คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข้อตกลง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2825/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแข่งขันทางการค้าโดยผู้ถือหุ้น, การริบหุ้นเป็นค่าเสียหาย, และความชอบธรรมของข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น
จำเลยเปิดบริษัท ท. ประกอบกิจการอันเป็นการค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์ อันเป็นข้อห้ามที่ระบุในกฎผู้ถือหุ้น การที่จำเลยถูกริบหุ้นนำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กฎผู้ถือหุ้น ข้อ 6. ระบุถึงผลแห่งการที่ผู้ถือหุ้นทำการก่อตั้งบริษัทซึ่งกระทำธุรกิจประเภทเดียวกันกับบริษัทซึ่งส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหายว่า ผู้ถือหุ้นดังกล่าวยินยอมให้ริบหุ้นส่วนทั้งหมดที่ครอบครองอยู่และยินยอมชดใช้ค่าปรับอีกหนึ่งร้อยเท่าของความเสียหายที่ประเมินได้ และหรือความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้ซึ่งความเสียหายประเภทนี้จะใช้การคาดการณ์ความเสียหายเป็นมูลค่าแทน ข้อตกลงเช่นนี้เป็นการกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้นเหตุหมดสิทธิจากบริษัทอันเป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเมื่อผู้ถือหุ้นนั้นล่วงละเมิดข้อตกลงในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันที่จะไม่กระทำการค้าขายแข่งขันกับบริษัท ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดจากความสมัครใจและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะ สามารถใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน-เจตนาสละสิทธิ-การบังคับคดีไม่ชอบ
การทำหนังสือสัญญาธุรกิจระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. และการทำคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวพันและเป็นลำดับสืบเนื่องกันมา ถือได้ว่า อ. เป็นตัวแทนของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จึงมีผลผูกพันโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ไว้ในหนังสือสัญญาธุรกิจ และโจทก์ยื่นคำร้องโดยระบุข้อความว่า ขอถอนฟ้อง ประกอบกับโจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการโดยมิได้ออกเงินลงทุนเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้คดียุติลงอย่างแท้จริง โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกัน และโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาธุรกิจและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จึงเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีที่โจทก์ยอมรับในศาลแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยแปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาธุรกิจครบถ้วนแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ย่อมระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยยึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ หมายบังคับคดีและการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นดำเนินการจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2598/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงผ่อนชำระหนี้กับการดำเนินคดีอาญา: การผ่อนชำระหนี้ไม่ถือเป็นการยอมความ
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น คู่ความตกลงกันได้ โดยจำเลยตกลงชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน โจทก์ร่วมจึงจะถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นจึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราวและนัดพร้อมเพื่อฟังผลการชำระหนี้หรือนัดฟังคำพิพากษาตามคำแถลงของคู่ความเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อถึงกำหนดนัด จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมบางส่วน และประสงค์จะชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมอีก แต่จำเลยไม่สามารถชำระเงินแก่โจทก์ร่วมตามที่ตกลงกันและขอเลื่อนนัดไปอีกหลายนัด จำเลยยังคงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน โจทก์ร่วมจึงแถลงขอให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ร่วมชัดเจนว่า ตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วน โจทก์ร่วมก็ยังติดใจที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยอยู่เช่นเดิม ดังนี้ ข้อตกลงที่โจทก์ร่วมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการยอมความอันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องต้องระงับสิ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการไม่ดำเนินการตามข้อตกลงยกเว้นการบังคับคดี - ความรับผิดทางแพ่ง - ค่าเสียหาย - ค่าฤชาธรรมเนียม
การที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้กันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายกล่าวคือ โจทก์ได้รับการผ่อนเวลาชำระหนี้และไม่ต้องกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ส่วนจำเลยก็มีทางได้รับชำระหนี้โดยไม่จำต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยงดการบังคับแก่โจทก์ไว้ก่อนนั่นเอง จำเลยจึงต้องดำเนินการงดการบังคับคดี และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีสำหรับกรณีที่พิพาทนี้ได้ ย่อมต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (3) กล่าวคือ จำเลยต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไว้ โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้งดการขายทอดตลาดมอบไว้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไป เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะไปดูแลการขายทอดตลาดหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (1) การที่โจทก์ไม่ไปดูแลการขายทอดตลาดหาได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย หรือจะถือว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหาย อันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิด เมื่อการทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยต้องถูกขายทอดตลาดไปจำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวรวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง
เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มีภาระจำนองกับธนาคาร อ. และถูกขายทอดตลาดโดยจำนองติดไปย่อมเป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นภาระหนี้ไปตามจำนวนดังกล่าวและต้องนำมาคิดหักจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันทำละเมิด
ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่ว่านี้หมายถึง การกระทำเกี่ยวกับสินค้าที่ขายหรือผลิต หรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดผลหรือมีลักษณะตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันด้วยข้อพิพาทที่เกิดจากสินค้าที่ขาย หรือผลิต หรือการให้บริการ อันเป็นการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนั้นเอง แต่การกระทำที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ยึดไว้ตามที่โจทก์กับจำเลยตกลงกัน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไป ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากตัวสินค้าและบริการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4252/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ: สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลแม้มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ
แม้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงกันร่วมกันให้ใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 23 วรรคหนึ่ง อันถือเป็นกรณีที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องผูกพันกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับดังกล่าวก็ตาม แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนต้น หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยคำคัดค้านของอนุญาโตตุลาการโดยวิธีการตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการข้างต้น หรือเป็นกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง หากการคัดค้านไม่บรรลุผล คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านย่อมสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ และข้อบังคับข้อ 23 หมายความเพียงว่า เป็นที่สุดสำหรับกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่การตัดสิทธิคู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านมิให้สิทธิทางศาลตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5163/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงภาระจำยอมทางเข้าออกแม้ไม่มีการจดทะเบียน แต่มีเจตนาและพฤติการณ์สนับสนุน ย่อมมีผลผูกพัน
ผ. และ ม. เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1625 ได้ยกทางพิพาทให้ทายาทซึ่งเป็นบุตรทั้งแปดคนใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ก่อนปี 2534 กับทั้งแบ่งที่ดินให้ทายาทครอบครองและสร้างบ้านพักอาศัย เมื่อ ผ. และ ม. ถึงแก่ความตาย ทายาทก็ได้รับโอนมรดกที่ดินมาครอบครองเป็นของตน โดยยังคงใช้ทางพิพาทในการเข้าออกที่ดินตลอดมา ต่อมาทายาทแบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดรวม 9 แปลง โดยมีการรังวัดทางพิพาทซึ่งเป็นทางเข้าออกเดิมไว้ชัดเจน ทายาททั้งแปดซึ่งรวมถึงโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ก็ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำกรณีประสงค์ขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิม หลังจากนั้นทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดจากเดิมที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน โดยทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาก็ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ขอรังวัดสอบเขต และขอแบ่งทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งทายาทเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ไม่ได้ปฏิเสธไม่รับรู้ว่าไม่มีทางพิพาท มีเพียงจำเลยที่ 4 ที่โต้แย้งเฉพาะเรื่องแนวเขตทางพิพาทเท่านั้น ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องขอให้รอการรังวัดแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ไว้ก่อน การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้ทางพิพาทในที่ดินของตน จึงไม่ได้เป็นการใช้ในลักษณะทางภาระจำยอม การใช้ทางพิพาทของทายาทอื่นในลักษณะภาระจำยอมโดยอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่มีการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ นับถึงวันฟ้อง ทางพิพาทจึงไม่ได้ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพื่อประโยชน์สำหรับทายาทที่ครอบครองที่ดินที่ ผ. และ ม. ยกไว้ให้ก่อนที่ทายาทจะได้รับโอนมรดกมาเป็นของตน จนกระทั่งมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็น 9 แปลง ก็ได้มีการแบ่งแนวเขตทางพิพาทไว้ชัดเจน การที่ทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างกันโดยมีการระบุทางพิพาทมาตั้งแต่ต้นย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอื่นตามที่มีการแบ่งแยกไว้ ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินและทางพิพาทต่อมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง จึงมีภาระที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยทบต้นจากข้อตกลงในสัญญากู้ยืม และการลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน
ตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 4 ระบุว่า "หากผู้กู้ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนึ่งปี ผู้กู้ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระ มารวมกับเงินต้นเดิมเป็นเงินต้นใหม่ และให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นใหม่นี้ โดยจะคิดทบไปทุกปี จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา" จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ทั้งข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (9) ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วก็ตาม จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับลง โดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงทบดอกเบี้ยเข้าต้นเงิน: ชอบด้วยกฎหมายหากไม่ใช่เบี้ยปรับสูงเกินไป
การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียวนั้นชอบแล้ว
of 118