คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คดีแพ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,220 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6549/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไม่กระทบสิทธิการฟ้องอาญา ยักยอกทรัพย์
การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแรงงานภาค 5 เป็นการฟ้องเนื่องจากจำเลยกับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยกับพวกจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ "ยอมความกัน" สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6146/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ การฟ้องแย้ง และการพิจารณาคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม
จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 2,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจำเลยกู้เงินเพียง 2,000,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราตามกฎหมายรวมเป็นเงินต้นด้วย จึงระบุต้นเงินในสัญญากู้ยืมเงิน 2,500,000 บาท เป็นการนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. 94 วรรคท้าย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้
เมื่อมีการยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลต้องตรวจว่าต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) หรือไม่ หากคำร้องสอดต้องด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายศาลก็จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมคือรับคำร้องสอดไว้พิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนการสั่งรับหรือไม่รับคำร้องสอดในเบื้องต้น ส่วนเมื่อรับคำร้องสอดไว้พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะรับฟังได้ตามที่อ้างในคำร้องสอดหรือไม่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาพิพากษาคดี และแม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาจะรับฟังไม่ได้ตามที่อ้างก็ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนการสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมหรือการสั่งรับคำร้องสอดไว้พิจารณาในตอนแรกกลับกลายเป็นการสั่งโดยไม่ชอบหรือผิดหลง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยจำนองที่ดินไว้เป็นประกัน จำเลยขอชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระและให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองแล้วแต่โจทก์ผิดนัดไม่ยอมรับชำระ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์รับชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระพร้อมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดอ้างว่า จำเลยร่วมเป็นเจ้าของที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้จำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีในอันที่จะให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นของจำเลยร่วมด้วย คำร้องสอดของจำเลยร่วมต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ชอบที่จะรับคำร้องสอดไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6026/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดทางรถยนต์: การพิจารณาอำนาจฟ้องและอายุความ 1 ปี
ในคดีอาญาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ร. ซึ่งนั่งมาในรถยนต์คันเดียวกันกับโจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 300, 390 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่ถูกจำเลยขับชนไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ส่วนข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43, 157 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนี้ โจทก์ที่ 2 เจ้าของรถยนต์คันที่ถูกชนจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาดังกล่าว และถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนของโจทก์ที่ 2 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับคดีอาญาตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง แต่ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ที่ 2 รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2546 อันเป็นวันทำละเมิด โจทก์สองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 ฉะนั้น นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ จึงล่วงพ้นกำหนด 1 ปี คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 578/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินลูกหนี้และดุลพินิจการเข้าว่าคดี
อำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ย่อมรวมทั้งอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินโดยการทวงหนี้ด้วย ทั้งการเข้าว่าคดีแพ่งที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลแทนจำเลยเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าว่าคดีแทนหรือไม่ เมื่อจำเลยมีข้อต่อสู้ว่าโจทก์ยังมีหนี้ค้างชำระแก่จำเลยซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ได้ดำเนินการทวงหนี้ที่โจทก์ค้างชำระตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 แล้ว และหากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังได้ยุติว่าโจทก์ไม่มีหนี้ค้างชำระ หรือมีหนี้ค้างชำระแต่โจทก์ได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ได้ตามความประสงค์ อันจะทำให้ข้อพิพาททั้งปวงระหว่างโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นไปในคราวเดียว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะไม่เข้าว่าคดีแทนจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การพิสูจน์การชำระค่าลิขสิทธิ์มีผลต่อการรับผิดทางแพ่ง
โจทก์ที่ 2 ให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์โดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ดูแล้ว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสติ๊กเกอร์การอนุญาตให้ใช้สิขสิทธิ์ที่ตู้คาราโอเกะและยืนยันให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ที่ 2 พร้อมกับยึดตู้คาราโอเกะพร้อมอุปกรณ์นั้นคงมีแต่คำให้การของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองเพียงปากเดียวคือตัวโจทก์ที่ 2 ทั้งที่มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมในครั้งนี้อีกหลายคนซึ่งถือเป็นคนกลางในคดีและไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดที่ร่วมรู้เห็นด้วย แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่นำพยานเหล่านั้นมาให้การหรือเบิกความสนับสนุนคำให้การของโจทก์ที่ 2 คำให้การของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวจึงมีน้ำหนักรับฟังน้อย นอกจากนี้ยังได้ความตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า โจทก์ที่ 2 ให้การับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ในบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเพิ่มเติมซึ่งโจทก์ที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมหลังเกิดเหตุถึง 4 เดือนเศษ ก็ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ได้ให้การว่าได้ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว พร้อมทั้งได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ตามที่ให้การในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด คำให้การในชั้นพิจารณาของโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือ ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 จะได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้ตามใบนำฝากเงินซึ่งเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจะปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 ก่อนเกิดเหตุได้มีการนำเงินจำนวน 870 บาท ฝากเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่ใบนำฝากเงินดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชื่อผู้นำฝากหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้นำฝากคือใคร กลับได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ อ. พยานจำเลยทั้งสามว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อขอหลักฐานใบเสร็จรับเงินการชำระค่าลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งชำระไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 จำเลยที่ 2 จึงจัดส่งใบเสร็จรับเงินและสติ๊กเกอร์ไปให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้นำหลักฐานที่ได้หลังเกิดเหตุไปต่อสู้ในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 ถูกฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ตามสำเนาคำพิพากษา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่า โจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามไม่ทราบเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนหน้านี้ ดังนี้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่มีต่อโจทก์ที่ 1 หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
คดีแพ่งที่จะถือว่าเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องเป็นคดีแพ่งที่มีมูลมาจากคดีอาญาซึ่งโดยปกติหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา โดยอาศัยกฎเกณฑ์ความรับผิดเป็นทำนองเดียวกัน ในคดีนี้จำเลยทั้งสามจะรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ อยู่ที่ว่าจำเลยที่ 3 ตัวการโดยจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตัวแทนปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่งคือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 1 หรือจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจผู้เข้าตรวจสอบจับกุมทราบในวันเกิดเหตุหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้ทราบว่าโจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วก่อนหรือหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ส่วนในคดีอาญา โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจะต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหรือไม่ ถือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นเกณฑ์ความผิดกล่าวคือ หากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แล้ว การเผยแพร่งานเพลงต่อสาธารณชนเพื่อการค้าก็ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามในทางแพ่งตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องในคดีนี้จึงไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยดังกล่าว คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงหาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาใช้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5270/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่ง: การฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาอาญาเมื่อไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคำพิพากษาคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ศาลเห็นได้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ ไว้แน่นอนแล้ว ดังนั้น ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินต้องปิดอากรแสตมป์ก่อนใช้เป็นหลักฐานในคดี หากไม่ปฏิบัติตาม สัญญาเป็นโมฆะ
หนังสือสัญญากู้เงินที่เป็นการรวมหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์หลายครั้งโดยผู้กู้และผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสัญญากู้ยืมเงิน เข้าลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร
การขออนุญาตนำตราสารไปปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 117 จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่ได้นำตราสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นจะชี้ขาดตัดสินคดี การที่โจทก์ขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงินในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ ศาลฎีกาไม่อนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 411/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: คดีครอบครองที่ดินที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณา
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท องค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยขออนุญาตนำรถแบ็กโฮเข้าไปขุดหน้าดินในที่ดินดังกล่าวเพื่อนำไปถมทางเกวียนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนสัญจรไปมา โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อจำเลยขุดหน้าดินแล้ว จำเลยยอมให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้เหมือนเดิม แต่เมื่อจำเลยได้ขุดหน้าดินเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยได้นำป้ายปักไว้ว่า ห้ามจับปลาในร่องน้ำ และห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับร่องน้ำ กับได้นำราษฎรเข้าไปจับปลาที่โจทก์เลี้ยงไว้ในร่องน้ำ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เพราะไม่สามารถทำนาในที่ดินส่วนที่จำเลยขุดหน้าดินไป ไม่สามารถใช้น้ำในร่องน้ำปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงปลาในร่องน้ำได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินส่วนที่จำเลยขุดเป็นร่องน้ำเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และเรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดผลประโยชน์ในการใช้ที่ดินที่จำเลยขุดเป็นร่องน้ำ แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่พฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้โต้แย้งว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณะ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง
ที่ดินพิพาทมีราคา 81,648 บาท ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลยเป็นเงิน 80,000 บาท เมื่อราคาที่ดินและค่าเสียหายรวมกันเป็นเงิน 161,648 บาท ไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 24 (4) ศาลจังหวัดสุรินทร์ชอบที่จะโอนคดีเรื่องนี้ไปให้ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย การที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี และให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4074/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฟอกเงิน: การดำเนินคดีแพ่ง, หน้าที่นำส่งสำเนาอุทธรณ์, และการสั่งค่าฤชาธรรมเนียม
การดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินซึ่งเป็นคดีแพ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 บังคับให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และจะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งสำเนาอุทธรณ์ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน แต่เมื่อถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ชอบ เพราะแม้ไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสภาพหนี้จากการเปรียบเทียบปรับในคดีอาญา ไม่ผูกพันคดีแพ่ง ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน
การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับและชำระค่าปรับแล้ว มีผลเพียงทำให้คดีอาญาดังกล่าวเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 เท่านั้น การเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญา กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่คดีในส่วนแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถือเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทมาชี้ขาดตัดสินคดีนี้เป็นการไม่ชอบ
of 122