คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไขคำให้การ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 123 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8728/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำให้การในชั้นฎีกาและการยอมรับข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 2
จำเลยฎีกาขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพนั้น เป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งจำเลยไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง แต่อย่างไรก็ดี การที่จำเลยยื่นฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7074/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การหลังสืบพยาน, การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายจากวิธีวิทยาศาสตร์, หน้าที่อุปการะเลี้ยงดู
ป.วิ.พ. มาตรา 180 ให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การได้ กรณีไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์หรือจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือคำให้การ แต่หาได้เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยเสมอไปไม่ เมื่อมีเหตุอันสมควรศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาคำร้องเป็นเรื่อง ๆ ไป กรณีตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจำเลยซึ่งยื่นหลังจากสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จแล้ว เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาว่า ผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยเรื่องที่จำเลยต้องการสืบพยานเพิ่มเติมตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริจาคน้ำเชื้อให้แก่แพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ในการผสมเทียมของหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาของผู้บริจาคไม่ถือว่าผู้บริจาคเป็นบิดาของเด็กที่ถือกำเนิดมาตามกฎหมายมลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลยแต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงอยู่กินด้วยกันโดยแต่งงานกันตามประเพณี แต่ไม่สามารถมีบุตรด้วยกันตามธรรมชาติได้จึงใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์โดยการทำกิ๊ฟท์นำสเปิร์มของจำเลยไปผสมกับไข่ของโจทก์ในหลอดแก้ว เมื่อมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้วนำกลับเข้าไปไว้ในร่างกายของโจทก์ ทำให้เกิดบุตรแฝดสามคน คือผู้เยาว์ทั้งสามในคราวเดียวกัน การที่โจทก์และจำเลยซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาประสงค์จะมีบุตรด้วยกันแต่ไม่สามารถมีบุตรตามธรรมชาติได้จึงได้ไปพบแพทย์ด้วยกันเพื่อใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หลายครั้ง เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยสมัครใจจะมีบุตรร่วมกัน ไม่ใช่มีลักษณะเป็นการบริจาคตามความหมายของกฎหมายมลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้นกรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, ครอบครองปรปักษ์, และการซื้อที่ดินโดยสุจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี
จำเลยเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2539 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ครบสิบปีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 2 สร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา ซึ่งทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 156,000 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวที่เกี่ยวพันไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแต่ละแปลงมาพร้อมกัน ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสองยังมีหนังสือฉบับเดียวกันแจ้งให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่วินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 อาจส่งผลให้คำพิพากษาสำหรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่ามาใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10554/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีถึงที่สุดแล้ว การยื่นขอแก้ไขคำให้การ/ฟ้องแย้งภายหลังไม่ทำให้คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณา
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและ ณ. ร่วมกันรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ หลังจากศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและพิพากษายกฟ้องโจทก์ คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีส่วนที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงถึงที่สุด แม้จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนซึ่งจำเลยทั้งสองยังฎีกาต่อมาก็ตาม แต่ขณะจำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งในคดีเดิม ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีไว้ก่อนโดยดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อมาและมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด คดีในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งจึงเป็นคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์ ทั้งศาลฎีกาในคดีเดิมมีคำสั่งไม่รับคดีของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาเพราะเห็นว่าเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ผลของคำสั่งศาลฎีกาย่อมไม่กระทบต่อคำพิพากษาในคดีเดิมที่ถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งอันเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองทราบอยู่ก่อนแล้ว และยื่นภายหลังกำหนดเวลาตามกฎหมายเพื่อให้คดีเดิมอยู่ระหว่างพิจารณา พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมีเจตนาที่ไม่สุจริต จึงไม่ถือว่าคดีตามฟ้องเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาอันเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ การไม่โต้แย้งคำสั่งศาล และความรับผิดชอบต่อทนายความที่แต่งตั้ง
ตาม ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 หมวด 1 วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ไม่นำวิธีพิจารณาคดีสามัญมาใช้บังคับ จำเลยได้ยื่นคำให้การฉบับแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ก่อนวันกำหนดนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน จึงยังมีเวลาที่จำเลยจะยื่นคำร้องแก้ไขคำให้การได้อีกจนกว่าจะถึงวันนัด ครั้นถึงวันนัด คู่ความประสงค์จะเจรจาตกลงกันศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้อีกจนถึงวันดังกล่าว แม้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 193 วรรคสี่ บัญญัติว่า ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ โดยให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ก็ตาม แต่กรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้ภายในกำหนดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยเลื่อนยื่นคำให้การได้ซึ่งหมายรวมถึงการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ด้วย ทั้งปรากฏว่าในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน ที่เลื่อนมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลชั้นต้นได้จ่ายสำเนาให้ พ. ทนายโจทก์รับสำเนาแล้ว ทนายโจทก์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการสั่งโดยชอบ หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบ โจทก์ต้องโต้แย้ง แต่โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งคำสั่งให้รับคำให้การอันเป็นคำคู่ความเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงในรายงานหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งเป็นหนังสือ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยดังกล่าวเพราะทนายโจทก์ฉ้อฉลไม่แจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้แต่งตั้ง พ. เป็นทนายความของโจทก์มีอำนาจในการว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมทั้งการจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ด้วย โจทก์ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดชอบในสิ่งที่ พ. ตัวแทนของโจทก์กระทำไปภายในขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายด้วย ข้ออ้างของโจทก์ที่ปฏิเสธไม่รับรู้การปฏิบัติหน้าที่ของ พ. จึงไม่มีเหตุผลรับฟัง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไว้โดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, อํานาจฟ้อง, การดำเนินคดีอย่างคนอนาถา, และผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมศาล
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไป จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว อันจะมีผลให้จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่ง
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้
ส่วนข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมต่อมาที่ว่าโจทก์จดทะเบียนใหม่โดยยังไม่มีประกาศลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กรรมการโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรม มีผลให้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงสิ้นผลไป ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้สืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโดยคู่ความต่างก็ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว และศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยกขึ้นอ้างเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องในส่วนนี้ จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียหาย คดีย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7379/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่: การแก้ไขคำให้การของจำเลยร่วมและการขัดแย้งของคำให้การ
จำเลยร่วมให้การในชั้นแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทาน จำเลยที่ 2 มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการขับรถและมิได้เป็นตัวการตัวแทนกับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาจำเลยร่วมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยขอเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-2541 สิงห์บุรี โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วยจนไปเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด กล่าวคือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งช่างก่อสร้างชั้น 3 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ขับรถยนต์ของจำเลยร่วมได้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งหมายความว่า มีหน้าที่ขับรถเฉพาะรถยนต์ของจำเลยร่วมเท่านั้น แต่ในวันเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 กลับไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุที่ไม่ใช่รถยนต์ของจำเลยร่วม โดยไม่ได้ขออนุญาตเดินทางไปราชการและไม่ได้ขออนุมัติการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุ ประกอบกับวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการและมีบุคคลอื่นคือนาง ป. ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมนั่งไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งพนักงานส่งน้ำ แต่ไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยร่วมประสงค์จะให้การยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่และใช้ข้อความนี้แทนข้อความเดิมที่ว่า จำเลยที่ 2 นั่งในรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่เปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทานนั่นเอง เพียงแต่มิได้ระบุว่าขอตัดข้อความตามคำให้การเดิมและขอใช้ข้อความใหม่ตามที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแทน กับมีข้อความตอนท้ายที่ระบุขอถือตามคำให้การเดิมทุกประการ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นการผิดหลงหรือสับสนเท่านั้น ไม่ควรนำมาเป็นเหตุให้ถือว่าคำให้การของจำเลยร่วมดังกล่าวมานั้นขัดแย้งกันเพราะขัดต่อเหตุผลตามปกติธรรมดา แต่ควรถือเอาข้อความที่มีเหตุผลสื่อให้เข้าใจได้ตามความตั้งใจที่แท้จริงที่แสดงจนไม่ปรากฏให้เห็นได้ว่ามีเจตนาหรือตั้งใจยืนยันให้การในข้อเท็จจริงใดยิ่งกว่า จึงถือไม่ได้ว่าคำให้การจำเลยร่วมขัดแย้งกันจนไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11317/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การและการฟ้องแย้งในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและการรับฟ้องแย้ง
การขอแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 มีนาคม 2553 แต่เมื่อถึงวันนัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดชี้สองสถานและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันอื่น วันที่ 8 มีนาคม 2553 ย่อมมิใช่วันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ ยื่นคำขอจดทะเบียน หรือเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยโดยอ้างว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยสูญเสียรายได้ เนื่องจากต้องเก็บสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดระหว่างรอฟังผลของคดี เป็นฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นข้ออ้าง ฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10389/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การหลังพ้นกำหนด – เหตุอันสมควร – ความสงบเรียบร้อย – ป.วิ.พ. มาตรา 195
ป.วิ.พ. มาตรา 195 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับกับคดีมโนสาเร่เช่นคดีนี้ด้วย กล่าวคือ กรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ เมื่อคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยยื่นภายหลังล่วงพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่จะสามารถยื่นได้หรือไม่ ปรากฏข้อความที่จำเลยขอแก้ไขจากคำให้การเดิมว่า ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เป็นลายมือชื่อปลอม การมอบอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมและดวงตราที่ประทับก็ไม่ใช่ดวงตราประทับที่จดทะเบียนไว้ จึงเป็นการมอบอำนาจโดยมิชอบนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก หรือมิฉะนั้นนับแต่วันยื่นคำให้การไปจนถึงวันสืบพยานโจทก์นัดแรกก็ยังมีระยะเวลานานเพียงพอที่จำเลยจะสามารถขอแก้ไขคำให้การได้ทัน จึงไม่ใช่เหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งการขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากสืบพยานโจทก์แล้วเช่นนี้ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 180

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9334/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การในคดีอาญาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง การยื่นคำร้องและแสดงเหตุผลสมควรเป็นสิ่งจำเป็น
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย มาตรา 39 วรรคสอง และ ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง จะบัญญัติรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการ กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งให้สิทธิแก่จำเลยที่จะให้การต่อศาลหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ในกรณีที่จำเลยให้การต่อศาลแล้วหากประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การนั้น จำเลยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 163 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งหมายความว่าหากจำเลยประสงค์จะขอแก้คำให้การ จำเลยต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลและแสดงเหตุอันสมควรมาในคำร้องขอด้วยว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติ่มคำให้การเพราะเหตุใด ทั้งนี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องขอว่าเป็นเหตุผลอันสมควรหรือไม่
จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงนัดฟังคำพิพากษา เมื่อถึงวันฟังคำพิพากษา จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพตามฟ้องและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ แม้คำให้การของจำเลยดังกล่าวระบุว่าจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพตามฟ้องและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ ก็ถือเป็นการแก้ไขคำให้การตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสองแล้ว เมื่อจำเลยขอแก้ไขคำให้การโดยมิได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การ และมิได้แสดงให้ปรากฏว่ามีเหตุผลสมควรแก้คำให้การอย่างไร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
of 13