเป็นการคุ้มครองสิทธิในลักษณะที่เป็นการหวงกันมิให้ผู้อื่นนําเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าไปใช้โดยมิชอบ ดังนั้น ขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ในกรณีนี้จึงมีจำกัดเฉพาะเครื่องหมายการค้ารูปพังงาเรือ และคําว่า HIKARI ที่ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้าสว่านมือสำหรับเจาะเหล็ก กบไสไม้สำหรับไสไม้ให้บางลง เครื่องขัดสำหรับขัดเหล็กให้ผิวเรียบ ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันมิให้จำเลยที่ 11 ใช้เครื่องหมายการค้าคําว่า HIKARI กับสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้าจักรเย็บผ้า มอเตอร์จักรเย็บผ้า ซึ่งเป็นการใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันและรายการสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับจำพวกและรายการสินค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 11 ไม่มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคําขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ได้ ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
of 109