คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข้อตกลง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากข้อตกลงรถยนต์คันแรก ศาลยืนตามดุลยพินิจลดอัตราดอกเบี้ย
ตามคำขอใช้สิทธิและเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกที่กำหนดว่า กรณีผู้ขอใช้สิทธิมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสละสิทธิการโอนรถยนต์ใหม่คันแรกภายใน 5 ปี ให้ครบถ้วนจะต้องนำเงินที่ได้รับไปส่งคืน โดยยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เป็นกรณีที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับและใช้ดุลพินิจปรับลดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายห้องชุดและที่จอดรถ: ข้อตกลงไม่ขัด กม. และสิทธิการใช้ประโยชน์
แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า "กรรมสิทธิ์ในห้องชุดจะแบ่งแยกไม่ได้" แต่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลที่เป็นของตน และมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ส่วนกลาง" และ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดคำนิยามไว้ในมาตรา 4 "ทรัพย์ส่วนบุคคล" หมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย "ห้องชุด" หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล จากบทนิยามดังกล่าวและบทบัญญัติในมาตรา 12, 13 หาได้มีการกล่าวถึงการเป็นส่วนควบของห้องชุดไว้แต่อย่างใด การที่ที่จอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจะเป็นส่วนควบของห้องชุดหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยทรัพย์ ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนควบในมาตรา 144 ว่า "ส่วนควบของทรัพย์หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น" เมื่อพิจารณาสภาพของที่จอดรถของห้องชุดที่กำหนดไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ก็ระบุเพียงว่าเป็นรายการทรัพย์ส่วนบุคคลที่อยู่นอกห้องชุด ทั้งที่จอดรถสำหรับห้องชุดก็หาได้อยู่ติดกับห้องชุดไม่ โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถแยกไว้ต่างหากในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่จอดรถ ประกอบกับที่จอดรถนั้น แม้จะมีความสำคัญสำหรับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด ซึ่งต้องมีที่จอดรถสำหรับรถยนต์ของตนเอง แต่ที่จอดรถก็หาได้เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีคู่กับห้องชุดทุกห้องไม่ โดยลักษณะของห้องชุดที่ซื้อขายกันทั่วไปนั้น อาจจะมีที่จอดรถรวมอยู่หรือไม่ก็ได้ และอาจจะซื้อที่จอดรถเพิ่มได้สำหรับบางอาคารชุด ดังนั้นที่จอดรถตามสภาพแห่งทรัพย์และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นจึงไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของห้องชุดสามารถแยกออกจากกันได้ ที่จอดรถจึงเป็นเพียงทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของห้องชุด มิใช่ส่วนควบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของธนาคารจ่ายเช็คปลอม แม้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิด
กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ได้นำพฤติการณ์ที่โจทก์มีส่วนประมาทร่วมด้วยมาวินิจฉัยลดความรับผิดตามจำนวนเงินในเช็คปลอมให้จำเลยชดใช้ลงไปแล้ว ประเด็นข้อนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกา คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่อีก
รายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะลายมือชื่อแตกต่างกันกับที่ปรากฏในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อ การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คปลอมให้ อ. เบิกถอนเงินไปจากบัญชีของโจทก์ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานจำเลยด้วย ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็ค เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอม เป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3951/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงการรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย, การพิสูจน์ความเสียหาย, และการกำหนดดอกเบี้ยในคดีละเมิด
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงท้ากันโดยให้ถือเอาผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26580/2545 ของศาลอาญา เป็นผลแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ โดยในคำท้าไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลตาม ป.อ. มาตรา 198 ประกอบมาตรา 83 แม้ศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 และ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง ก็ตาม ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาก็ตรงตามคำท้าที่ตกลงกันตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ชัดเจนว่า หากศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ โดยไม่มีข้อความใดที่จะแปลได้เลยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องกระทำความผิดทุกข้อหา กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ: ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเมื่อมีข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223
การที่โจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "may" ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ - ดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย - ความสงบเรียบร้อย - ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ
แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังนั้น คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42
สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข "invoice back" ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ นั้น ปรากฏว่าเงินดังกล่าวเป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ อันเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท: การพิสูจน์ผู้ทรงเช็คโดยชอบ & ข้อตกลงไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน
เช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมีชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาททั้งสามฉบับไว้ในครอบครองจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามมาตรา 904 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบย่อมมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1
จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับมอบให้ ว. โดยมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการนำไปเรียกเก็บเงินโดยโจทก์ทราบและโจทก์เอาเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปจากตู้นิรภัยของ ว. แล้ว ลงวันที่และเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยจำเลยไม่ยินยอมและธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบอันมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5380/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตข้อตกลงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และการบังคับตามคำชี้ขาดที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาหลักที่เกิดขึ้นก่อนวันทำข้อตกลง และผู้ร้องไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับจากการที่ผู้คัดค้านไม่สามารถดำเนินการจ้างงวดที่ 7 ให้แล้วเสร็จ ทำให้ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดในค่าปรับ เป็นการตีความข้อตกลงที่มิได้เป็นการขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำวินิจฉัยชี้ขาดข้อนี้ของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5259-5260/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่า, ชู้สาว, ค่าทดแทน, สิทธิในการปกครองบุตร และการบังคับตามข้อตกลงประนีประนอม
ป.วิ.พ. ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้รับฟังแผ่นบันทึกเสียงที่แอบบันทึกไว้ ดังนั้น แผ่นบันทึกเสียงสนทนาระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 ที่ ช. จัดทำขึ้นโดยแอบบันทึกเสียงจำเลยที่ 1 ซึ่งยอมรับว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในทำนองชู้สาว โดย ช. มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลเอง ช. จึงเป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับการสนทนาดังกล่าว ศาลจึงรับฟังแผ่นบันทึกเสียงดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ไม่ต้องห้าม
ระยะเวลาการฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 เป็นสิทธิเฉพาะตัวระหว่างสามีภริยาคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเรียกค่าทดแทนไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 จะขาดจากการสมรสหรือไม่ ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 อ้างระยะเวลาดังกล่าวเพื่อไม่ต้องใช้ค่าทดแทนไม่
ปัญหาว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ ป.พ.พ. มาตรา 1518 บัญญัติว่า "สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่า ได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว" จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติการณ์อันเป็นการให้อภัยจำเลยที่ 1 ในเหตุหย่าตามฟ้องของโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ ในสำนวนจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันจะทำให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าว
of 118