คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข่มขืนใจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 140 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานข่มขืนใจ ทำร้ายร่างกาย และความผิดตาม พ.ร.บ.อาญา มาตรา 309 ไม่สามารถระงับได้ด้วยการยอมความ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กลุ่มคนชมรม ค. กระทำความผิดในคดีนี้ โดยบรรยายครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละข้อหา จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว โดยหาจำต้องระบุตัวบุคคลผู้ถูกใช้หรือลงมือกระทำความผิดไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 ที่ได้กระทำโดยมีอาวุธและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามวรรคสอง ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 321 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น แม้จะได้ความว่าฝ่ายโจทก์ตกลงยอมความกับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้ตกลงให้ความผิดของจำเลยที่ 1 ระงับไปด้วย ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงหาระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13648/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ามนุษย์โดยการบังคับใช้แรงงาน: การกระทำต้องครบองค์ประกอบความผิด - ข่มขืนใจ, ใช้กำลัง, หรือทำให้ไม่อาจขัดขืนได้
แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากบ้านจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นับแต่วันแรกที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยครบ 7 เดือน จำเลยได้กระทำการใดอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยให้ผู้เสียหายทำงานตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึง 24 นาฬิกา ให้รับประทานอาหาร 2 มื้อ และไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนการทำงานเดือนที่ 8 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายมาจากผู้เสียหายทำงานไม่เรียบร้อยและพูดขอเงินค่าจ้างจากจำเลย อันเป็นการลงโทษผู้เสียหายเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8076/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมทำร้ายร่างกาย-ข่มขืนใจ: การกระทำเป็นหลายกรรมต่างกัน
การที่จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยพาอาวุธมีดติดตัวไป แม้จะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายด้วย และเป็นผู้ที่พูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานให้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกโดยตลอดในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไปพร้อมกันกับจำเลยที่ 1 และพวก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิด
ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังได้ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันพูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานออกให้ มิฉะนั้นจะฟันผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่มีเจตนาที่จะข่มขืนใจผู้เสียหายให้ส่งมอบเสื้อดังกล่าวให้ แต่หลังจากหยุดทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเกิดเจตนาข่มขืนใจผู้เสียหาย เจตนาข่มขืนใจดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขืนใจและมีอาวุธปืนโดยผิดกฎหมาย: การพิจารณาความผิดหลายกรรมต่างกันและการห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง
ขณะผู้เสียหายทั้งสองขับรถยนต์ซูบารุรับจ้างตามกันมาในซอยลาดพร้าว 127 เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยกับพวกออกมายืนขวางหน้ารถยนต์ผู้เสียหายที่ 1 พูดจาข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ลงจากรถยนต์พร้อมใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า จากนั้นจำเลยกับพวกไปที่หน้ารถยนต์ผู้เสียหายที่ 2 พูดข่มขู่และกระชากผู้เสียหายที่ 2 ให้ลงจากรถยนต์ ใช้อาวุธปืนจ่อที่เอวผู้เสียหายที่ 2 เช่นนี้ เป็นการกระทำคนละคราว และมีเจตนาแยกจากกันได้ แม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22714/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีข่มขืนใจ: การแจ้งความร้องทุกข์ของผู้ปกครองที่ไม่ชอบตามกฎหมาย
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งในความดูแลของ ค. บิดาผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้ ค. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 การที่ ค. ไปแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14536/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายอาญา มาตรา 309: การข่มขู่ด้วยอาวุธปืนไม่ถือเป็นการข่มขืนใจโดยมีอาวุธตามฟ้อง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 309 โดยไม่ได้ระบุวรรค เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามพูดข่มขู่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองให้ตายจนผู้เสียหายทั้งสองต้องย้ายที่พักอาศัยไปอยู่ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่สวนป่าบางขนุน แตกต่างจากที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสองโดยมีอาวุธก็ตาม ก็มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก จึงเป็นการปรับบทกฎหมายให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เท่านั้น และไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขืนใจเรียกทรัพย์ด้วยการแจ้งเท็จเรื่องการจับกุมและประกันตัว ไม่เข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์เนื่องจากขาดองค์ประกอบการขู่เข็ญ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อุบายข่มขืนใจ อ. ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้จำเลยกับพวกได้รับเงินจำนวน 80,000 บาท อันเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยจำเลยกับพวกขู่เข็ญ แจ้งเท็จแก่ อ. ว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจับไปโดยไม่ทราบข้อหา หากมีเงินสองแสนบาทจะเอาไปประกันตัวผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และบอกว่าจะช่วยเต็มที่ เป็นเหตุให้ อ. หลงเชื่อและเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียงของผู้เสียหายยอมมอบเงิน 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวก เห็นว่า การที่จำเลยบอกว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ย่อมไม่ใช่คำพูดที่เป็นการขู่เข็ญหรือข่มขู่ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ทั้งไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย คำบอกดังกล่าวบอกด้วยว่าหากมีเงินก็จะเอาไปประกันตัวผู้เสียหาย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าถ้าไม่มีเงินก็คงไม่ไปประกันตัวผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการตามกฎหมาย การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือเจ้าพนักงานตำรวจจะให้ประกันผู้ต้องหาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การข่มขู่หรือการขู่เข็ญ คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2708/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ vs. ข่มขืนใจโดยใช้กำลัง: การพิจารณาความผิดฐานปล้นทรัพย์
จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาทุจริตที่จะร่วมกันลักเงินของผู้เสียหาย เนื่องจากสนิทสนมกันเป็นญาติและเป็นเพื่อนกัน ทั้งเกิดความคึกคะนองตามประสาของวัยรุ่นและขณะนั้นก็นั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกันจนหมด จึงน่าจะช่วยกันออกเงินค่าสุราบ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พูดขอเงินหลายครั้งแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ให้ จึงได้ถือวิสาสะเข้าค้นตัวผู้เสียหายเพื่อค้นเอาเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่จับแขนขาของผู้เสียหายไว้แน่นเท่านั้น ไม่ได้ทำร้าย ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เข้ายึดแขนขาของผู้เสียหายเป็นเพียงการยึดตัวผู้เสียหายให้อยู่นิ่งเพื่อให้จำเลยที่ 1 ค้นตัวได้สะดวกเท่านั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายต้องจำยอมให้จำเลยทั้งสามค้นตัวและเอาเงินไป มิใช่ความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385-2387/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนใจ, หน่วงเหนี่ยว, บังคับให้ทำสัญญา, แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน, ความผิดฐานอาญา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขู่เพื่อเอาทรัพย์สินชั่วคราว ไม่เข้าข่ายชิงทรัพย์ แต่เป็นข่มขืนใจ
จำเลยรู้จักกับบุตรชายผู้เสียหายที่ 1 เจ้าของรถจักรยานยนต์ และผู้เสียหายที่ 2 มาก่อน ทั้งเคยประสบอุบัติเหตุได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง หากมีใครขัดใจจะแสดงอาการโวยวายคล้ายคนอารมณ์เสีย ก่อนนำรถจักรยานยนต์ไป จำเลยพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ 2 ครั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ให้ จำเลยพูดขู่บังคับเอารถจักรยานยนต์โดยขู่ว่าจะตบ ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวจึงให้รถจักรยานยนต์แก่จำเลยไป ดังนั้น การข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเพียงการแสดงลักษณะนิสัยจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะเอารถจักรยานยนต์นั้นไปเป็นของจำเลย
แม้จะได้ความว่าต่อมาจำเลยนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นยึดไว้เป็นประกันค่าอาหาร แต่ราคาอาหารไม่มากนัก เชื่อว่าจำเลยตั้งใจไถ่คืน จึงเป็นการบังคับเอาทรัพย์ผู้อื่นไปใช้ชั่วคราว ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก เท่านั้น
of 14