คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดูหมิ่น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 115 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่นผู้อื่น: การใช้คำว่า 'ตอแหล' เป็นการดูถูกเหยียดหยาม และประเด็นการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายการวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า "ตอแหล" ว่า เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหาย จึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393
การที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นหมิ่นประมาทและเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันว่าส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่จึงมิใช่ประเด็นแห่งคดี เมื่อจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นแห่งคดีและโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้นั้นจำต้องกระทำการนั้น เพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 200 บาท ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหายนั้น มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรและมีการตามเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยตกอยู่ในสภาวะคับขันนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้เป็นการอ้างข้อเท้จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาเพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่น vs. หมิ่นประมาท: การวินิจฉัยความผิดฐานดูหมิ่นและการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่า เป็นการด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ จึงมิใช่ประเด็นแห่งคดี การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดของจำเลย จึงมิใช่การอุทธรณ์ในประเด็นแห่งคดีและโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ ผู้นั้นจำต้องกระทำการนั้นเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 200 บาท ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่เพียงว่า เหตุที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหาย เนื่องจากเข้าใจว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งในเรื่องการขอสำเนาเอกสาร กับถูกผู้เสียหายกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย มิใช่เกิดเนื่องจากการที่ผู้เสียหายได้กระทำการตามหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหายนั้น มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และมีการตามเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยอยู่ในสภาวะคับขันนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา เพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความความผิดดูหมิ่น + อำนาจศาลพิพากษาจำเลยที่ไม่ได้ฎีกา
ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้ความผิดฐานดังกล่าวจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มรตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่นผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิจารณาจากความหมายคำและความรู้สึกของบุคคลทั่วไป
การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3851/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่นผู้อื่นและการเปลี่ยนแปลงฐานะหน่วยงาน: ผลกระทบต่อความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 โดยมาตรา 5 วรรคสอง ให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ดังนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงเป็นองค์การมหาชนที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่ส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรมของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไปไม่ และตาม ป.อ. มาตรา 1 (16) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนี้ เมื่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลข่าวสารก็หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ ผู้เสียหายจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น แม้จำเลยจะดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหายในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 (เดิม) แล้ว ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 12