คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ยผิดนัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 125 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคล, การรับสภาพหนี้, และดอกเบี้ยผิดนัด
ตามสัญญาและเงื่อนไขที่ระบุในใบสมัครสินเชื่อส่วนบุคคล กำหนดว่า ผู้กู้ตกลงที่จะชำระคืนหนี้ต้นเงินกู้ ตามจํานวนที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนในวันที่ครบกําหนดชําระเงินซึ่งระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โดยผู้กู้จะเลือกชําระคืนต้นเงินกู้ขั้นต่ำในแต่ละเดือนเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือนหรือจํานวน 500 บาท แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่ากันและ/หรือในอัตราขั้นต่ำอื่น ๆ ที่ธนาคารประกาศกําหนดในแต่ละขณะตามจํานวนที่ธนาคารระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีก็ได้ ตามสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องชําระค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินโดยแบ่งชําระเป็นงวดรายเดือนในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือน ซึ่งสัญญาตามกําหนดให้จําเลยชําระเพียงจํานวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชําระ แม้ธนาคารจะนําไปหักชําระเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยบางส่วน แต่หากจําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามสัญญาและภายในกําหนดจําเลยต้องชําระเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอันเป็นข้อตกลงว่าจําเลยอาจชําระหนี้ในอัตราขั้นสูงเพียงใดก็ได้ และสัญญามิได้กําหนดให้จําเลยต้องผ่อนทุนคืนเป็นเวลากี่งวด สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลจึงไม่มีลักษณะผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ กรณีดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องที่มีกําหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อจําเลยทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า สัญญาฉบับนี้เป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องแห่งภาระหนี้ และการผ่อนปรนชําระหนี้ มิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันทําให้หนี้เดิมตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลระงับ จึงเป็นกรณีที่จําเลยรับสภาพหนี้ต่อธนาคารเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความสินเชื่อส่วนบุคคลตามมาตรา 193/15 เมื่อจําเลยผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 และเริ่มนับอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์นับแต่นั้นมา เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อธนาคาร ย. เจ้าหนี้เดิมทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีต่อจําเลยให้แก่โจทก์ จําเลยจึงต้องรับผิดในต้นเงินค้างชําระ ส่วนที่โจทก์ขอใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับจําเลยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราเดิมที่ธนาคารมีสิทธิคิดจากลูกหนี้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ณ วันที่ได้รับโอนสินทรัพย์มา ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิจากธนาคารเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ประกาศธนาคาร ย. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กํากับ ฉบับที่ 002/2559 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 ระบุอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ (ต่อปี) สําหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 28 โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ย ร้อยละ 28 ต่อปี โดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคาร ย. คิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดอัตราร้อยละ 26.5 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยผิดนัดเป็นการกําหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอํานาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 เห็นควรลดเบี้ยปรับลงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 27 ต่อปี นับแต่วันที่จําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้จนกว่าจะชําระเสร็จ แต่เมื่อจําเลยยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชําระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคําให้การ จึงกําหนดให้จําเลยรับผิดชําระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคม-หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ความรับผิดของสถานพยาบาล, และการคิดดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์เป็นสถานบริการเอกชน ในความหมายของกรมบัญชีกลางและไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แต่ให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาลโดยจะไม่ปฏิเสธให้การรักษาผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นนิติสัมพันธ์ในทางแพ่งว่าด้วยสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสองได้
พฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ดำเนินการย้ายจำเลยที่ 1 ไปรักษายังโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามความประสงค์ของจำเลยทั้งสองในวันที่ 11 เม.ย. 56 ซึ่งเป็นวันที่โรงพยาบาลดังกล่าวมีเตียงว่าง โดยมีเหตุผลเพียงว่า จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระค่ารักษาพยาบาลหรือทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจได้ใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 12 ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำเลยที่ 1 เฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 24 มี.ค. 56 ถึงวันที่ 11 เม.ย. 56 แก่โจทก์เท่านั้น
จำเลยร่วมทำหน้าที่เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง (Clearing House) สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สถานบริการนอกเครือข่าย 3 กองทุน ที่ให้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติโดยสถานบริการสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องตรวจสอบสิทธิก่อน โดยจำเลยร่วมจะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์และอัตราที่แต่ละกองทุนหรือหน่วยบริการต้นสังกัดกำหนด และจะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายคืนจากกองทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ป่วยต่อไป แต่นโยบายดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับหรือบังคับไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินส่วนเกินจากผู้ป่วยได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้อาศัยสิทธิจากกองทุนสวัสดิการข้าราชการ มิใช่ผู้ที่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อเลือกหน่วยบริการเป็นหน่วยบริการประจำตามกฎหมายที่กำหนด จึงไม่อาจนำข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้บริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2555 มาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยร่วมทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ 1 ไปตามแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุข ตามนโยบายบูรณาการ 3 กองทุน กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์อีกเนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
การประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 ไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะไม่ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสถานบริการนอกเครือข่ายบริการ 3 กองทุน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวมาให้จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดหรือรับผิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นแทนจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4777/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัด, การบังคับจำนอง, และผลกระทบจากพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ธนาคาร ก. เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยจึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เมื่อตามคำสั่งที่ 34/2539 เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดของธนาคาร ก. อันเป็นคำสั่งหรือประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญากู้และสัญญาจำนองฉบับพิพาทกำหนดอัตราดอกเบี้ยปกติไว้ร้อยละ 16.5 ต่อปี และอัตราผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขร้อยละ 19 ต่อปี การที่สัญญากู้และสัญญาจำนองฉบับพิพาทระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยและ พ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข ทั้งที่ในขณะนั้นจำเลยและ พ. ผู้เป็นลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใดจึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ก. อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ แม้ว่าความเป็นจริงแล้วโจทก์จะยังมิได้คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกา ก็หาเป็นผลให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้
โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย อันเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและจำเลยละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว โจทก์จึงจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดได้ โดยความในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้ใช้มาตรา 728 ที่แก้ไขเพิ่มเติมบังคับแก่การบังคับจำนองที่ทำขึ้นนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้จำนองภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้สั้นกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดจากการไม่คืนเงินสนับสนุนพรรคการเมือง และการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยตาม พ.ร.ก. 2564
แม้ก่อนหน้านี้โจทก์มีหนังสือให้พรรค ป. ส่งคืนเงินสนับสนุนตามโครงการและแผนงานประจำปี 2543 ที่เหลือจากการใช้จ่าย แต่มิได้รวมถึงเงินสนับสนุนประจำปี 2542 ที่โจทก์ฟ้องด้วย ทั้งมิได้ระบุจำนวนเงินที่ต้องคืนแต่อย่างใด และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ป. แล้วก็ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อสรุปจำนวนเงิน จึงยังไม่มีหนี้เป็นจำนวนแน่นอนที่พรรค ป. ต้องชำระ แต่เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าพรรค ป. และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 และ นาย ค. ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ป. คืนเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองประจำปี 2542 และ 2543 โดยกำหนดจำนวนเงินที่ต้องส่งคืนพร้อมดอกเบี้ยและกำหนดเวลาให้ชำระแล้ว จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 และ นาย ค. ไม่คืนภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันพ้นกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดและดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเกินบัญชี รวมถึงการบังคับจำนองและการรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การที่จะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 204 ซึ่งหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือ ให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 แต่วันที่สัญญาเลิกกัน ก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้คงเหลือ โดยต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดลงวันที่ 10 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอย - การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
แผ่นพับโครงการของจำเลยเป็นการโฆษณาโครงการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยเพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป จะมีแผนผังโครงการ แสดงภาพจำลองโครงการและทางพิพาทเข้าออกโครงการ ทางพิพาทมีรูปต้นไม้เป็นแนวยาวข้างทาง ลักษณะเป็นถนนเข้าออกโครงการ และตามภาพถ่ายแสดงให้เห็นการสร้างป้อมยามรักษาความปลอดภัยถนนเข้าโครงการ ซึ่งจำเลยก็รับว่าจำเลยปรับถมดินก่อสร้างถนนเข้าออกระหว่างโครงการกับถนนราษฎร์บูรณะ ปลูกต้นไม้ตลอดแนวถนน ก่อสร้างป้อมยามรักษาความปลอดภัยบริเวณด้านหน้าถนนเข้าโครงการและขึ้นป้ายโฆษณาให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมโครงการ ทางพิพาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ดังนั้น แผ่นพับโครงการของจำเลยเป็นการโฆษณาของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้จะซื้อห้องชุดซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยว่า จำเลยจะมอบทางพิพาทเป็นถนนเข้าออกโครงการอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันให้ผู้จะซื้อห้องชุดเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้จะซื้อเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย จึงถือว่าแผ่นพับโฆษณาโครงการของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระหว่างผู้จะซื้อห้องชุดกับจำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11
แต่เมื่อพื้นที่โครงการอยู่ในเขตผังเมืองประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางที่ดินประเภท ย.6 (สีส้ม) จำเลยจึงต้องยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์และแก้ไขแผนผังโครงการใหม่ จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ย่อมจะมีความรู้ความชำนาญในการประกอบธุรกิจจำต้องศึกษาและตรวจสอบข้อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้องเสียก่อนที่จะดำเนินการโฆษณาและก่อสร้างอาคารชุด การที่จำเลยโฆษณาขายอาคารชุดก่อนการดำเนินการดังกล่าว ถือได้ว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จำเลยหลอกลวงปิดบังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นถนนในพื้นที่โครงการอันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ส่วนที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมีข้อสัญญาว่า ผู้จะขายสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังโครงการ...ทรัพย์ส่วนกลางได้ตามความเหมาะสม โดยผู้จะซื้อตกลงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาของผู้จะขายแต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ภายหลังจากมีผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังของโครงการที่เกินสมควรและไม่เป็นธรรมต่อผู้จะซื้อห้องชุดกับจำเลยที่หวังจะได้ทางพิพาทเป็นพื้นที่ในโครงการเป็นทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้อาศัยในอาคารชุด จำเลยจึงไม่อาจยกข้อสัญญาดังกล่าวขึ้นอ้างปฏิเสธความรับผิดของจำเลยได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับโจทก์ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยก่อนที่จำเลยปรับเปลี่ยนแผนผังโครงการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชดใช้ค่าเสียหาย: ผลกระทบจาก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. 2564 และการปรับอัตราดอกเบี้ย
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ใหม่ ที่อาจปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและบวกด้วยอัตราเพิ่มดังกล่าว แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของชำรุดบกพร่อง & การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบัญญัติหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และ พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. นี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับไว้นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ต่อมาจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินคืน และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกคืนเงินสำรองและค่าเสียหาย จึงมีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ กรณีต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ โดยจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเท่ากับร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. นี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2582/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าโดยเจตนา แต่มีเหตุบรรเทาโทษทางอาญาจากบันดาลโทสะ และประเด็นดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทซื้อขายที่ดินพร้อมบ้าน และการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ก็ปรากฏว่ามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
of 13