พบผลลัพธ์ทั้งหมด 115 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7379/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่: การแก้ไขคำให้การของจำเลยร่วมและการขัดแย้งของคำให้การ
จำเลยร่วมให้การในชั้นแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทาน จำเลยที่ 2 มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการขับรถและมิได้เป็นตัวการตัวแทนกับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาจำเลยร่วมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยขอเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-2541 สิงห์บุรี โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วยจนไปเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด กล่าวคือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งช่างก่อสร้างชั้น 3 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ขับรถยนต์ของจำเลยร่วมได้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งหมายความว่า มีหน้าที่ขับรถเฉพาะรถยนต์ของจำเลยร่วมเท่านั้น แต่ในวันเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 กลับไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุที่ไม่ใช่รถยนต์ของจำเลยร่วม โดยไม่ได้ขออนุญาตเดินทางไปราชการและไม่ได้ขออนุมัติการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุ ประกอบกับวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการและมีบุคคลอื่นคือนาง ป. ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมนั่งไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งพนักงานส่งน้ำ แต่ไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยร่วมประสงค์จะให้การยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่และใช้ข้อความนี้แทนข้อความเดิมที่ว่า จำเลยที่ 2 นั่งในรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่เปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทานนั่นเอง เพียงแต่มิได้ระบุว่าขอตัดข้อความตามคำให้การเดิมและขอใช้ข้อความใหม่ตามที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแทน กับมีข้อความตอนท้ายที่ระบุขอถือตามคำให้การเดิมทุกประการ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นการผิดหลงหรือสับสนเท่านั้น ไม่ควรนำมาเป็นเหตุให้ถือว่าคำให้การของจำเลยร่วมดังกล่าวมานั้นขัดแย้งกันเพราะขัดต่อเหตุผลตามปกติธรรมดา แต่ควรถือเอาข้อความที่มีเหตุผลสื่อให้เข้าใจได้ตามความตั้งใจที่แท้จริงที่แสดงจนไม่ปรากฏให้เห็นได้ว่ามีเจตนาหรือตั้งใจยืนยันให้การในข้อเท็จจริงใดยิ่งกว่า จึงถือไม่ได้ว่าคำให้การจำเลยร่วมขัดแย้งกันจนไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาฎีกา ศาลมีอำนาจสั่งให้ถอนการบังคับคดี
การบังคับคดีย่อมอาศัยคำพิพากษาเป็นหลัก และการแปลคำพิพากษาต้องพิเคราะห์เกี่ยวกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ จำเลยไม่อาจขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายได้ จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทพร้อมยึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด ก็เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาบังคับไปตามฟ้องแย้งจำเลย เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยเท่ากับคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดี และเมื่อศาลยังไม่ส่งคำสั่งถอนการบังคับคดีให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) โจทก์ผู้ถูกบังคับย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อให้ส่งคำสั่งดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นการส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการถอนการบังคับคดีโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลคดีแพ่ง-อาญาขัดแย้งกัน: ศาลต้องใช้ข้อเท็จจริงจากคดีอาญาที่ถึงที่สุดในการตัดสินคดีแพ่ง
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกัน ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีขัดแย้งกับคดีฟอกเงิน: ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไม่อาจบังคับคดีได้
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นมาตรการทางกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและเป็นมาตรการทางแพ่งในการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แม้มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การดำเนินการตามหมวด 6 ให้นำ ป.วิ.พ. มาบังคับใช้โดยอนุโลม แต่ต้องเป็นกรณีที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และนำมาปรับใช้ได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติวิธีการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไปมาปรับใช้กับการคุ้มครองชั่วคราวในคดีฟอกเงินได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องในขณะที่ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นก่อนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ต้องส่งเงินตามสิทธิเรียกร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี และยังปรากฏว่าต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินเป็นต้นไป โจทก์ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดี ไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 หากโจทก์เห็นว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยโดยเป็นเจ้าของ ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินดังกล่าวตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการเป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญไม่อาจดำเนินการบังคับคดีในคดีนี้เพื่อให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีฟอกเงินดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2050/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น และในสถานการณ์นี้จะสั่งให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและ อ. ซึ่งเป็นผู้รับโอน และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้าน อันเป็นคําชี้ขาดที่มีผลบังคับให้ผู้คัดค้านชําระหนี้ตอบแทนโดยเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. กลับมาเป็นของผู้คัดค้านแล้วโอนให้แก่ฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งการจะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. ได้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านกับ อ. เป็นคู่พิพาทหรือคู่ความในคดีจึงจะบังคับได้ เมื่อ อ. เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคําชี้ขาดในกรณีนี้จึงไม่อาจบังคับกับ อ. บุคคลนอกคดีได้ การยอมรับหรือการบังคับตามคําชี้ขาดในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การที่อนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และ ที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น ทั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งโดยขอเพียงให้ผู้ร้องทั้งสามชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ผู้คัดค้านเป็นคําชี้ขาดที่เกินคําขอของผู้คัดค้าน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
การที่อนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และ ที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น ทั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งโดยขอเพียงให้ผู้ร้องทั้งสามชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ผู้คัดค้านเป็นคําชี้ขาดที่เกินคําขอของผู้คัดค้าน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246