คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โมฆะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,314 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องให้การหย่าเป็นโมฆะเพื่อหวังผลประโยชน์จากบำเหน็จตกทอด
บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ระบุไว้ชัดเจนว่าคู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน โดยตอนท้ายบันทึกยังระบุอีกว่า บันทึกไว้เป็นหลักฐานและอ่านให้ฟังแล้วรับว่าเป็นความจริงทุกประการ จึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของ ท. โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินกระทบต่อฐานะ ตำแหน่ง และความก้าวหน้าในทางราชการของ ท. ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของ ท. คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น อันแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าคำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7724/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการแข่งขันหลังพ้นสภาพการจ้างงาน: สัญญาไม่เป็นโมฆะ หากจำกัดเฉพาะเจาะจงและมีระยะเวลา
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะไม่ไปประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ หรือมีส่วนร่วมส่งเสริมหรือสนับสนุนบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน ไม่ได้ห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาด โดยยังสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในด้านอื่นที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงได้ ทั้งข้อห้ามดังกล่าวก็มีผลเพียง 3 ปีเท่านั้น จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ และเป็นธรรมแก่คู่กรณีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินปฏิรูปที่ดินตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น พินัยกรรมให้ทายาทโดยพินัยกรรมเป็นโมฆะ
เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5625/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายสลากเกินราคาเป็นโมฆะ แต่สิทธิเรียกร้องในส่วนที่ไม่เกินราคายังคงมีอยู่
การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติข้อห้ามและกำหนดโทษแก่ผู้ที่เสนอขายหรือขายสลากเกินราคาที่กำหนดในสลากไว้ถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 9 ทวิ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ตรี ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39 ให้ระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท จำเลยทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับโจทก์ โดยโจทก์ตกลงขายสลากให้แก่จำเลยในราคาฉบับละ 90 บาท หรือส่วนละ 45 บาท แต่ราคาในสลากระบุไว้เพียงฉบับละ 80 บาท หรือส่วนละ 40 บาท สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเกินราคาดังกล่าว จึงเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้น และตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้การสมัครใจซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาสูงกว่าที่กำหนดในสลาก เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามมิให้ขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยมีการขายเกินราคากันอย่างแพร่หลายก็ตาม หาเป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาเป็นการอันไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่
สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมส่วนที่ขายตามราคาที่กำหนดไว้ในสลากซึ่งไม่เป็นโมฆะอยู่ด้วยและสามารถแยกแยะจำนวนเงินของส่วนที่ขายเกินราคาออกได้แน่ชัด พฤติการณ์แห่งกรณีที่จำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนมากไปจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายในทางการค้า ย่อมมีส่วนที่จำเลยได้รับประโยชน์จากการขายเกินราคาในสลากดังกล่าว อันพึงสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสลากในส่วนที่ไม่เกินราคาจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3115/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัตรเครดิต: การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทำให้สัญญาส่วนนั้นเป็นโมฆะ และจำเลยไม่ต้องรับผิด
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่โจทก์นำสืบ 2 ฉบับ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (1) และข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ได้ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศข้อ 4.4 (4) ว่า การให้บริการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนนั้น และ (5) ว่า ภายใต้ (4) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระหรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ แต่ดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมและค่าบริการนั้น เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใด ๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต ใบบันทึกยอดหนี้ และคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์อนุมัติวงเงินตามสัญญาบัตรเครดิต 55,000 บาท นั้น คิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตั้งแต่ 25,000 บาท ขึ้นไป คิดอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างชำระอัตราร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินเข้าด้วยกันแล้วเกินกว่าอัตราร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ทั้งสองฉบับดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ ก็เท่ากับสัญญาบัตรเครดิตมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด เมื่อปรากฏตามใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตและใบบันทึกรายการยอดหนี้ว่า จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 183,455 บาท สูงกว่าจำนวนเงินต้นที่จำเลยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโจทก์เพียง 130,953.74 บาท จึงถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19798/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ระหว่างฟื้นฟูกิจการต้องเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ล้มละลาย หากขัดแย้งเป็นโมฆะ
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ได้กำหนดข้อจำกัดในการดำเนินกิจการของลูกหนี้หลายประการเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยการห้ามลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และการทำนิติกรรมใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัตินี้ การนั้นเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 วรรคท้าย ข้อจำกัดดังกล่าวย่อมใช้บังคับกับผู้ทำแผนโดยอนุโลม ตามมาตรา 90/25 และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้ทราบคำสั่งศาล ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ข้อจำกัดดังกล่าวย่อมใช้บังคับแก่ผู้บริหารแผนด้วย แต่เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารแผนของลูกหนี้นั้น ผู้บริหารแผนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ตามมาตรา 90/67 และในกรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้ในแผน ผู้บริหารแผนย่อมถูกจำกัด เมื่อปรากฏว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการขายไปเป็นทรัพย์ที่มีความจำเป็นที่ลูกหนี้จะนำมาพัฒนาและทำกำไรในการฟื้นฟูกิจการ และในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนสามารถขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้น การที่ผู้บริหารแผนนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่จำนองระงับแล้วไปขายต่อให้แก่บุคคลภายนอก จึงมิใช่การกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อได้ตามแผน นิติกรรมการขายดังกล่าวต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ประกอบมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง จึงตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 90/12 วรรคท้าย ส่วนการขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางในกรณีที่นิติกรรมใด ๆ ตกอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 90/12 (9) จะต้องเป็นการขออนุญาตก่อนการทำนิติกรรม เพราะหากดำเนินการไปแล้วนิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ศาลไม่อาจอนุญาตได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17923/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินโดยคนต่างด้าวหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดิน: โมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้สัญญาหมาย จ.1 จะระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาเช่า แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของเนื้อหา หาใช่เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองประสงค์จะครอบครองที่ดินเพื่อใช้หรือได้รับประโยชน์ในที่ดินชั่วระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ และโจทก์ทั้งสองได้ให้เงินแก่จำเลยเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 โดยแท้จริงไม่ แต่จุดประสงค์แห่งสัญญามุ่งเน้นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินจากจำเลยเพื่อก่อสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 อันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เจตนาที่จะเช่าทรัพย์กันแต่อย่างใด สัญญาหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาเช่า
โจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นคนต่างด้าว การซื้อที่ดินเพื่อให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนโจทก์ทั้งสอง มีลักษณะให้นิติบุคคลถือสิทธิในที่ดินแต่เพียงในนามเท่านั้น แท้จริงแล้วโจทก์ทั้งสองยังคงเป็นผู้ครอบครองที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ข้อยกเว้นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สัญญาซื้อขายจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14863/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างที่เลือกปฏิบัติต่อเพศขัดต่อกฎหมาย และโมฆะ
เดิมผู้ร้องกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่ออายุ 55 ปี พนักงานหญิงเมื่ออายุ 45 ปี ต่อมาสหภาพแรงงานทอผ้า ม. ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในกิจการของผู้ร้องและผู้ร้องต่างแจ้งข้อเรียกร้อง จนมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุ 47 ปี แม้การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จะเกิดขึ้นจากเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำกันขึ้นนั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานทอผ้า ม. เข้าร่วมเจรจาและทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในส่วนที่กำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 47 ปี แตกต่างจากกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยไม่ปรากฏว่าลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกัน จึงเป็นการปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 15 ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ผู้ร้องจึงต้องให้ผู้คัดค้านเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี เท่าเทียมกับลูกจ้างชาย กรณีจึงไม่มีเหตุอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการเกษียณอายุได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13806/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตัดสิทธิลูกจ้างกรณีลาไปทำงานกับคู่แข่งเป็นโมฆะ
ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยซึ่งจดทะเบียนแล้วที่กำหนดว่าจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์กรณีลูกจ้างลาออกจากงานเพื่อไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจนั้น มีลักษณะเป็นไปเพื่อคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยร่วมซึ่งเป็นนายจ้างแต่ฝ่ายเดียว และเป็นการห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจหลังจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีต่อกัน ทั้งเป็นการตัดสิทธิลูกจ้างไม่ให้ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำการที่ไม่ชอบไม่ถูกต้องไม่ควรในขณะที่เป็นลูกจ้าง จึงเป็นข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันและสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าว และเป็นการตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 (8) ถือว่าข้อบังคับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13598/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯ ทำให้ผู้ซื้อไม่มีอำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 ใช้บังคับ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน..." เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินพิพาทให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2536 การทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 จึงอยู่ในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือแม้สัญญาซื้อขายนี้จะเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมอบที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้ ต่างก็เป็นนิติกรรมที่เป็นการจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจมีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ที่ดินดังกล่าวยังคงอยู่ในการจัดการดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3
of 132