คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตัวแทน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,182 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีความผิดเกี่ยวกับบริษัทจำกัด: ผู้ถือหุ้นตัวแทนไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวแทนของ ข. โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ดำเนินการทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยไม่ปรากฏชื่อโจทก์อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การรับรู้ความผิดของนิติบุคคลต้องผ่านตัวแทนที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย
แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกในฐานะตัวแทน – หนี้ค่านายหน้าจากการขายทรัพย์มรดก
ป.พ.พ. บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 1 การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก มาตรา 1600 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้" และมาตรา 1601 บัญญัติว่า "ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน" ส่วนลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก มาตรา 1711 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล" มาตรา 1719 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก" มาตรา 1721 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรม หรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้" มาตรา 1722 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล" มาตรา 1723 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก" และมาตรา 1724 บัญญัติว่า "ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย" ย่อมเห็นได้ว่าในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตาย กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วย เพียงแต่ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับวิธีจัดการมรดก กฎหมายกำหนดให้มีบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จัดการมรดกเป็นผู้รวบรวมทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายเพื่อสะสางหนี้สินและแบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตายให้แก่ทายาทต่อไปจนเสร็จเรียบร้อย โดยระบุว่าผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ ตลอดทั้งความรับผิดอย่างใดบ้าง ดังนั้น หนี้ที่เกิดจากการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นได้โดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งหากผู้จัดการมรดกกระทำภายในขอบอำนาจ หรือทายาทยินยอม หนี้นั้นย่อมผูกพันทายาทหรือกองมรดก มิใช่ว่าหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วจะเกิดขึ้นไม่ได้และไม่ผูกพันกองมรดกแต่อย่างใดไม่ แต่หากผู้จัดการมรดกกระทำเกินขอบอำนาจและทายาทไม่ยินยอมแล้ว หนี้นั้นย่อมไม่ผูกพันทายาทหรือกองมรดกแต่อย่างใด โดยผู้จัดการมรดกต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวต่อไป เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยทั้งสอง ส. และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของ พ. และ น. ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินทรัพย์มรดก และกองมรดกตกลงจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่านายหน้าจากจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 ประกอบมาตรา 1724 กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4404/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนทางปริยาย, สัญญาประกันภัย, ละเมิด: การกรอกข้อมูลไม่ตรงจริงทำให้ประกันภัยเป็นโมฆะ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดทางละเมิด
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในคำขอเอาประกันภัยว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เชนติเมตร น้ำหนัก 85 กิโลกรัม ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาน้ำหนักลดลง 2 กิโลกรัม เนื่องจากออกกำลังกาย และในระหว่าง 3 ปีที่แล้วมา โจทก์เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัวโดยโจทก์เคยตรวจประจำของบริษัทที่โจทก์เป็นพนักงาน โจทก์เคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผลชิ้นเนื้อปกติ แต่จำเลยที่ 2 กรอกข้อความในแบบพิมพ์คำขอเอาประกันชีวิตไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง เป็นว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 65 กิโลเมตร ในระหว่าง 3 ปีที่แล้ว โจทก์ไม่เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัว และไม่มีข้อความว่า โจทก์ผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และข้อเท็จจริงได้ความเพิ่มเติมจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านว่า ขั้นตอนการขอทำประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 นั้น ลูกค้าจะต้องกรอกแบบคำขอทำประกันชีวิต โดยจะแจ้งให้ตัวแทนกรอกให้หรือจะกรอกเองก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนขายประกันของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2552 ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกค้าจำเลยที่ 1 ในเรื่องส่วนสูง น้ำหนัก ความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักภายในรอบ 6 เดือน สาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลการตรวจโลหิต ความดันโลหิต ปัสสาวะ เอกซเรย์ หัวใจ หรือตรวจอย่างอื่น ที่ปรากฎในแบบฟอร์มคำขอเอาประกันภัยของจำเลยที่ 1 แล้วกรอกข้อมูลลงในคำขอเอาประกันชีวิตแทนโจทก์ส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้าอีก และถือเอาข้อมูลที่จำเลยที่ 2 กรอกลงในคำขอเอาประกันชีวิตเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของตนตามความเป็นจริง แต่จำเลยที่ 2 กลับกรอกข้อมูลไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง และส่งไปให้จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีทางทราบได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรับประกันชีวิตแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 สอบถามรายละเอียดของข้อมูลสุขภาพของลูกค้าและถือเอาข้อมูลดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ในการสอบถามข้อมูลสุขภาพดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้
แม้คำฟ้องของโจทก์ระบุด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ โดยร่วมกันทำคำขอเอาประกันภัยของโจทก์ไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง แต่สภาพแห่งข้อหาเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาประกันภัยด้วยการปฏิเสธจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สาระสำคัญของคำฟ้องเป็นเรื่องการผิดสัญญาโดยตรง ทั้งในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อวัสดุก่อสร้างโดยจำเลยในฐานะตัวแทนของโจทก์ และการชำระหนี้ค่าวัสดุที่จำเลยต้องรับผิด
สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารโภชนาการกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามฟ้องเพื่อติดตั้งในอาคารโภชนาการ และเป็นผู้ชำระราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้ขาย แต่เป็นการทดรองจ่ายแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างที่จำเลยจัดซื้อมาจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนคงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวการจ่ายเงินทดรองคืนให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนและผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต่อความเสียหายจากการทุจริตของลูกจ้าง
แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาแต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งในมูลผิดสัญญาตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 12 กันยายน 2555 และจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องในมูลผิดสัญญาตัวแทนนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และ ฝ. นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และ ฝ. รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่ ฝ. เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 และ ฝ. มิใช่การรับผิดร่วมกัน แต่เป็นความรับผิดของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ตนเป็นผู้จัดการของโจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 เพียงใด ก็ต้องนำมาหักชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกับผู้กระทำโดยเจตนา vs. ตัวแทนโดยบริสุทธิ์: การพิสูจน์เจตนาและความรู้ในการกระทำความผิด
การกระทำอันจะถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้นั้น บุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และมีการกระทำโดยเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น จึงจะเป็นตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม เมื่อพวกของจำเลยที่ขับรถแบ็กโฮเข้าขุดดินในที่ดินของผู้เสียหาย มิได้รู้เท็จจริงว่าดินที่ขุดออกไปเป็นของผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นการขุดดินของจำเลย ก็ย่อมจะถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความเองโดยอ้อมโดยใช้พวกของจำเลยเป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของจำเลยเอง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่ได้ความกระจ่างชัดว่าพวกของจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดและมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอันจะถือเป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทน: สัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้รับมอบอำนาจ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ซื้อขายสินค้า จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจระบุ ป. เป็นผู้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้น ป. กับโจทก์ร่วมกันแถลงว่าคดีมีแนวทางที่จะตกลงกันได้ประสงค์จะทำยอม ขอเลื่อนไปทำยอมในนัดหน้า ต่อมาจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจระบุให้ ป. เป็นผู้มีอำนาจในการไกล่เกลี่ย เลื่อนนัด จัดการทุกอย่างจนเสร็จสิ้นกระบวนการศาล นั้น ป. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจเฉพาะการ มีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในสิ่งที่จำเป็นแทนจำเลยภายในขอบอำนาจที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับข้างต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 800 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าให้ ป. มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งข้อความที่ระบุว่าให้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้นก็ไม่อาจตีความว่ารวมถึงให้มีอำนาจในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยได้ ฉะนั้นการที่ ป. แถลงต่อศาลว่าประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จึงเป็นกรณีตัวแทนกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับสัญญากู้ยืมเงินและขอบเขตความรับผิดของตัวการ-ตัวแทน
จำเลยที่ 1 ผิดนัดภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผิดนัด เนื่องจากไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว ทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ชำระหนี้ ไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาหกสิบวันหรือพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันอันต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้มอบอำนาจดังกล่าวไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนำสืบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอีกว่าถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีโดยชอบแล้ว
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การยอมรับว่าลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินจริง เพียงแต่อ้างว่าไม่มีมูลหนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวกันจริงหรือไม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมายและผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะตัวการ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ กรณีจึงไม่จำต้องใช้สัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐานและไม่ต้องพิจารณาปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่า สัญญากู้ยืมเงิน ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์จะรับฟังได้หรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยตัวแทนที่ไม่เปิดเผยชื่อ สิทธิของบุคคลภายนอกผู้สุจริต และการคืนค่าขึ้นศาล
โจทก์ทั้งสองฟ้องอ้างว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของ พ. มารดาโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ ม. ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้ พ. ซึ่งตกทอดแก่บุตรของ พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมรวม 6 คน และโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับโอนมาจาก ม. เป็นเวลานานกว่า 10 ปี และจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันหนี้ของ ส. ภริยาจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 วงเงินจำนวน 150,000 บาท และต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองและได้จดทะเบียนจำนองใหม่อีกครั้งในวันเดียวกันในวงเงินจำนอง 620,000 บาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนของตนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ขวนขวายได้สิทธิมาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสองนั้นได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ทั้งสองจะอ้างบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองอันมีผลเป็นการบังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
of 119