คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เงินกู้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 110 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2471

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์การชำระหนี้เงินกู้และการรับรองลายมือชื่อในข้อพิพาท
สัญญากู้ใช้เงินแล้วแต่ยังไม่ได้รับสัญญาคืนวิจักขณะพะยานถ้ามีพะยานอื่นประกอบฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นโมฆะตามกฎหมาย
การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดร้อยละ 14.50 ต่อปี กับจำเลยในวันทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวกส่วนต่าง (MARGIN) สูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ ซึ่งขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ย MRR ร้อยละ 6.50 ต่อปี ส่วนต่างสูงสุดร้อยละ 4.00 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 10.50 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยของโจทก์กับจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17432/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หากมีข้อตกลงชัดเจนและสอดคล้องกับกฎหมาย
การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ ซึ่งในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดตัวอย่างของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในการชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ เป็นเพียงบทสันนิษฐานในกรณีเป็นที่สงสัยเท่านั้น แต่ถ้ามีการตกลงหรือมีพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ทั้งหมดก่อนครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงอย่างชัดแจ้งตามสัญญากู้เงินว่าในกรณีที่ผู้กู้ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก ผู้กู้ตกลงชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ โจทก์จึงชำระหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนคืนแก่จำเลยก่อนกำหนดโดยที่จำเลยไม่ยินยอมหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ต้องการคืนเงินกู้ทั้งจำนวนแก่จำเลยก่อนกำหนดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์จึงต้องชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดแก่จำเลยตามสัญญากู้ โดยจำเลยมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการได้ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ข้อ 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากู้เงินและธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ทำให้โจทก์ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: รถยนต์ที่ซื้อระหว่างสมรสด้วยเงินกู้และเงินส่วนตัว ถือเป็นสินสมรสจำเลยมีสิทธิ
ผู้ร้องซื้อรถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยผู้ร้องรวบรวมเงินมาซื้อโดยได้นำเงินบางส่วนที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเงินกู้ที่ได้มาเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลย ย่อมถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 หาใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการเปลี่ยนสินส่วนตัวของผู้ร้องมาเป็นสินสมรสดังเช่นที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อรถยนต์คันพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย และตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคืนแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมเงิน: ศาลฎีกาพิพากษาตามสัญญาเดิม หลังศาลอุทธรณ์ลดจำนวนเงิน
โจทก์เบิกความยืนยัน โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 290,000 บาท โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่จำเลยอ้างว่าเมื่อปี 2535 จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 50,000 บาท เท่านั้น และในปี 2536-2538 จำเลยได้ทำการชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกปีเป็นจำนวน 3 ครั้ง ต่อมาปี 2539 และปี 2540 จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 แต่ความจริงจำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท เท่านั้น ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2540 เป็นจำนวนเงินมากกว่า 30,000 บาท เพราะจำเลยมิได้ค้างชำระดอกเบี้ยเฉพาะในปี 2539 และ 2540 แต่ในปี 2536-2538 จำเลยก็ยังผ่อนชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ครบ การที่จำเลยอ้างว่าในปี 2543 ได้นำเงิน 80,000 บาท ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยอมคืนสัญญากู้ยืมเงินให้ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุน ทั้งจำนวนเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงเงินต้นเท่านั้นไม่รวมไปถึงดอกเบี้ยด้วย จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะคืนสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลย จึงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 290,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นแก่โจทก์ 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินกู้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุนทรัพย์ชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ออก ศาลต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉ้อโกงแม้หลอกลวงบุคคลอื่น แต่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของเงินกู้ ย่อมเป็นผู้เสียหายในคดี
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเพื่อขอกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ตามทางพิจารณาได้ความว่าเป็นเรื่องหลอกลวงมารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้และเป็นผู้ทำสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้เงิน ซึ่งจำเลยผู้กู้นำโฉนดที่ดินของบุคคลอื่นมาหลอกลวง เพื่อให้ได้เงินที่กู้ยืมไป ดังนั้น ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว จึงเป็นผู้เสียหายในคดีฉ้อโกงด้วยคนหนึ่ง ข้อแตกต่างดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงฟังลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9570/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: ที่ดินและรถยนต์ที่ซื้อระหว่างสมรสเป็นสินสมรส แม้ใช้เงินกู้และเงินเดือนที่ได้ระหว่างสมรส
จำเลยซื้อที่ดินและรถยนต์ในระหว่างสมรส ที่ดินและรถยนต์จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) แม้เงินที่ใช้ในการผ่อนหนี้ค่าซื้อที่ดินเป็นเงินที่จำเลยกู้มาจากธนาคาร และเงินที่ใช้ในการผ่อนหนี้ค่าซื้อที่ดินเป็นเงินที่จำเลยกู้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 400,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้ด้วยเงินเดือนของจำเลยทั้งสิ้นก็ตาม แต่เงินเดือนของจำเลยดังกล่าวก็เป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นเงินสินสมรสนั่นเอง ส่วนเงิน 130,000 บาท ที่นำไปรวมกับเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเงินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส จำเลยจะต้องพิสูจน์หักล้าง เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องถือว่าเป็นสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4587/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญาเงินกู้, ดอกเบี้ยผิดนัด, เบี้ยปรับ, การปรับลดเบี้ยปรับ, และการคิดดอกเบี้ยตามประกาศกระทรวงการคลัง
แม้สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชําระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาและไม่ครบจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาตั้งแต่ปี 2560 หลายครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือเรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดทันที โจทก์กลับรับชําระหนี้ไว้โดยไม่อิดเอื้อน ทั้งมีการงดคิดดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 แสดงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาและจำนวนเงินที่ต้องชําระตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 จะตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คําเตือนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชําระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 จำเลยที่ 1 ไม่ชําระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ให้จำเลยทั้งสี่ชําระทั้งหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือนั้นแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ครบกำหนดวันที่ 6 มิถุนายน 2561 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชําระ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 19 ให้สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง โดยมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเพื่อให้ทราบถึงการผิดนัดนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ชําระหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 จำเลยที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 จึงถือได้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชําระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชําระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชําระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลย่อมไม่มีอำนาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ แต่ส่วนที่สัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดชําระหนี้ ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราสูงสุดได้ทันทีนั้น มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาเงินกู้เนื่องจากการลาออกจากการเป็นพนักงานประจำ และผลกระทบต่อการชำระหนี้
ตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ข้อ 34 (3) ระบุคุณสมบัติของสมาชิกว่า ต้องเป็นพนักงานประจำของบริษัท ก.(มหาชน) และข้อ 19 ระบุว่า ถ้าประสงค์จะลาออกจากการเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ตามข้อ 34 (3) จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อน อีกทั้งตามหนังสือกู้ยืมเงิน ข้อ 14 ระบุว่า หากผู้กู้จะขอลาออกจากงานประจำต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ให้กู้ทราบก่อนและจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นทันทีก่อน ถ้าผู้กู้ไม่ปฏิบัติตามยินยอมให้บริษัทการบินไทย ฯ หรือผู้ให้กู้หักเงินเดือน ค่าจ้างเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ให้กู้เสร็จสิ้นทันที กับทั้งระบุว่าหากผู้กู้ผิดนัดหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินเดือนหรือค่าจ้างชำระหนี้ทันทีจนกว่าจะครบถ้วน ซึ่งตามข้อบังคับสหกรณ์ฯ และข้อตกลงดังกล่าวล้วนให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของผู้กู้ว่าต้องมีสถานะเป็นพนักงานประจำของบริษัท ก. เป็นสาระสำคัญ เมื่อข้อเท็จริงฟังได้ว่าโจทก์ลาออกจากพนักงานประจำของบริษัท ก. โดยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือแก่จำเลยที่ 1 ผู้ให้กู้ทราบก่อนและโจทก์ไม่จัดการชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 14 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิไม่จ่ายเงินกู้งวดที่เหลือแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ใหม่จากหนี้เดิมหลายประเภท (เงินกู้, ทองคำ, ค่าแชร์) และดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
หนี้ตามสัญญากู้เงินพิพาทเกิดจากการนำหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หนี้ยืมทองคำ และหนี้ค่าแชร์มารวมกัน แม้หนี้เงินกู้เดิมไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมแต่จำเลยยังมีหน้าที่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เพียงแต่โจทก์ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ อย่างไรก็ตาม คู่กรณีสามารถตกลงกันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทั้งการส่งมอบเงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินในวันทำสัญญา สามารถส่งมอบก่อนหรือหลังทำสัญญาก็ได้ และจำเลยรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ 100,000 บาท ดังกล่าวจริง หนี้ส่วนนี้จึงสมบูรณ์ ส่วนหนี้ยืมทองคำ แม้มีการไถ่ถอนทองคำคืนโจทก์ แต่ก็เป็นการกระทำภายหลังที่มีการทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยมีการตรวจสอบยอดหนี้ในส่วนนี้ว่ายังมีหนี้ค้างชำระกันอีก หนี้ในส่วนนี้จึงสมบูรณ์เช่นกัน สำหรับหนี้ค่าแชร์เมื่อนำมารวมกับหนี้เงินกู้และหนี้ยืมทองคำแล้วจัดทำเป็นหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท จำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินพิพาทจริง ส่วนจะเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 หรือไม่ นั้น จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันโจทก์มีการจัดให้เล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง หรือมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าหนี้ค่าแชร์ที่นำมารวมเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เมื่อจำเลยไม่นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์เป็นนายวงเป็นโมฆะ และเมื่อมีการนำหนี้ทั้งสามประเภทมารวมกันเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงก่อหนี้ขึ้นมาใหม่โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับอันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่
of 11