คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 831 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีหลายข้อหา - อำนาจศาลในการแยกพิจารณาคดี และการหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล
ตามมาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติถึงการฟ้องคดีที่มีหลายข้อหาด้วยกันไว้2 กรณี คือ คดีที่ฟ้องกันนั้นมีข้อหาหลายข้อด้วยกันและศาลเห็นว่าข้อหาข้อหนึ่งข้อใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้ออื่น ๆ ศาลอาจมีคำสั่งให้แยกคดีตามที่ศาลเห็นสมควรหรือคู่ความผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอกรณีหนึ่ง อีกกรณีหนึ่งถ้าคดีที่ฟ้องกันนั้นมีข้อหาหลายข้อและศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะทำให้การพิจารณาข้อหาเหล่านั้นสะดวก ก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปตามที่ศาลเห็นสมควรหรือคู่ความผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม 94 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้ง มีจำนวนเงินที่ขอให้จำเลยคืนแตกต่างกัน หากต้องแยก พิจารณาตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละครั้ง เท่ากับต้อง พิจารณาคดีแยกกันถึง 94 คดี ทั้ง ๆ ที่คำฟ้องมีสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับตลอดจนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่ง ข้อหาเช่นว่านั้นมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันและเป็นคู่ความ รายเดียวกัน การพิจารณาไปคราวเดียวกันย่อม สะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อีกทั้งข้อหาตามคำฟ้องยังเกี่ยวเนื่องกันหากแยกฟ้องก็สามารถ ขอให้ พิจารณารวมกันได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้แต่อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้องของโจทก์จำนวน 94 ข้อซึ่งแต่ละข้อสามารถคิดคำนวณจำนวนเงินที่ขอให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงินแยกต่างหากออกจากกันได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินรวมกันมาจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อย่อมประจักษ์ชัดว่าโจทก์เจตนาหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล กรณีโจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามคำฟ้องทุกข้อแยกต่างหากจากกัน แม้โจทก์สามารถฟ้องข้อหาหลายข้อเป็นคดีเดียวกันได้ก็ดีแต่ต่อมาศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาเป็นกลุ่มหรือเป็นประเภทออกจากกันแล้วจะทำให้การพิจารณาข้อหาเหล่านั้นสะดวก ศาลก็ยังมี อำนาจสั่งแยกข้อหาดังกล่าวออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4634/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยหนี้และการฟ้องคดีภายในอายุความในคดีล้มละลาย: การพิจารณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และระยะเวลาฟ้อง
แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยไว้ชั่วคราวในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่งไว้แล้ว แต่หลังจากนั้นเจ้าหนี้ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายนี้อีกและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยไว้เด็ดขาดในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ขอรับชำระหนี้ได้จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2536อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย ไว้เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 เจ้าหนี้ได้ฟ้องจำเลยและผู้ค้ำประกันให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 27 ฉบับ ต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2531 เมื่อนับถึงวันที่ตั๋วสัญญา ใช้เงินแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงินยังไม่พ้น 3 ปี ถือว่าโจทก์ ได้ฟ้องจำเลยภายในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดี เฉพาะจำเลยชั่วคราว แต่ต่อมาศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษา ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว แก่เจ้าหนี้ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 27 ฉบับ จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2541 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนและฟ้องคดีอาญาของนิติบุคคล: ผู้มีอำนาจกระทำการแทน
ป.วิ.อ.มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณีคำว่า ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นย่อมหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย เช่น กรรมการผู้จัดการของบริษัท
พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ก.กรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลย โดยมิได้สอบสวน อ. กรรมการผู้จัดการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย และตามบันทึกคำให้การของ ก.มีข้อความว่าก.ไม่ขอให้การชั้นสอบสวนจะไปให้การในชั้นศาล และยังให้การว่า ก.เป็นกรรมการบริษัทจำเลย แต่ ก.ไม่มีอำนาจลงชื่อในการทำนิติกรรมของบริษัทจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยมอบอำนาจให้ ก.กระทำการแทนบริษัทจำเลยได้ ดังนี้พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน ก.ในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยเกี่ยวกับคดีอาญาคดีนี้ กรณีย่อมถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนบริษัทจำเลยโดยชอบแล้ว พนักงาน-อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยเป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีทหารกองเกินหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ต้องระบุหมายนัดและการขัดขืนอย่างชัดเจน
การฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 20 โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ด้วยและหากโจทก์ฟ้องด้วยวาจามีข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ศาลก็จะบันทึกคำฟ้องของโจทก์ให้ได้ใจความแห่งข้อหาไว้เป็นหลักฐานเพื่อพิพากษาคดีนั้นต่อไป
การที่จะถือว่าทหารกองเกินหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารกองประจำการตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2499 มาตรา 45 ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงขัดขืนหมายนัดของนายอำเภอตามมาตรา 34 ด้วย ดังนั้น องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 45 จึงประกอบด้วยนายอำเภอออกหมายนัด จำเลยรับหมายนัดแล้วและมีการขัดขืนหมายนั้น แต่บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยซึ่งเป็นทหารกองเกินและถูกคัดเลือกให้เข้ากองประจำการในผลัดที่ 1/2540 ในวันที่ 5 เมษายน 2540 แต่หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า กำหนดให้ไปรายงานตัวได้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่ปรากฏว่านายอำเภอได้ออกหมายนัด และจำเลยได้รับหมายนัดแล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการเพื่อฟ้องคดีในศาลแขวง และผลของการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเกินกำหนด
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499 มาตรา 7 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนดระยะเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับนั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้าและทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น คดีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้ขออายัดตัวผู้ต้องหาต่อพนักงาน-สอบสวนในคดีอื่นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 แล้ว และในวันเดียวกันผู้ร้องยังได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบคำให้การผู้ต้องหาไว้ด้วย ดังนี้ กรณีหาใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออายัดตัวผู้ต้องหาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้จับผู้ต้องหาแล้ว หรือผู้ต้องหาถูกจับแล้วตั้งแต่นั้น แม้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่น และพนักงานสอบสวนในคดีนี้เพิ่งได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีในภายหลัง โดยผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไปในคดีนี้ ก็คงมีผลแต่เพียงทำให้ผู้ร้องมิต้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499มาตรา 8 เท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับดังกล่าว และถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด ผู้ร้องก็จะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลต่อไป เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับศาลจึงไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ ชอบที่ศาลจะสั่งยกคำร้องขอผัดฟ้องของผู้ร้องเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหมายเรียกทหารกองเกินและการฟ้องคดีอาญา การบรรยายฟ้องต้องชัดเจนถึงการออกหมายเรียกและรับทราบ
การกระทำความผิดของทหารกองเกินที่หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่ไปให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 45 ต้องประกอบด้วยนายอำเภอได้ออกหมายเรียก และทหารกองเกินได้รับหมายเรียกดังกล่าวแล้วหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่ไปให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการคดีนี้เหตุเกิดที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2528 มาตรา 69 บัญญัติให้ผู้อำนวยการเขตมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ เมื่ออำนาจหน้าที่ในการออกหมายเรียกตามพ.ร.บ.รับราชการทหาร ฯ มาตรา 45 ดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการเขตดินแดง แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า ผู้อำนวยการเขตดินแดงได้ออกหมายเรียกจำเลยหรือไม่ และจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่ ป.วิ.อ.มาตรา 158(5) บัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจฟ้องคดี: คำสั่งมอบอำนาจทั่วไปไม่เพียงพอ ต้องมีหลักฐานการมอบอำนาจเฉพาะเจาะจง
คำสั่งกรมตำรวจเรื่องมอบอำนาจให้หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจให้มีอำนาจแต่งตั้งทนายความดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่าตำแหน่งรองผู้บังคับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดเป็น ตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดตามคำสั่งของกรมตำรวจ ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84 จึงฟังไม่ได้ว่า พันตำรวจเอก ว. ดำรงตำแหน่งหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหรือตำแหน่งเทียบเท่าตามคำสั่ง โจทก์จึงไม่อาจอ้างคำสั่งมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ ส่วนหนังสือที่ผู้ช่วยโจทก์ ซึ่งปฏิบัติราชการแทนโจทก์ร่างเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยลงลายมือชื่อแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มีข้อความตอนท้ายว่า "ดังนั้น ตามหนังสือที่อ้างถึง (2) เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ส่งสำนวนการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งไปให้กรมตำรวจ พิจารณาแล้ว อธิบดีกรมตำรวจจะได้มอบอำนาจให้ผู้รับผิดชอบ ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 990/2535 เพื่อดำเนินคดีต่อไป"คำสั่งกรมตำรวจที่ 990/2535 ก็คือคำสั่งกรมตำรวจเรื่อง มอบอำนาจให้หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจตามข้อความในหนังสือ ข้างต้น โจทก์เองมิได้ถือว่าคำสั่งของโจทก์ที่ 990/2535 เป็นหนังสือมอบอำนาจ เพราะโจทก์จะต้องมอบอำนาจ ให้ผู้รับผิดชอบตามคำสั่งที่ 990/2535 อีกชั้นหนึ่ง พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่พอฟังว่าพันตำรวจเอก ว. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ แต่เป็นมูลหนี้ อันไม่อาจแบ่งแยกชำระหนี้กันได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนฟ้องคดี หากไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดี
สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งโจทก์และจำเลยได้ร่วมลงนามด้วยนั้น มิได้กำหนดเวลาการเสนอ ข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้ จึงนำบทบัญญัติตาม มาตรา 9 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ คู่สัญญาจึงต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายเมื่อปรากฏว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการยังอยู่ในกำหนดเวลาที่โจทก์จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ แต่โจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อนจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องจึงชอบที่จะขอให้ศาล มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯมาตรา 10 เมื่อสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการข้อ 10 ระบุว่า "คู่สัญญาตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด" การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการจึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนในการใช้สิทธิฟ้องร้อง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเอกสารที่เกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือระเบียบข้อบังคับของสมาคมประกันวินาศภัยมาให้ตรวจสอบซึ่งจำเลยก็ได้ส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลแล้ว ทั้งตามฎีกาโจทก์ก็มีได้อ้างว่ามีเหตุอะไรที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้แต่อย่างใด จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้มีการไต่สวนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีหลังเจ้ามรดกเสียชีวิต: ต้องมีหลักฐานยืนยันการตายที่แน่นอน
ตามที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ได้ระบุห้ามเจ้าหนี้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกนั้นต้องเป็นการรู้โดยแน่นอน มีหลักฐานยืนยัน แม้จะได้ความจากพันตำรวจโทพ.พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เมื่อกลางปี 2532 ผู้ใต้บังคับบัญชารายงาน ให้ทราบว่า ส.ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ได้ทำหนังสือถึงทายาทให้จัดการเกี่ยวกับเรื่องสัญญาประกัน และ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2533 กรมตำรวจได้ ขอความร่วมมือจากอธิบดีกรมอัยการให้จัดพนักงานอัยการ เป็นทนายว่าต่างดำเนินการฟ้อง ส. ให้รับผิดชดใช้เงินค่าปรับกองคดีแพ่งกรมอัยการ รับดำเนินการให้เมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2533 ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวเป็นเพียง ข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบถึงการตายของ ส. ยังฟังเป็นแน่นอนหาข้อยุติไม่ได้ว่า ส.ถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทำบันทึกลงวันที่ 22 มิถุนายน 2535 รายงานพันตำรวจโทพ.ว่าส.ได้ถึงแก่ความตายแล้ว พร้อมทั้งแสดงมรณบัตร พันตำรวจโทพ. รับทราบในวันเดียวกันย่อมต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการตายของส.แล้วนับแต่นั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2535 ยังไม่พ้นกำหนด1 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของส.เจ้ามรดกฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส.เป็นผู้ประกันตัวว. ผู้ต้องหาแล้วผิดสัญญาประกันต้องใช้เงินจำนวน 500,000 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทผู้รับ ทรัพย์ตามพินัยกรรมของส.จึงต้องรับผิดต่อโจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพชั้นสอบสวนใช้ยันจำเลยได้ หากพนักงานสอบสวนไม่มีสาเหตุโกรธเคือง และการฟ้องคดีอาญาต้องมีการร้องทุกข์
คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับ ป. ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย เป็นพยานบอกเล่าที่ใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพียงนำไปรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เท่านั้น แต่คำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าพยานเป็นผู้สอบสวนจำเลย และจำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นคำเบิกความของประจักษ์พยานในข้อที่ว่ามีการสอบสวนจำเลยแล้วจำเลยให้การรับสารภาพว่าอย่างไร ทั้งพนักงานสอบสวนก็ไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจคำให้การดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน แต่ไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ดังนี้ศาลจะลงโทษตามมาตรา 365 ไม่ได้เพราะโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 สูงกว่ามาตรา 364เป็นการเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง พยานหลักบานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุก คำเบิกความและข้อนำสืบของพยานโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบในความผิดฐานนี้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจทำการสอบสวนพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120และ 121 วรรคสอง
of 84