คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตัวแทน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,182 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิด: การกระทำของส่วนราชการย่อมเป็นตัวแทนของกระทรวง
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นนิติบุคคลเป็นส่วนราชการซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงศึกษาธิการจำเลยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของจำเลย ดังนั้น การกระทำของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติก็เสมือนเป็นตัวแทนของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในการกระทำละเมิดของครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ โดยไม่จำต้องเรียกสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมาเป็นจำเลยร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางและการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการยึดทรัพย์ คดีผู้บริโภค
การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ต่อโจทก์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 แต่เมื่อคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าการมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และสัญญาจำนอง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาตัวแทนชำระเงินแทนกัน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลบังคับใช้
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. แทนจำเลยที่ 1 เพื่อที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะได้เข้าทำสัญญาบริหารงานร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์กับบริษัท ซ. และจำเลยที่ 1 จะได้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โจทก์ทั้งสองจึงเป็นตัวแทนในการชำระเงินของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. และจำเลยทั้งสองคืนเงินบางส่วนแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมเรียกเงินที่ชำระไปแทนในส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาตัวแทนได้ แม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนซื้อขายผลลำไย: สิทธิของตัวการที่มิได้เปิดเผยชื่อ และอายุความการเรียกร้องค่าเสียหาย
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยโดยมี น. เป็นตัวแทนออกหน้าทำสัญญากับจำเลย โจทก์ในฐานะตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อย่อมมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่ง น. ตัวแทนได้ทำไว้แทนตนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเมื่อโจทก์เป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ การตั้ง น. เป็นตัวแทนย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคสอง โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่สามารถส่งผลผลิตลำไยให้โจทก์ได้เพราะลำไยไม่มีคุณภาพและเรียกเงินมัดจำที่โจทก์ได้ให้ไว้คืน อันเป็นกรณีกล่าวอ้างว่า จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ต้องคืนเงินมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำค่าสินค้าหรือเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยเพื่อชำระเป็นค่าสินค้าบางส่วนคืน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทรัพย์สินโดยมิใช่ตัวแทน ยักยอกทรัพย์หรือไม่ และการบังคับชำระหนี้ในคดีอาญา
โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปขาย โดยโจทก์ร่วมกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับโจทก์ร่วมยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากจำเลย ตามพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะได้รับเงินที่ได้จากการขายทับทิมคืนเท่านั้น การที่จำเลยไม่ส่งมอบคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 คดียักยอกถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมด้วยแล้ว แม้จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานยักยอก แต่เมื่อจำเลยรับว่าต้องคืนเงิน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสิทธิการเป็นตัวแทนเมื่อตัวการเสียชีวิต และผลกระทบต่อการดำเนินคดี
การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ ผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และถือว่าล่วงเลยเวลาที่ทนายผู้ร้องจะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่ผู้ร้องมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องอีกต่อไป การที่ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3929/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อผิดพลาดในการพิมพ์คำพิพากษาและการแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีตัวแทน
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแรกที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 จากนั้นได้วินิจฉัยในประเด็นที่สองว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระและต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ เพียงแต่คำพิพากษาระบุในคำวินิจฉัยในประเด็นที่สองต่อไปว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว จากนั้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด และยกฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยในคำพิพากษาตามประเด็นข้อพิพาทข้อที่หนึ่งและข้อที่สอง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อเนื่องมีเหตุผลชัดแจ้งและสรุปรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงินที่ค้างชำระกับต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ การที่คำพิพากษาได้พิมพ์ระบุจำเลยที่ 1 และที่ 2 สลับกันในตอนหลังและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยตอนต้น เชื่อว่าเกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์คำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นทราบและขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ได้พิพากษาเห็นสมควรย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดดังกล่าวได้ โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบเพื่อคัดค้านไม่ ทั้งการแก้ไขดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาในข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ทราบ หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการประมาทเลินเล่อของตัวการและตัวแทนในการขายทอดตลาด การร่วมรับผิดในค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724-5725/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทน: การรับผิดจากความประมาทเลินเล่อและการปลอมแปลงเอกสาร
การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ ด้วยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อลูกค้าและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นการร่วมกันทำผิดหน้าที่ของหุ้นส่วนและตัวแทน เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา แม้ความรับผิดในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่ความรับผิดตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยทั้งสองผิดสัญญาระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 นับถึงวันฟ้องทั้งสองสำนวนวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และ 19 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และได้ทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์แบบอัตโนมัติ โดยแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที ต่อมาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 แบ่งรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 2 เป็นรายนาทีเช่นกัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของผู้ใช้บริการ หากจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการจนโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการได้ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ใช้บริการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของจำเลยทั้งสองยังถือได้ว่าร่วมกันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผ่านชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วน กับขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาตัวแทน แต่เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทนโดยปริยาย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไว้ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่โจทก์ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนและตัวแทน ศาลก็มีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายให้ตรงกับคำบรรยายฟ้อง เนื้อหาของข้อตกลง และสัญญาดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นผลโดยตรงทำให้โจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับผู้ใช้บริการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 812 จำเลยที่ 1 คู่สัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการจัดหางานและการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) โดยบริษัทตัวแทน
ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้... (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน" โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน โดยติดต่อประสาน เป็นตัวแทนรับค่าจ้างมาจ่ายให้กับคนงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และดูแลผลประโยชน์คนงานกับผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์ไม่มีหน้าที่เป็นลูกจ้างที่ใช้แรงงานทำงานให้ผู้ว่าจ้างและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง การให้บริการดังกล่าวของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฐ)
of 119