คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รุกล้ำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 109 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2471

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกีดขวางทางน้ำสาธารณะด้วยการถมดินและสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง
ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานกีดขวางทางหลวง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินรุกล้ำที่สาธารณะ/ที่ป่า เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ ผู้ขายต้องรับผิดค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกับเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการโดยทุจริต ใช้วิธีการให้จำเลยยื่นคำร้องขอรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย และรังวัดรวมเอาที่ดินนอกเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง มารวมกับที่ดินเดิมแล้วแก้ไขเพิ่มจำนวนเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้มากขึ้นโดยไม่ชอบ จากนั้นจำเลยนำที่ดินมาขายให้แก่โจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นที่ดินที่จำเลยเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์หลงเชื่อจึงรับซื้อไว้และจ่ายเงินค่าที่ดินให้จำเลยไปแล้วเป็นการฉ้อโกงโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์ ดังนี้เป็นการฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด มิใช่การฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายที่ดิน จึงไม่มีข้อต้องพิจารณาว่าโจทก์มีส่วนผิดในการทำสัญญาหรือเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลยโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เมื่อการทำละเมิดเกิดจากการทุจริตฉ้อโกงของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้มีส่วนสมรู้หรือยินยอมให้จำเลยกระทำการทุจริตดังกล่าว จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ทั้งจำเลยไม่อาจอ้างเหตุผลใดที่จะไม่ต้องคืนทรัพย์สินที่หลอกลวงไปคืนแก่โจทก์เพราะบุคคลผู้ทุจริตหามีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากการทุจริตหรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยมีเนื้อที่จริงเพียง 22 ไร่ 1 งาน จำเลยสมคบกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินของจำเลยโดยรังวัดรวมเอาที่ป่าที่จำเลยไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา รวมเข้าเป็นเนื้อที่ดินที่รังวัดได้ใหม่แล้วแก้ไขรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็น 55 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา การรังวัดและแก้ไขเนื้อที่ดินดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะที่ดินส่วนที่รังวัดเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) เนื่องจากเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินหรือยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่บุคคลใด และเป็นที่ดินที่จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่ได้เข้าทำประโยชน์อยู่จริง จึงไม่มีสิทธิที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินส่วนนี้ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง การรังวัดและแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองหรือก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ที่ดินส่วนดังกล่าวยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เช่นเดิม การที่จำเลยอ้างต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนนี้ด้วยทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริงและนำมาหลอกขายให้โจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคืนเงินค่าที่ดินเฉพาะส่วนที่รังวัดเพิ่มขึ้นโดยไม่ชอบนั้นแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9764/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงซื้อที่ดินร่วมกันมีผลผูกพัน การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ
เดิมโจทก์และจำเลยเป็นผู้เช่าห้องแถวซึ่งปลูกติดกันบนที่ดินแปลงเดียวกันของผู้ให้เช่า ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวถูกธนาคารยึดขายทอดตลาด โจทก์ จำเลยและผู้เช่าอื่นร่วมกันซื้อที่ดินจากธนาคารมีข้อตกลงระหว่างกันว่า ผู้เช่าจะซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละแปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่นก็ต้องรื้อส่วนที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพเดิมไปก่อน ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้และมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อแต่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ หาใช่กรณีที่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 1312 มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7171-7182/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมทางจำเป็น, การรุกล้ำที่ดิน, สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย, การครอบครองปรปักษ์
การที่จะถือว่าผู้ซื้อได้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 นั้น จะต้องได้ความว่าผู้ซื้อรู้หรือควรจะรู้ว่าทรัพย์ที่ตนซื้อมามิใช่ของจำเลยหรือของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลล้มละลาย คดีนี้ได้ความจากคำแถลงของทนายโจทก์ทั้งสองแถลงรับว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ถึงที่ 11 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่จำเลยแต่ละคนได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวมาจากเจ้าของเดิม และขณะที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาด โจทก์เห็นว่าที่ดินพิพาทมีการรุกล้ำและครอบครองโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ถึงที่ 11 ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่มีส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนหรือขณะซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสองทราบเรื่องที่จำเลยแต่ละคนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นแต่เพียงรับว่ามีข้อเท็จจริงนั้นอยู่จริงเท่านั้น ดังนั้น จะฟังว่าโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ถึงที่ 11 จึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้
ปัญหาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 อันจะทำให้โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ที่ดินพิพาทและที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ต่างเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในโครงการหมู่บ้าน บ. โฉนดที่ดินพิพาทและโฉนดที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 รวม 12 ฉบับ ก็ระบุไว้เหมือนกันว่าเป็นที่ดินที่แบ่งแยกมากจากที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวกันได้ความว่าเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินเจตนากันที่ดินพิพาทไว้เป็นทางเข้าออกตึกแถวน่าเชื่อว่าเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อกันไว้เป็นสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์ในการขายตึกแถวในโครงการนั้นเอง ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรในโครงการรวมถึงที่ดินที่เป็นที่ตั้งตึกแถวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ด้วย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยไม่จำต้องคำนึงว่าเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินได้สละการครอบครองหรือมีเจตนาที่จะให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมหรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาโจทก์ทั้งสองจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดในคดีที่บริษัท ป. เจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม ก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมในที่ดินพิพาทนั้นสิ้นไป โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่หรือห้ามมิให้จำเลยทั้งสิบห้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 เช่นกัน ยกเว้นกันสาดปูนซีเมนต์ด้านหน้าตึกแถวที่มีมาแต่แรกแล้ว สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ต่อเติมขึ้นภายหลังและรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 จะต้องรื้อถอนออกไป เพราะเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์
ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายโดยไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายอย่างไร อีกทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำที่ดินพิพาทซึ่งตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะเรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ จำเลยทั้งสิบห้าจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6226/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำภาระจำยอมด้วยการก่อสร้าง การกระทำดังกล่าวเป็นการลดทอนประโยชน์ของภาระจำยอมและกระทบสิทธิเจ้าของสามยทรัพย์
ทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นทางที่ใช้สัญจรอยู่ในโครงการหมู่บ้านและที่ดินจัดสรรของจำเลยทั้งสอง ไม่ว่ารถยนต์จะสามารถใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกได้หรือไม่ก็ตาม บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1390 ห้ามมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก การที่จำเลยทั้งสองทำการปลูกสร้างหรือก่อสร้างแผงร้านค้าลงในที่ดินย่อมเป็นการกีดขวางการใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมดังกล่าวอันจะเป็นเหตุทำให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์และผู้ซื้อที่ดินและบ้านจัดสรรซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ในโครงการของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน: สัญญาเช่าที่ดินผิดกฎหมาย และการละเมิดสิทธิการใช้ทางหลวง
ที่พิพาทเป็นพื้นที่ไหล่ทางของทางหลวงหมายเลข 3 จึงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตทางหลวงซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งได้รับมอบที่ดินคืนจากกรมทางหลวงเพื่อดูแลรักษา หรือจังหวัดฉะเชิงเทราในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงจากกรมธนารักษ์ย่อมไม่มีอำนาจนำที่ดินส่วนนี้ไปให้เอกชนรายหนึ่งรายใดใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว เพราะแม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตทางหลวงไม่ใช่ที่ราชพัสดุ หากแต่เป็นทางหลวงและไหล่ทางตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่ และยังคงสภาพเดิมเว้นแต่ทางราชการจะได้เพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่พิพาท การที่ทางจังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจากอำเภอบางปะกง ย่อมเป็นการให้เช่าโดยปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าระหว่างอำเภอบางปะกงกับจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิครองครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่านั้น เมื่อจำเลยสร้างเพิงบนที่พิพาทล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงหมายเลข 3 กับที่ดินของโจทก์ อันเป็นการถือสิทธิเหนือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเช่นนี้ จึงกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงสายนั้น และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นพลเมืองที่จะใช้ทรัพย์สินนั้นด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับเอาแก่จำเลยตราบเท่าที่จำเลยยังคงอยู่บนที่พิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5488/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงท้าพิสูจน์แนวเขตที่ดิน และผลผูกพันตามข้อตกลง หากมีส่วนหนึ่งรุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยต้องรื้อถอนส่วนนั้น
โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันว่าให้เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ถ้าปรากฏว่าบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยยินยอมรื้อถอนบ้านออกไปและยอมชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์ หากบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานโจทก์จะถอนฟ้อง คู่ความตกลงกันด้วยว่าให้ถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแผนที่พิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นยุติ คำท้าดังกล่าวมีความหมายว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบ้านของจำเลยแม้เพียงบางส่วนปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยจะต้องรื้อถอนบ้านเฉพาะส่วนที่ปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ออกไปซึ่งเท่ากับว่าจำเลยชนะคดีบางส่วนคือไม่ต้องรื้อถอนออกไปทั้งหมดทั้งหลังตามคำขอของโจทก์ เมื่อตามแผนที่พิพาทปรากฏว่าบ้านของจำเลยส่วนใหญ่ปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าตรงกับคำท้าของโจทก์และจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีไปได้เลยโดยไม่จำต้องสืบพยานคู่ความอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5332/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสี่
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิดออกไปจากที่ดินนั้นด้วย" เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ถมดิน ซึ่งย่อมมีความหมายรวมถึงให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำเข้าไปในทะเลสาบออกไปได้ด้วย ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7785/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการใช้ทางสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรร และอำนาจฟ้องขับไล่ผู้รุกล้ำ
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร แม้จะไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีหน้าที่ดูแลที่ดินที่เป็นประเภทสาธารณูปโภค ซึ่งที่ดินประเภทสาธารณูปโภคจะตกเป็นภาระจำยอมให้กับผู้ซื้อที่ดินในโครงการ มีสิทธิใช้ที่ดินในส่วนดังกล่าว โดยไม่ต้องจดทะเบียนภาระจำยอม ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่กันไว้สำหรับสาธารณูปโภคประเภทถนนในโครงการ มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินและเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินพิพาท คดีนี้ตอนต้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนฟ้องคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต จึงเหลือเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543
แต่อย่างไรก็ดี พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 2 เปิดร้านค้าสุราเปิดเพลงส่งเสียงดังรบกวนและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ และเปิดกิจการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมีการทิ้งสิ่งปฏิกูลส่งกลิ่นเหม็นข้างอาคารโจทก์ และจอดรถขวางทางทำให้โจทก์เข้าออกลำบาก ทำให้โจทก์และผู้ที่เช่าอาคารโจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนรำคาญจนเกินสมควร โจทก์จึงมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ให้ออกไปจากพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคประเภทสาธารณประโยชน์ (ถนนในโครงการ)
แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนร้านค้าออกไปจากที่ดินพิพาท จะเป็นคำขอท้ายฟ้องที่ไม่ถูกต้อง แต่ในการพิพากษาคดีไม่ได้มีกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องพิพากษาตามคำขอทุกประการ หากพอทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์มีความประสงค์อย่างใด จำเลยที่ 2 ก็สามารถเข้าใจดีว่าโจทก์ต้องการบังคับคดีแบบใด จำเลยที่ 2 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ เหตุที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นเพราะเดิมมีการฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน ผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินพิพาทมาพร้อมกับจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 จึงได้มีคำขอท้ายฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ติดมาด้วย ถือว่าเป็นคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท แต่ก็ไม่ได้พิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 2 ทำการรื้อถอนร้านค้า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์และคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว
of 11