คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อายุความมรดก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 102 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9193/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ อายุความมรดก และการจดทะเบียนแก้ไขคลาดเคลื่อน กรณีพิพาททรัพย์มรดก
แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นทำนองว่า ขอให้เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน แต่เหตุที่โจทก์อ้างเป็นหลักในคำฟ้องก็เป็นเหตุเดียวกันกับเหตุที่โจทก์อ้างในคดีก่อนว่าการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้คำขอบังคับในคดีนี้จะแตกต่างจากคดีก่อนก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลเหตุเดียวกัน กล่าวคือ ในคดีนี้ก็ต้องวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งว่า การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ทั้งสามครั้งตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ส่วนการใช้สิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกเอาจากทายาท กรณีจำต้องอยู่ภายใต้อายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เมื่อโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งทราบการตายของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 นอกจากนี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายและโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกและพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดก, การครอบครองทรัพย์มรดก, ผู้จัดการมรดก, สิทธิในการแบ่งมรดก
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกทอดได้แก่ ค. บิดาของโจทก์ และของ ห. แทนที่ ค. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน ห. เจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของ ห. ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ระหว่างจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ ห. เฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ให้แก่โจทก์ อันถือได้ว่าเป็นคดีมรดก หาใช่เป็นการฟ้องเรียกให้ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ทั้งเรื่องนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว
โจทก์ทำงานและพักอาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. เลย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. มาโดยตลอดนับแต่ ห. ถึงแก่ความตายโดยโจทก์และทายาทอื่นไม่เคยครอบครองหรือร่วมครอบครองทำประโยชน์ด้วย เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายวันที่ 6 ธันวาคม 2532 โจทก์มาร่วมงานศพ ห. ถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของ ห. เจ้ามรดก แต่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 จึงเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งทรัพย์มรดก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามมาตรา 1754 สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. จึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยสมบูรณ์ แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วถึง 24 ปี นับจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และเป็นเวลาภายหลังจากสิทธิของโจทก์ขาดอายุความมรดกไปแล้ว ทั้งการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากการจัดการมรดกของ ห. มีเหตุขัดข้อง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกไม่ยินยอมให้จัดการมรดก แจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกไปแสดงเสียก่อน ซึ่งก็ปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิสมบูรณ์ในที่ดินทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เป็นการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น และผู้จัดการมรดกครอบครองที่ดินมรดกไว้แทนทายาทอื่น
of 11